สั่งปิดมหาวิทยาลัย-งดสอนในชั้น สอน-ส่งงานออนไลน์ป้องกันโควิด-19

สั่งปิดมหาวิทยาลัย-งดสอนในชั้น สอน-ส่งงานออนไลน์ป้องกันโควิด-19

การระบาดของโรคโควิด - 19 ทำให้หลายมหาวิทยาลัยต้องออกมาตรการ งดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย แล้วจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ เพื่อไม่ต้องให้นิสิตนักศึกษาเดินทางมาเรียน หรือต้องมารวมกลุ่มกัน

“การหยุดเรียน ปิดสถานศึกษา” เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ด้วยความไม่แสดงอาการของผู้ติดเชื้อ หรือผู้สัมผัส รวมถึงไม่ได้กักตัวเองตามการคำแนะนำการปฏิบัติตัวของการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในกลุ่มคนหมู่มาก แม้จะใกล้ช่วงเปิดเทอมของนักเรียน นิสิตนักศึกษา แต่ก็มีสถานศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยหลายแห่งทยอยงดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย แล้วจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ เพื่อไม่ต้องให้นิสิตนักศึกษาเดินทางมาเรียน หรือต้องมารวมกลุ่มกัน

เริ่มด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการและคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19)(ฉบับที่ 6) มีข้อความตอนหนึ่งว่า การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะการแพร่ระบาดใหญ่ระดับโลก (Pandemic) ขณะเดียวกันได้ตรวจพบมีนักศึกษาของมธ.จำนวนหนึ่งเคยไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยง แม้ว่าจะมีการกักตัวตามมาตรการการควบคุมโรคแล้ว เพื่อเป็นการป้องการแพร่ระบาด ลดความแออัดและโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ได้ให้มีการงดการเรียนการสอนในมธ.ท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิต

ระหว่างวันที่ 16-22 มีนาคม พ.ศ.2563 และให้เปิดการเรียนการสอนอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2563 หรือจนกว่าจะมีการประกาศเป็นอย่างอื่น โดยคณะต่าง ๆ เตรียมระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์และดำเนินการให้สามารถเปิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2563

ขณะที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้ประกาศหยุดการเรียนการสอนที่ บางเขน 16 - 22 มีนาคม 2563 และเปิดเรียนตามปกติ 23 มีนาคม 2563 เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยของนิสิต บุคลากร และคณาจารย์ เพื่อลดภาวะความเสี่ยงของการระบาดโรค โดยมหาวิทยาลัยจะมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดอาคารและสถานที่ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยตามมาตรฐานของสธ. นอกจากนั้นในมหาวิทยาลัยได้มีการจัดเตรียมระบบการสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์และการทำงานแบบออนไลน์ ไว้รองรับนิสิต คณาจารย์และบุคลากรไว้เรียบร้อยแล้ว

ต่อด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) ได้มีการออกประกาศมาตรการ หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) รายที่ 1 โดยขณะนี้ได้มีการให้คณะนิติศาสตร์ปิดทำการเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ตั้งแต่ 16-22 มีนาคม 2563 เพื่อฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและทำความสะอาดตามมาตรฐานทางสาธารณสุข และได้มีการสอบสวนวงจรการแพร่กระจายเชื้อ โดยบุคลากร ผู้สัมผัสใกล้ชิด ทั้งคณาจารย์ นิสิต เจ้าหน้าที่ของคณะนิติศาสตร์ และสมาชิกในครอบครัวเข้ารับการคัดกรอง และให้หยุดกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งไม่ถือเป็นวันลา และหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมทางมหาวิทยาลัยยินดีรับผิดชอบทั้งหมด

ส่วน มหาวิทยาลัยศรีปทุม (ศรีปทุม) ได้มีการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยปิดทำการม.ศรีปทุม บางเขน ตั้งแต่วันที่ 15 -20 มีนาคม 2563 เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทั้งภายในและภายนอกอาคารสถานที่ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆภายในมหาวิทยาลัย โดยบุคลากรปฏิบัติงานจากที่บ้าน จะมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 ซึ่งนักศึกษาไม่ต้องเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัย

เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ที่ได้มีการระงับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย วิทยาเขตศาลายา ซึ่งมีนักศึกษาจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาติดเชื้อโควิด-19 ทางมหาวิทยาลัยจึงได้มีการหยุดการเรียนการสอน ในส่วนของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ระหว่างวันที่ 14-22 มีนาคม 2563 และได้จัดการเรียนการสอนออนไลน์หรือดำเนินการเรียนการสอนเพิ่มเติมในภายหลัง พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยได้ประกาศหยุดเรียนวิทยาเขตศาลายา ระหว่างวันที่ 16-20 มีนาคม 2563 สำหรับส่วนที่มีความพร้อมให้การดำเนินงานจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้

ที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) ได้มีการจัดทำข้อเสนอการแก้ไขการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในสถาบันอุดมศึกษา โดยระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ขณะนี้ และมีมหาวิทยาลัยบางแห่งสร้างระบบป้องกันล่วงหน้าไว้แล้วอย่างดี เช่น ให้มีการเรียนการสอนผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นต้น แต่ยังเป็นการดำเนินการเป็นรายเฉพาะเท่านั้น ยังไม่ได้เกิดขึ้นในวงกว้างทั่วทุกสถาบัน ซึ่งข้อเท็จจริงทางระบาดวิทยาบ่งบอกชัดแจ้งแล้วว่าการระบาดครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้คนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ ทปสท.จึงขอนำเสนอและเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเพิ่มมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดที่รัดกุมและครอบคลุมครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับ และมหาวิทยาลัยเอกชน ขอให้เพิ่มมาตรการการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้กับนักศึกษา ตลอดจนหลีกเลี่ยงการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย

โดยปรับระบบวิธีการทำงานให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยทำงานผ่านระบบออนไลน์เป็นหลักในที่พักของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางและการรวมกลุ่มกันในสถาบันอุดมศึกษา หากมีภารกิจที่ต้องมาปฏิบัติงานในสถานที่ทำงาน ให้ดำเนินการเป็นกรณีเฉพาะเป็นครั้ง ๆ ไป อาทิ การประชุมคณะกรรมการ ฯลฯ เพื่อลดการพบปะกันเป็นหมู่คณะให้มากที่สุด

158436501511

ตบท้ายด้วมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) ได้ออกประกาศหยุดการเรียนการสอน 13-16 มีนาคม 2563 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)ประกาศหยุดการเรียนการสอน 16 มีนาคม – 19 เมษายน 2563 โดยจะใช้การเปิดสอนผ่านทางระบบออนไลน์ทดแทน และมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) จะเปิดสอนผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 11 พฤษภาคม 2563

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกาศ ยกเลิกการเรียนการสอนในห้องเรียน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 และจะจัดการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ รวมถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)งดการเรียนการสอนในชั้นเรียนของทุกรายวิชาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2563

ทั้งนี้ ขอให้อาจารย์ผู้สอนทำการสอนชดเชยโดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ตามความเหมาะสม และยกเลิกการจัดสอบกลางภาคโดยส่วนทะเบียนและประมวลผล ระหว่างวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม ถึงวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 โดยให้อาจารย์ผู้สอนและ/หรืออาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาพิจารณาดำเนินการปรับเปลี่ยนวิธีการวัดและประเมินผลตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายในวงกว้าง ส่งผลให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ งดการเรียนการสอนในชั้นเรียนและจัดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือมีมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนการสอนของนิสิตนักศึกษา และเพื่อป้องกันโควิด-19

  • เปิด4ข้อดีสอนออนไลน์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE)เริ่มใช้ระบบการสอนแบบออนไลน์ ในรายวิชาต่างๆ แก่นักศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องมารวมตัวอยู่ในสถานที่ ทดแทนห้องเรียนในช่วงวิกฤต เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของCOVID-19 โดยกำหนดเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่16มีนาคม2563เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในระยะเวลาที่เหลือ ของการเรียนการสอนในภาคการศึกษาปัจจุบัน 

โดยข้อดีของ ‘ห้องเรียนออนไลน์’ คือสามารถสอนแบบเรียลไทม์ผู้สอนสามารถสตรีมมิ่งไฟล์เนื้อหาที่ต้องการ เปิดให้นักศึกษาดูได้แบบเรียลไทม์นักศึกษาสนุกกับการถาม-ตอบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลายแก่นักศึกษา และกล้าซักถามประเด็นที่ยังไม่เข้าใจมากขึ้น หลังจากสอนเสร็จนักศึกษาสามารถดูย้อนกี่รอบก็ได้จากวิดีโอที่ได้รับการบันทึกไว้บนหน้าไทม์ไลน์โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังสามารถส่งไฟล์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในระบบห้องเรียนออนไลน์ได้

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19ที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศไทยต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองอยู่นั้น ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตระหนักถึงความปลอดภัยของนักศึกษาและบุคลากรเป็นที่ตั้ง จึงได้ออกมาตรการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของCOVID-19ด้วยการปรับรูปแบบการเรียนการสอนไปสู่‘ห้องเรียนออนไลน์’โดยกำหนดให้คณาจารย์TSEทุกคนทำการสอนวิชาบรรยายทั้งหมด ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลตั้งแต่วันจันทร์ที่16มีนาคม2563เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

158436512070

ทั้งนี้การปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ไปอยู่บนสื่อออนไลน์ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับบุคลากรจำนวนมาก ดังนั้น ทางTSEได้จัดทีมทำงานเพื่อแนะแนวทางให้บุคลากรสามารถสอนรายวิชาต่างๆ ให้กับนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยไม่จำเป็นต้องมารวมตัวอยู่ในสถานที่เดียวกัน 

สำหรับการใช้ ‘ห้องเรียนออนไลน์’ แทนห้องเรียนนั้น นับว่ามีข้อดีจำนวนมาก 1.สามารถสอนแบบเรียลไทม์ผู้สอนสามารถสตรีมมิ่งไฟล์เนื้อหาที่ต้องการเปิดให้นักศึกษาดูได้แบบเรียลไทม์ ผ่านฟังก์ชัน‘เฟซบุ๊ก ไลฟ์’ขอเพียงมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตก็เริ่มทำการไลฟ์ได้ทันที2.นักศึกษาสนุกกับการถาม-ตอบในการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ จะสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายแก่นักศึกษามากขึ้น ส่งผลให้มีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้นผ่านการพูดหรือพิมพ์ข้อความ (Comment)3.สามารถดูย้อนหลังกี่รอบก็ได้เมื่อจบการไลฟ์ ระบบจะทำการบันทึกวิดีโอเก็บไว้บนหน้าไทม์ไลน์โดยอัตโนมัติ นักศึกษาจึงสามารถเข้าไปย้อนดูเนื้อหาที่เรียนย้อนหลังได้ หากไม่เข้าใจจุดไหน ก็สามารถเลือกดูเฉพาะช่วงเวลาได้ และ4.สามารถส่งงานระหว่างผู้สอน-ผู้เรียนได้สะดวกไม่ว่านักศึกษาจะมีคำถาม หรือจะส่งงานให้อาจารย์ตรวจก็เป็นเรื่องง่าย

158436501538

นอกจากนี้ ทาง TSE ยังได้ประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นๆ มาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์จำนวนมาก อาทิ เฟซบุ๊ก กรุ๊ป(Facebook Group)เฟซบุ๊ก ไลฟ์(Facebook Live)แฮงก์เอาท์ (Hangouts) และZoom Microsoft Teamsทั้งนี้ สำหรับบุคลากรทางการศึกษาที่สนใจ สามารถเข้าไปดูวิดีโอแนะนำการใช้งานได้ที่ ยูทูป แชลแนล (YouTube Channel)ของTSEhttps://www.youtube.com/channel/UCUUdPglY16NxQnttIGM2xpw