สช.ออกแนวปฎิบัติโรงเรียนเอกชนช่วงปิดเรียนป้องกันโควิด-19

สช.ออกแนวปฎิบัติโรงเรียนเอกชนช่วงปิดเรียนป้องกันโควิด-19

สช.ออกแนวปฏิบัติกำหนดโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ โรงเรียนนานาชาติช่วงปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ป้องกันโควิด-19 ย้ำต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด

วันนี้(18 มี.ค. 2563) นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ ศธ 0211.1/2232 กำหนดแนวปฏิบัติของโรงเรียนเอกชนในระหว่างประกาศให้ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) 

โดยให้ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนทุกประเภทปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 และประกาศกระทรวง
ศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสักัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม พศ.2563 สช. จึงกำหนด แนวปฏิบัติให้โรงเรียนเอกชน ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 

โรงเรียนเอกชนในระบบ ประเภทสามัญศึกษา

1.ให้โรงเรียนวางแผนการสอนซ่อมเสริมให้กับนักเรียนโดยใช้ระบบออนไลน์ ระบบSocial Network หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และรายงานให้ สช.ทราบทาง E-mail : [email protected]

2.ให้โรงเรียนประสานงานระหว่างโรงเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบออนไลน์

3.ให้โรงเรียนแนะนำให้นักเรียนและครู เรียนรู้ผ่านศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัลของ สช. (OPEC Digital Learning Center : ODLC) ผ่านเว็บไซต์ สช. URL: od[copec.go.th ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

4.โรงเรียนใดที่มีการเรียนผ่านระบบออนไลน์อยู่แล้ว และพร้อมที่จะให้เผยแพร่ เพื่อให้โรงเรียนอื่นร่วมใช้ได้ ขอให้รายงาน สช.ทราบโดยเร่งด่วนทาง E-mail : [email protected] เพื่อดำเนินการนำมาเผยแพร่ต่อไป 

5.หากโรงเรียนใดที่ผลิตสื่อในระบบดิจิทัลของ สช. ขอความร่วมมือนำมาเผยแพร่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางวิชาการให้แกโรงเรียนอื่นด้วย 

6.โรงเรียนใดที่อยู่ระหว่างดำเนินการรับสมัครสอบคัดเลือก หรือการรายงานตัวนักเรียนและไม่ได้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการ ให้เลื่อนกำหนดการไปก่อน จนกว่า สช.จะแจ้งให้ทราบ
         

ในส่วนของโรงเรียนเอกชนในระบบ ประเภทนานาชาติ

 1.ให้โรงเรียนนานาชาติวางแผนการดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบออนไลน์ ระบบ Social Network หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และรายงานให้ สช.ทาง E-mail : [email protected]

2.ให้โรงเรียนนานาชาติทุกแห่งมีการประสานงานระหว่างโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบออนไลน์

3.ให้โรงเรียนสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับวิธีการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึง

4.ให้โรงเรียนนานาชาติทุกแห่งตรวจสอบข้อมูลระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตของนักเรียนและครูชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่ออายวีซ่าและรายงานให้ สช.ทราบ

5.ในกรณีที่โรงเรียนนานาชาติมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรมในลักษณะการประชุมปรึกษาหารือเพื่อเตรียมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ให้จัดที่นั่งหงกันอย่างน้อย 1 เมตร และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดทั้งลดความเสี่ยงการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด 

6.โรงเรียนใดที่อยู่ระหว่างดำเนินการรับสมัครสอบคัดเลือก หรือการรายงานตัวนักเรียน และไม่ใด้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการ ให้เลื่อนกำหนดการไปก่อน จนกว่าสช.จะแจ้งให้ทราบ             

สำหรับโรงเรียนเอกชนนอกระบบ มีดังนี้

1.ให้โรงเรียนนอกระบบแต่ละแห่พิจารณาหลักสูตรที่ได้รับอนุญาตให้เปิดสอน เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนจากที่ต้องให้ผู้เรียนเข้าชั้นเรียน เป็นใช้ระบบออนไลน์ ระบบ Social Network หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทน หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นระบบดังกล่าวได้ให้เลื่อนกำหนดการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ต้องให้ผู้เรียนเข้าชั้นเรียนออกไปก่อน จนกว่า สช.จะได้แจ้งเปลี่ยนแปลง

2.ให้โรงเรียนสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับวิธีการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวให้กับผู้เรียนทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึง

3.ให้โรงเรียนนอกระบบทุกแห่งตรวจสอบข้อมูลระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตของผู้เรียนและผู้สอนชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และรายงานผู้อนุญาต เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่ออายุวีซ่าต่อไป

4.โรงเรียนใดที่อยู่ระหว่างดำเนินการรับสมัครสอบคัดเลือก หรือการรายงานตัวผู้เรียนและไม่ได้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการ ให้เลื่อนกำหนดการไปก่อน จนกว่า สช.จะแจ้งให้ทราบ ทั้งนี้แนวปฎิบัตินี้ให้ถือปฎิบัติตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป