แพทย์ขออย่าตกใจ ยอดผู้ป่วยเพิ่ม เป็นเพราะ 'ระยะของโรค'
สธ.ป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่กทม. เตรียมเปิดโรงแรมบางกอกพาเลซ รองรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก แพทย์ชี้ ช่วงนี้ยอดผู้ป่วยเพิ่มเพราะระยะของโรคอย่าได้ตกใจ หากประชาชนให้ความร่วมมือ Social Distancing คาดดีขึ้นใน 7 วัน
วันนี้ (21 มีนาคม) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยมีคณะอาจารย์แพทยศาสตร์ นำโดย นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากหลายสถาบัน รวมถึงนายกสมาคมราชวิทยาลัยทางการแพทย์ ร่วมประชุม ที่กระทรวงสาธารณสุข ถึงการเตรียมพร้อมสถานการณ์โควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นองค์กรหลักที่จะประสานงานกับทุกภาคส่วนโดย
ในส่วนของ กทม. ที่เป็นแหล่งใหญ่ พบผู้ป่วยยืนยันมากที่สุด 80% ของผู้ป่วยทั่วประเทศ การให้การดูแลรักษา ป้องกัน บริการ ผู้ป่วย จึงต้องเน้นในพื้นที่ กทม.เป็นพิเศษ หากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สถานการณ์ทั่วประเทศ จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
สำหรับการปิด กทม. ไม่ได้ปิดเมือง แต่ปิดผู้ป่วยไม่ให้เดินทาง เพราะต่างจังหวัดถือเป็นเคสที่รับเชื้อจากกทม. เหมือนกทม. รับเชื้อจากต่างประเทศ จึงต้องใช้มาตรการซีลพื้นที่ให้มากที่สุด รวมถึงปรับพฤติกรรม
นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า ทุกคนในประเทศจะต้องเข้าใจ Social Distacing ในการปรับพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อให้ทุกคน ไม่มีโอกาสได้รับเชื้อ เพราะเชื้ออยู่ในตัวคนแต่ละคน ทุกหน่วยงานจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ในการต่อสู้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ขอให้มั่นใจ เรื่องของการรักษาพร้อมแล้ว ทั้งเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ แต่สิ่งที่ต้องขอคือความร่วมมือ หมอคนเดียวสู้ไม่ไหว รัฐบาลพยายามปิดสถานที่ต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อ การเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ โดยการให้ข้อจำกัด
“หากตอนนี้ยังไปเที่ยวกันอยู่ ผับปิดก็ไปกินเหล้าที่ร้านอาหาร ทำงานที่บ้านก็ยังไปเดินห้างอยู่ หากยังเป็นอย่างนี้ ก็เหมือนเกมไล่จับหนู และคนที่ติดเชื้อก็คือคนที่อยู่ใกล้ตัวท่าน ยอดจะทวีคูณไปเรื่อยๆ แทนที่จะต้องดูแลคนป่วย แต่ต้องมาคอยใช้มาตรการต่างๆ ขอให้อยู่กันแบบนี้ 2-3 อาทิตย์ ด้วยวินัย โรคจะหายไปจากเมืองไทยแน่นอน” นายอนุทิน กล่าว
- เตรียมรร.บางกอกพาเลซ รองรับผู้ป่วย
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วันนี้ท่ามกลางการวิกฤตเรามีโอกาส เพราะที่มาประชุมวันนี้ เป็นทีมงานที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในประเทศ ทั้งหมดต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว และรู้ว่าขณะนี้ใครกำลังทำอะไร หากเกิดเหตุการณ์ต้องเริ่มจากป้องกันควบคุม รักษา เราเชื่อว่าเราเดินมาถูกทาง และค่อยๆ กระชับในสิ่งที่สถานการณ์กำลังเป็นไป ไม่ได้ตามหลัง เพื่อให้สิ่งที่พวกเราทำอยู่ไม่สูญเปล่า ขอให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดโรค เป็นการรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องทำด้วยความเต็มใจ และคอยดูเพื่อนๆ ด้วยว่าหากไม่ทำเราต้องเตือนเพื่อน เพื่อหยุดการแพร่เชื้อ
“ตอนนี้เชื้อได้แพร่ออกไปพอสมควร หลายคนที่อยู่ในกลุ่มที่ติดเชื้อต้องรับผิดชอบ รายงานตัว แจ้งให้ทราบ อย่าปกปิด เพราะจะเกิดเหตุร้ายกับคนรอบข้างและผู้รักษาพยาบาล”
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคนที่ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการหนัก ไม่ใช่อยู่ที่โรงพยาบาลหมด เพราะไม่มีโรงพยาบาลไหนรับได้ทั้งหมด แต่ มีการจัดสรรในที่เหมาะสม ล่าสุด ได้ใช้พื้นที่โรงแรมบางกอกพาเลซ จำนวน 350 ห้อง ตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป เพื่อคลายความหนาแน่นในโรงพยาบล ทำให้มีจำนวนเพียงพอที่จะรองรับ
“ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ต้องเข้าไอซียู จากการประมาณการณ์เครื่องช่วยหายใจเพียงพอ ขณะนี้หากเราช่วยกันเต็มที่เรายืนยันว่าเราดูแลประชชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยได้แน่นอน แต่ประชาชนต้องช่วยด้วย ต้องดำเนินการตามมาตรการ Social Distancing เพราะหากไม่ทำ กี่โรงพยาบลก็รับไม่ไหว ยังไงก็ต้องลำบาก และเจ็บปวดทุกคน”
- ปชช.ร่วมมือ คาดดีขึ้นใน 7 วัน
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวเสริมว่า ตัวเลขนี้จะยังไม่ลดลงภายในระยะเวลา 3 – 4 วัน เพราะเป็นเทรนด์ที่มาแล้วต้องขึ้น แต่อยู่ที่กระบวนการที่กำลังทำ และประชาชนต่างหาก ที่จะทำให้ตัวเลขที่กำลังขึ้นเบนออกได้ หากร่วมมือกันจริงจัง ร่วมกันทำ Social Distancing สำคัญมาก กระบวนการดูแลรักษาปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างเตรียมพร้อม ประชาชนต้องมีวินัย ต้องช่วยกันดูแลตัวเองและผู้อื่นด้วย ประเทศไทยถึงจะอยู่รอดได้
"เทรนด์นี้จะขึ้นแค่ไม่กี่วัน อย่าได้ตกใจ แต่ถ้าร่วมกันเต็มที่ จะเริ่มลดลงน่าจะเห็นผลภายใน 7 วัน"