'อธิบดีกรมอนามัย' ห่วงปชช. กลับภูมิลำเนา แนะกักตัวอยู่บ้าน-ลดแพร่โรค
"อธิบดีกรมอนามัย" ห่วงประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา แนะกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน แยกตัว รักษาระยะห่าง หมั่นสังเกตอาการ เพื่อลดวงจรการขยายของโรค ขณะที่ "สถาบันเวชศาสตร์" แนะแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายโรคโควิด-19 สู่ผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.63 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แสดงความห่วงใยกรณีประชาชนที่เดินทางไปต่างจังหวัดว่า การเคลื่อนย้ายไปมา ทำให้มีโอกาสที่มีการกระจายเชื้อ ดังนั้น ตอนนี้อยู่กับที่ได้ดีที่สุด รักษาระยะห่างของการเดินทางดีที่สุด จึงอยากจะแนะนำว่า หากมีการเคลื่อนย้าย เช่น อยู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร แล้วเดินทางกลับภูมิลำเนา ให้พยายามแยกตัวเองอย่างเคร่งครัด สังเกตอาการไว้ก่อน ขอให้เข้มงวดในการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่าเพิ่งไปไหนมาไหน หมั่นสังเกตอาการ และพยายามแยกตัวเองกับคนในครอบครัว ให้มั่นใจก่อนว่าไม่มีอาการ และให้มั่นใจว่าเราจะไม่เอาเชื้อข้ามไปอีกถิ่นหนึ่ง
“เข้าใจว่าบางคนจำเป็นต้องกลับ แต่ระหว่างเดินทางก็ขอให้ปกป้องตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เมื่อถึงบ้านก็พยายามแยกห่างจากคนในครอบครัวและชุมชนประมาณ 14 วัน หากไม่มีอาการอะไรหลังจาก 14 วัน ก็สามารถใช้ชีวิตปกติกับครอบครัวได้”
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อไปว่า ในวันที่เดินทางเราอาจจะไม่แสดงอาการ เราอาจจะยังไม่รู้ว่าติดเชื้อ ถ้าวันแรกไปถึงสัมผัสคนในครอบครัวไปแล้ว พอสักวันที่ 4 เกิดไม่สบาย คราวนี้วงที่เราจะต้องควบคุมโรคจะขยายวงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น หากทุกคนหยุด คนที่มีโรคก็จะไม่เคลื่อนย้าย คนที่ไม่มีโรคก็จะลดการสัมผัสกับคนที่มีโรค แม้วันนี้จะเป็นวันที่เราจะต้องพยายามรักษาระยะห่าง แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ที่เกิดการเดินทางเกิดขึ้น ซึ่งคล้ายกับตอนที่คนไทยกลับมาจากต่างประเทศ จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ อยากจะขอความร่วมมือตรงจุดนี้ จะสามารถช่วยได้มาก
ด้าน สถาบันเวชศาสตร์ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ แนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายโรค COVID-19 สู่ผู้สูงอายุจากแรงงานที่ทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล กลับภูมิลำเนา โดยระบุว่า เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในชุมชนเป็นวงกว้าง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเชื้อดังกล่าวติดต่อได้ทางละอองฝอยของสารคัดหลั่ง เช่นน้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอจามในระยะ 1-1.5 เมตร หรือการพูดคุยใกล้ชิด การสัมผัสสารคัดหลั่งที่อยู่ตามสิ่งของต่างๆ แล้วไปโดนเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา จมูก ปาก ประกอบกับการแพร่เชื้อสามารถติดต่อจากผู้ที่ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการได้ โดยหากมีการติดเชื้อในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงรวมถึงผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป
จากการเดินทางกลับของแรงงานที่ทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล กลับสู่ภูมิลำเนาพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัดระหว่างรอเดินทางและระหว่างเดินทาง โดยพบว่าผู้เดินทางจำนวนมากไม่ได้มีการป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้เดินทางและนำไปแพร่กระจายในพื้นที่ปลายทาง และ สู่ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ทางกรมการแพทย์จึงได้จัดทำข้อแนะนำในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในกรณีดังกล่าวดังนี้
1. ผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุกรายแยกตัวออกจากผู้อื่นเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน โดยระหว่างนั้นให้ปฏิบัติดังนี้ เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำสระผมทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที , ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร , แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับคนอื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันกับคนอื่น ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากมีการมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเองไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และ รักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร , สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย , ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ร่วมกัน
2. กรุณาไปพบแพทย์โดยเร็วเมื่อรู้สึกมีไข้ตัวร้อน ร่วมกับมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก โดยสวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้าไปด้วย