คุณภาพชีวิต-สังคม
‘อุณหภูมิร่างกายปกติ’ ควรอยู่ที่เท่าไหร่ รู้ทัน ‘โควิด’
เช็คให้ชัวร์ “อุณหภูมิร่างกายปกติ” ของคนเราควรอยู่ระดับไหน ยิ่งในช่วงวิกฤติ “โควิด-19” อาการอะไรที่บ่งชี้ว่า เรากำลังผิดปกติ และได้เวลาไปหาหมอ
อุณหภูมิร่างกาย ถือเป็นอีกเรื่องที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เมืองไทยกำลังตกอยู่ในระยะระบาดของ “โควิด-19” อยู่ในขณะนี้ อาการตัวเย็นตัวร้อน หรือมีไข้นั้นก็กลายเป็นอีกปัจจัยที่ผู้คนให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะถือเป็นอาการบ่งชี้ขั้นต้นของการเจ็บอ่วยของเรานั่นเอง
โดยทั่วไป เรามักคุ้นชินกับคำว่า อุณหภูมิร่างกายปกติ จะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส หรืออาจจะแตกต่างจากนี้เล็กน้อยแล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคน แต่ความเป็นจริงนั้น เรื่องของอุณหภูมิร่างกายมีรายละเอียดที่สลับซับซ้อนกว่าที่เราคิด อย่างการเปลี่ยนแปลงของความร้อนในร่างกายก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเรานั้นจะป่วย หรือมีไข้เสมอไป
ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า โดยทั่วไป อุณหภูมิร่างกายปกติ คนเรานั้นไม่ได้คงที่ตลอดเวลา แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแต่ละช่วงของวัน
อ่านเพิ่มเติม : 'อุณหภูมิร่างกาย' แค่ไหนคือปกติ แล้ววัดไข้ยังไงให้ชัวร์?
โดยเฉพาะในช่วง 15.00 – 17.00 น. อุณหภูมิมักจะสูงสุด และจะค่อยๆ ลดลงจนต่ำสุดในเวลา 23.00 – 01.00 น. และจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเช่นนี้ทุกวัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายเช่นนี้ สังเกตเห็นได้ชัดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
นอกจากนั้น โดยปกติของร่างกาย อุณหภูมิตอนเช้าจะต่ำกว่าอุณหภูมิตอนบ่าย หรือเย็น อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ หรือการออกกำลังการ และระดับของฮอร์โมนในร่างกายอีกด้วย
ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย อยู่ที่สมองส่วนฮัยโปธาลามัส มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิรับสัญญาณจากบริเวณต่างๆ ของร่างกาย และคอยควบคุมให้ร่างกายเก็บความร้อน สร้างความร้อน เพิ่มหรือลดความร้อน โดยถ่ายเทความออกไปมากขึ้น
การเกิดไข้นั้น อาจมาจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย หรือเกิดขึ้นภายในร่างกายเอง โดยจะเกิดปฏิกิริยาภายในและเกิดสารที่ออก ฤทธิ์บริเวณสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิ และส่งสัญญาณมาทางระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว ส่ง ผลต่อเนื่องให้การระบายความร้อนในร่างกายออกทางผิวหนังลดลง
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ อุณหภูมิร่างกาย มีอยู่หลายปัจจัย คือ
- เพศ
ร่างกายเพศหญิงจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้รวดเร็วกว่าเพศชาย จึงอาจทำให้เกิดอาการสั่น หรือเนื้อตัวเย็นได้ไวกว่าเพศชาย นอกจากนี้ ในช่วงที่ผู้หญิงมีรอบเดือนจะมีการหลั่งฮอร์โมนออกมาหลายชนิด ซึ่งอาจส่งผลให้ อุณหภูมิร่างกาย เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
- อายุ
เด็กและทารก อุณหภูมิร่างกายปกติจะอยู่ระหว่าง 36.6-37.2 องศาเซลเซียส
ผู้ใหญ่ มีอุณหภูมิปกติของร่างกายอยู่ระหว่าง 36.1-37.2 องศาเซลเซียส
ผู้สูงอายุ ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36.2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ
- บุหรี่
การสูบบุหรี่นั้นสามารถเพิ่ม อุณหภูมิร่างกาย ได้ ซึ่งอาจมีผลมาจากควันบุหรี่และการเผาไหม้ของของบุหรี่ที่ส่งผลต่ออุณหภูมิของร่างกายชั่วคราว แม้ว่าอุณหภูมิจากบุหรี่จะไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่การได้รับสารในบุหรี่ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
- อาหาร
อาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน อย่างพริก พริกไทย ขิง ข่า เครื่องเทศ หรือวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ร้อนก็อาจส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายนั้นสูงขึ้น หลังจากการรับประทาน
นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิปกติของร่างกายได้ อย่างการทำกิจกรรม การออกกำลังกาย เสื้อผ้า รวมถึงอุณหภูมิภายห้องด้วย
อ่านเพิ่มเติม : ทำไมเพิ่งบอก?! ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘ปืนวัดไข้’ เชื่อถือไม่ได้
- แล้วอุณหภูมิแบบไหนถึงจะเรียกว่าผิดปกติ
โดยทั่วไป ตำแหน่งที่ทำการวัดอุณหภูมิร่างกายจะมี 4 ตำแหน่งหลัก ๆ ซึ่งก็คือ หู ทวารหนัก ใต้ลิ้น และรักแร้ ซึ่งในแต่ละตำแหน่งนั้นมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน และถ้าหากไม่ทราบว่าตำแหน่งไหนควรอยู่ในระดับเท่าไหร่ ก็อาจเกิดการเข้าใจผิดได้ ซึ่งถ้าหากวัดไข้แล้วได้ผลลัพธ์ดังต่อไปนี้อาจต้องรักษาตัวเนื่องจากเป็นไข้
ปาก อุณหภูมิเมื่อเป็นไข้จะอยู่ที่ 37.8 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า
รักแร้ อุณหภูมิเมื่อเป็นไข้จะอยู่ที่ 37.2 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า
หูและทวารหนัก อุณหภูมิเมื่อเป็นไข้จะอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า อาการผิดปกติของอุณหภูมิในร่างกาย นั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยให้พิจารณา อุณหภูมิเปรียบเสมอเช็คลิสต์ตั้งต้นเพื่อให้เราตื่นตัวเฝ้าระวังอาการที่อาจจะเกิดความผิดปกติกับร่างกายได้นั่นเอง