สุดเจ๋ง “ห้องแยกการติดเชื้อฯ” ลดความเสี่ยงโควิด-19
วสท.ผลิต “ห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบ” อุปกรณ์ทางการแพทย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยติดเชื้อ เบื้องต้นนำร่องทดลองใช้ในห้องปฎิบัติการจริง โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ 30 มี.ค.นี้
การรับมือกับสถานการณ์โควิด -19 คงไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือรอเพียงการพึ่งพาจากรัฐบาลเท่านั้น “วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)” ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด -19 และแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญต่อความปลอดภัยทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19
นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่าห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบ (Airborne Inflection Isolation Room) เป็นการออกแบบตามมาตรฐานทางการแพทย์และวิศวกรรม เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยเกิดความปลอดภัย
โดยจะมีคุณสมบัติใช้สำหรับนั่งคอย หรือ ใส่เตียงคนไข้ ใช้ทั้งในและนอกอาคารได้ รวมถึงสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย น้ำหนักเบา และมีความดันมากกว่า 12 ACH
“โครงสร้างหลักจะใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก ประกอบด้วย พลาสติกมาตรฐาน GMP , ท่อ PVC , พัดลมดูดอากาศ ทั้งหมดในราคาประมาณ 8,000 บาท ซึ่งห้องดังกล่าวจะมีขนาดของห้องกว้าง 1.30 เมตร ยาว 2.60 เมตร สูง 2.20 เมตร คำนวณจากเตียงคนไข้รวมถึงพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้งาน และจัดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ โดยห้องดังกล่าวจะเป็นเสมือนมุ้ง”นายบุญพงษ์ กล่าว
รวมทั้งห้องนี้จะมีระบบการนำอากาศไปทิ้ง 12 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง และมีอาการใหม่เข้ามาแทนที่ เพื่อให้ห้องสะอาดตลอดเวลา และต้องรักษาแรงดันลบ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ ทั้งหมดนี้ได้ผ่านการทดสอบว่าได้มาตรฐานจาก วสท.แล้ว
ทั้งนี้ ในการดำเนินการผลิต “ห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบ (Airborne Inflection Isolation Room)” ทางวสท.ได้มีการเชิญผู้แทนจากโรงพยาบาลอย่างน้อย 2 แห่ง มาร่วมพิจารณารูปแบบ และการทำงาน ซึ่งทั้ง 2 แห่งเห็นว่าสามารถนำไปใช้กับโรงพยาบาลได้ และให้ วสท. นำห้องดังกล่าวไปทดลองใช้ที่โรงพยาบาล
“วสท.มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์เพื่อนำไปมาใช้ประโยชน์ต่อสังคม และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งขณะนี้ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด -19 มีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันหากประชาชนคนไทยไม่เคร่งครัดต่อคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ของแพทย์ เนื่องจากคนไทยชอบอยู่สบาย ไม่ชอบการบังคับ วิศวกรรมไทย และวสท.จึงเห็นว่าควรจะมีสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยลดความเสี่ยง และสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยโควิด -19”นายบุญพงษ์ กล่าว
หลังจากนี้ วสท.เตรียมวางแผนประดิษฐ์เตียงสำหรับผู้ป่วย,ถุงครอบสำหรับแพทย์,โรงพยาบาลสนาม เพื่อใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบ ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วนี้ จะมอบให้กับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ เพื่อนำไปทดลองใช้ในห้องปฎิบัติการจริง โดยได้กำหนดชนิดวัสดุ อุปกรณ์ รายละเอียดการคำนวณ คู่มือการใช้ การบำรุงรักษา เพื่อใช้สำหรับการขยายผล
ในส่วนของคู่มือการใช้งาน ทางวสท.กำลังเร่งดำเนินการ โดยจะเป็นคู่มือในการใช้ ตั้งแต่การประกอบ การติดตั้ง การทำความสะอาด รวมไปถึงการทำลาย
นายบุญพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่วสท.คาดหวัง คือไม่ต้องการให้เกิดการแพร่ระบาด และต้องการให้คนไทยทุกคนมีความหวัง อยากให้หายจากภัยพิบัติโดยเร็ว และอยากเห็นคนไทยทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงศึกษาธิการ ของแพทย์ มีสำนึกถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ใส่ใจดูแลสุขภาพ เพื่อความผาสุก ของคนไทยในอนาคตร่วมกัน
หากหน่วยงานหรือโรงพยาบาล ที่ต้องการให้ วสท.ช่วยคิดประดิษฐ์ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือในการรักษา หรือต้องการสอบถามข้อมูลในการจัดตั้ง ผลิตห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบ สามารถติดต่อ ได้ที่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซอยรามคำแหง 39 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร หรือ โทร 02-184-4600