กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แจงวิธีตรวจโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงการตรวจเชื้อโควิด-19 คือตรวจหาเชื้อไวรัส หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 5 - 7 วัน ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกันจะตรวจได้หลังมีอาการป่วยประมาณ 5 - 7 วัน หรือหลังติดเชื้อแล้ว 10 - 14 วัน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า มีทั้งการตรวจหาเชื้อไวรัส และการตรวจภูมิคุ้มกัน โดยการตรวจหาเชื้อไวรัส สามารถตรวจได้หลังจากได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 5 -7 วัน จึงเป็นวิธีที่ตรวจหาเชื้อได้เร็วที่สุด โดยแบ่งเป็น 3 แบบ คือ แบบที่ 1 ตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR แบบที่ 2 คือ เพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส และแบบที่ 3 ตรวจหา Antigen เชื้อไวรัส สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ที่พร้อมใช้อยู่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ วิธี Real-time RT PCR เนื่องจากมีความไว ความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 3 – 5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสปริมาณน้อยๆ ในรูปแบบของสารพันธุกรรม ดังนั้น ไม่ว่าจะเชื้อเป็น หรือเชื้อตาย ตรวจจับได้หมดจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่าง ของผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้
ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Test ทราบผลใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5 - 7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10 - 14 วัน ดังนั้น การใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจจะขึ้นลบ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้โดยปกติธรรมชาติของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากมีอาการประมาณ 5 - 7 วัน น้ำยานี้ อย.อนุญาตใช้เฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่อนุญาตจำหน่ายทั่วไป ประชาชนอย่าซื้อมาตรวจเอง เพราะมีความยุ่งยากในการแปลผล และสรุปผล ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังมีวิธีการตรวจอื่นๆ ที่กำลังเข้ามาในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจอะไรใหม่ๆ สิ่งที่เราต้องคิดเสมอคือ วิธีตรวจนั้นได้ผลหรือไม่ มีความแม่นยำเที่ยงตรงหรือไม่ และได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจประเมินอยู่ในขณะนี้ วิธีการตรวจแต่ละวิธีจะต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการตรวจ ตามดุลยพินิจของบุคลากรทางการแพทย์
“สำหรับการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับการตรวจเชื้อโควิด-19 หากมีการระบาดจำนวนมากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีแผนพัฒนาให้มีห้องปฏิบัติการตรวจทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดรวมแล้ว 97 แห่ง รองรับการตรวจในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการประเมินแล้ว 57 แห่ง อยู่ระหว่างการประเมิน และกำลังจัดตั้งอีก 40 แห่ง คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะครบตามเป้าหมาย สำหรับประชาชนที่มีประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยง หากมีอาการเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ ตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติให้ละเอียด จะได้รับการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT – PCR ฟรี” นายแพทย์โอภาส กล่าว