สธ.ยันซากเชื้อก่อโควิด-19ในผู้ป่วยที่หาย แพร่เชื้อต่อไม่ได้
สธ.ยันซากเชื้อก่อโควิด-19ในผู้ป่วย ไม่มีชีวิตแล้วแพร่เชื้อต่อไม่ได้ กรณีสาวจ.ชัยภูมิไม่น่าจะเป็นการติดเชื้อซ้ำ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 เมษายน 2563 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19(COVID-19) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยหญิงชาวจังหวัดชัยภูมิที่เคยป่วยโควิด-19ว่า ผู้ป่วยรายนี้เมื่อเริ่มป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ โดยมาด้วยอาการไม่มาก นอนในโรงพยาบาลครบ 14 วัน แพทย์จึงแนะนำให้กลับบ้านและแยกตัวจากคนในครอบครัว ซึ่งผู้ป่วยก็ขับรถกลับบ้านที่จังหวัดชัยภูมิ และอยู่บ้านแยกตัวเองดีเยี่ยม
แต่ประมาณวันที่ 3-4 เมษายนที่ผ่านมา เริ่มมีน้ำมูกนิดหน่อย คั่นเนื้อคั่นตัว รู้สึกเหมือนมีไข้ จึงไปโรงพยาบาลหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ โรงพยาบาลเห็นว่าเคยมีประวัติติดโควิด-19จึงทำการตรวจหาเชื้อซ้ำก็พบเชื้อ ขณะที่ผู้ป่วยไม่มีไข้ แต่เพื่อความปลอดภัยแพทย์ก็ทำการแยกตัวให้อยู่โรงพยาบาลและใส่ชุดป้องกันตามมาตรฐาน ซึ่งการป่วยในครั้งนี้ของผู้ป่วยอาจจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเพราะเม็ดเลือดขาวสูง แต่ไม่มีไข้ น้ำมูกนิดหน่อย และอัตราการหายใจ 20 ครั้งต่อนาที และผลแล็บอย่างอื่นก็ปกติ
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยรายนี้น่าจะไม่ได้ติดโควิด-19ซ้ำ โดยเชื้อที่พบ น่าจะเป็นซากของเชื้อไวรัส เพราะต่างประเทศสามารถตรวจเจอซากเชื้อได้ 30 วัน และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐ ออกแนวทางหากผู้ป่วยอาการไม่มาก ให้อยู่โรงพยาบาล 7 วัน นับจากวันเริ่มมีอาการ เมื่อดีขึ้นแล้วให้กลับบ้านได้โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ แต่ของไทยจะให้อยู่ในสถานที่รัฐจัดให้นานถึง 14 วัน และแนะนำให้แยกตัวเมื่อกลับถึงบ้านและรักษาระยะห่างให้ครบ 30 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ซากเชื้อก่อโรคโควิด-19จะแพร่เชื้อต่อได้หรือไม่ นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า ซากที่พบเป็นตัวเชื้อไม่มีชีวิตแล้วจึงไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ จะทำการแยกซากเชื้อคนที่ให้กลับบ้านได้มาทำการศึกษาต่อว่าสามารถเพาะซากเชื้อขึ้นหรือไม่ หากไม่ขึ้นแสดงว่าตายแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูล เพราะข้อมูลที่ได้จะเป็นของต่างประเทศ