ปั้นครูนักพัฒนารร.พื้นที่ห่างไกล รับมือโควิด-19 ไม่ให้หยุดเรียน
กสศ. จับมือ 11 สถาบันอุดมศึกษา เดินหน้าสร้างครูนักพัฒนาของ รร.พื้นที่ห่างไกล 328 คน
พร้อมปรับแผนรับมือโควิด-19 ไม่ให้การเรียนรู้หยุดชะงัก เตรียมจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ให้กับนักศึกษาทุนทุกคน
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. กับ 5 หน่วยงานหลักในระดับนโยบาย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อร่วมผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนพื้นที่ห่างไกล
โดยมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้มีโอกาสเรียนครูจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพ เพื่อกลับไปทำงานในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลตามนโยบายของรัฐบาล (Protected School/Standalone) ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง คาดว่าจะช่วยลดอัตราการโยกย้าย และการขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้
“ขณะนี้สถาบันอุดมศึกษา 11 แห่งในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ประกาศผลการคัดเลือกนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 เพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์แล้ว จำนวน 328 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 785 คน ในพื้นที่ตำบล ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนที่มีอัตราบรรจุข้าราชการครูปีใน 2567 จำนวน 282 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัด” ดร.อุดม กล่าว
โดยตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาคณะอาจารย์จากสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น ทั้ง 11 แห่ง ได้มีกระบวนค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกนักศึกษาทุนโดยการลงพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมค้นหาเด็กที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของ กสศ. เพื่อให้ได้น้องๆ ที่จะไปเป็นครูของชุมชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนสอบคัดเลือก โดยมีการวัดผล 3 ด้านสำคัญคือ การมีจิตวิญญาณความเป็นครู การมีสมรรถนะของการเป็นนักพัฒนาชุมชน และสมรรถนะพื้นฐานในวิชาชีพครูโดยเฉพาะสาขาที่เปิดรับ ได้แก่ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยและสาขาวิชาประถมศึกษา
ดร.อุดม กล่าวว่า ตลอดการเรียนในหลักสูตรครูรัก(ษ์)ถิ่น นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติงานในโรงเรียนและชุมชนตั้งแต่ปีแรกไปพร้อมกับการเรียนรู้ตามหลักสูตรครูคุณภาพสูง ในขณะที่ กสศ. ยังสนับสนุนทางวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมคุณภาพของโรงเรียนปลายทางทั้ง 282 แห่งควบคู่ไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด - 19 ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปิดภาคเรียนของนักศึกษาทุนทั้ง 11 สถาบัน ทาง กสศ. จึงทำการสำรวจความพร้อมของสถาบันและนักศึกษาทุนเพื่อวางแผนจัดหาอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ให้กับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้ง 328 คน เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ตามหลักสูตรหยุดชะงักและสามารถใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนระยะยาวอีกด้วย
ด้าน ดร.เทิน สีนวน อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันระบบคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเป็นครูของมหาวิทยาลัยจะใช้การสอบข้อเขียน โดยประสบการณ์แล้วเราพบว่าได้คนที่ไม่ตอบโจทย์เพราะส่วนใหญ่เด็กยุคหลังมีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับความเป็นครูน้อยลง พอลงไปทำงานในพื้นที่เด็กบางส่วนมองเห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าไม่ค่อยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
“ที่ผ่านมาเราเคยเห็นเด็กบางคนโพสต์ในเฟสบุ๊คเขาเวลาลงไปทำงานในพื้นที่ว่าอยู่ยากลำบาก ไม่อยากอยู่ อยากกลับไปอยู่ในเมือง ไม่มีทัศนคติอยากเป็นครู มาเรียนครูเพราะต้องการเป็นข้าราชการ แต่ไม่ได้มีใจรักในการเป็นครูมากพอ ฉะนั้นกระบวนการคัดคนให้เหมาะสม น่าจะคัดคนที่มีหัวใจอยากเป็นครูอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นครูเพื่ออยากให้ตัวเองมั่นคงและอยู่ในที่สบาย” ดร.เทิน กล่าว
ดร.เทิน กล่าวว่า การนำนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลมาเรียนเพื่อเป็นครูกลับไปสอนในพื้นที่เป็นเรื่องดีเพราะเขาอยากไปอยู่จริง ๆ แม้ไม่เก่งมากแต่อยากทำงานอยู่ที่บ้านเกิดก็ทำให้ช่วยลดปัญหาการโยกย้ายได้ และเขาจะรู้จักชุมชน วัฒนธรรมของตัวเองน่าจะตอบโจทย์ในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาคุณลักษณะความเป็นครู ไม่ใช่ให้แค่ความรู้ ต้องผ่านการพัฒนาด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนที่ได้ฝึกปฏิบัติจริง
ผศ.เสาวภาคย์ สว่างจันทร์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในส่วนของโครงการครูรัก(ษ์) ถิ่น ทางมหาวิทยาลัยจะออกแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาชุมชน ได้รู้ว่าชุมชนของตัวเองมีปัญหาอะไร จะต้องแก้ไขอย่างไร จะมีโครงการให้เด็กได้คิดประเด็นศึกษาของตัวเองเวลาจบไปเป็นครูในพื้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แม้เด็กจะเติบโตในพื้นที่แต่ก็อาจไม่รู้จักชุมชนของตัวเองดีพอต้องลงไปศึกษาเก็บข้อมูล