5 เทคนิค ‘ขอทบทวนสิทธิ์’ อย่างไรให้เสร็จไวก่อนเว็บล่ม
เปิดเทคนิคยื่น “ขอทบทวนสิทธิ์” ผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้ทำได้แบบฉับไวและคลิกได้ทันก่อนที่เว็บจะล่มอีกรอบ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวให้ดีก่อนเข้าระบบ เช่น เตรียมข้อมูลให้พร้อม เตรียมเอกสารให้ครบ มีแผนสำรอง และมีสติในการกรอกข้อมูล
สำหรับคนที่เคยลงทะเบียนในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เอาไว้แล้วพบว่าตนเอง “ไม่ได้รับสิทธิ์” อย่าเพิ่งท้อใจไปเพราะมีข่าวดีว่าทางการจะเปิดให้ยื่น “ขอทบทวนสิทธิ์” ในวันที่ 20 เม.ย. นี้ ก่อนที่ถึงดีเดย์วันดังกล่าว ชวนคุณมาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะเข้าไป “ขอทบทวนสิทธิ์” ในระบบ จะได้สามารถทำได้ราบรื่น ไม่ผิดพลาด และทำเสร็จไวทันใจก่อนเว็บจะล่ม
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมเทคนิคและข้อควรรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการ “ขอทบทวนสิทธิ์” มาให้ได้ทราบกัน ดังนี้
1. เตรียมข้อมูลและเอกสารให้พร้อม
ก่อนจะยื่น “ขอทบทวนสิทธิ์” แนะนำให้อ่านรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดีก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มผู้มีสิทธิ์ในการ “ขอทบทวนสิทธิ์” หรือไม่? ตลอดจนเตรียมข้อมูลหลักฐานที่จะต้องใช้ในการกรอกข้อมูลในระบบให้พร้อม เช่น ข้อมูลส่วนตัวของตนเอง เลขบัตรประชาชน เบอร์มือถือ วันเดือนปีเกิด ข้อมูลชื่อร้านค้า สถานประกอบการ รายละเอียดที่อยู่ จำพวกบ้านเลขที่ ชื่อหมู่บ้าน ซอย ถนน ตำบล อำเภอ จังหวัด เป็นต้น และเตรียมตัวสำหรับกรอกเลข OTP ด้วย
มีข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยจะร่วมกันดำเนินการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มที่ “ขอทบทวนสิทธิ์” โดยเปิดให้ทำในระบบออนไลน์เท่านั้น ผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เมื่อได้รายชื่อของผู้ “ขอทบทวนสิทธิ์” มาแล้ว เจ้าหน้าที่จะคัดรายชื่อแยกเป็นรายจังหวัดส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ในวันที่ 21 เม.ย. เพื่อนำไปคัดกรองต่อแบบรายต่อราย ซึ่งผู้ว่าฯ จะหารือกับคลังจังหวัด ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และช่วยกันลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่ “ขอทบทวนสิทธิ์”
การลงพื้นที่ไปตรวจสอบสิทธิ์นั้น เจ้าหน้าที่จะขอดูเอกสารจากผู้ยื่น “ขอทบทวนสิทธิ์” โดยต้องการภาพถ่าย 3 ภาพ คือ รูปถ่ายของผู้ขอทบทวนสิทธิ์ รูปถ่ายกับบัตรประชาชน และรูปถ่ายแสดงหลักฐานการทำงาน เช่นรูปถ่ายคู่กับร้านค้า หรือ รูปถ่ายคู่กับเอกสารอื่นๆ จำพวกเอกสารค่าเช่าแผง เอกสารการชำระค่าน้ำค่าไฟของร้านค้า (หากเป็นเจ้าของร้านค้า) หรือเอกสารการรับเงินเดือน (หากเป็นลูกจ้าง) เป็นต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘เราไม่ทิ้งกัน’ เปิดขั้นตอน ‘ขอทบทวนสิทธิ’ ก่อนยื่นจริง 20 เม.ย.นี้!
เช็คก่อน 'ขอทบทวนสิทธิ์' ใครได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 'เราไม่ทิ้งกัน' บ้าง?
2. อินเทอร์เน็ตต้องพร้อม
เนื่องจากเป็นการยื่น “ขอทบทวนสิทธิ์” ผ่านทางออนไลน์ในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จึงต้องเช็คให้ดีว่าอินเทอร์เน็ตเสถียรหรือไม่? อย่าให้สัญญาณเน็ตหลุดระหว่างที่กรอกข้อมูลเด็ดขาด เคล็ดลับคือต้องใช้ WIFI สัญญาณแรงและเสถียร เพื่อที่เวลาจะคลิกที่หน้าถัดไปหรือเวลาจะเซฟข้อมูลจะได้กดคลิกได้ราบรื่น ไม่เด้งออกจากระบบ
หากอินเทอร์เน็ตไม่เสถียรอาจจะเจอหน้าเว็บเด้งออกและเสียเวลากรอกข้อมูลใหม่ทั้งหมด อีกอย่างคือ ควรมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่อเน็ตได้เตรียมเผื่อไว้ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หากเกิดเหตุฉุกเฉินคอมฯ ใช้งานไม่ได้ขึ้นมา จะได้สามารถเข้าเว็บไซต์และกรอกข้อมูลในมือถือแทนได้
3. มองหาความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าระบบออนไลน์เหล่านี้เป็น! สำหรับใครที่ไม่ถนัดการใช้งานเว็บไซต์ หรือไม่เก่งด้านการกรอกข้อมูลในระบบออนไลน์ อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากคนที่ทำเรื่องเหล่านี้ได้ดี เช่น ลูกหลานมาช่วยเข้าระบบให้พ่อแม่ผู้สูงอายุ เป็นต้น หรือเราอาจจะไปสอบถามหรือมองหาผู้ที่ใช้งานเว็บไซต์ได้คล่องแคล่วมาช่วยดูให้ เผื่อมีข้อสงสัย หรือมีข้อมูลตกหล่นตรงไหน จะได้มีคนช่วยแก้ไขได้ทันก่อนบันทึกข้อมูล
4. ตั้งสติก่อน start
การกรอกข้อมูลลงทะเบียนในลักษณะนี้ ผู้เข้าใช้ระบบจะต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะมีข้อมูลส่วนตัวสำคัญอยู่หลายอย่าง “สติ” จึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีสมาธิในการทำ ไม่ลนลาน จะได้ไม่กรอกข้อมูลผิดพลาด เทคนิคสำคัญคือ ควรเปิดอินเทอร์เน็ตและเข้าเว็บไซต์ไว้รอก่อนเวลาเล็กน้อย แล้วกดรีเฟรชไปเรื่อยๆ
เมื่อเห็นหน้าเว็บเปิดให้คลิก “ขอทบทวนสิทธิ์” จากนั้นก็ให้ตั้งใจกรอกข้อมูลทีละขั้นตอนให้ครบถ้วน หากสติดีและมีสมาธิจะทำให้คุณใส่ข้อมูลได้ครบถ้วน ถูกต้อง แล้วคลิกยืนยันให้ไวภายในรอบเดียว ก็จะช่วยให้ทำเสร็จได้ก่อนเว็บล่มแน่นอน แต่ถ้าไม่มีสติก็จะทำผิดๆ ถูกๆ ต้องลบแล้วใส่ข้อมูลใหม่ เสียเวลาไปอีก
5. รอเวลา เข้าใหม่ทีหลัง
สำหรับใครที่โชคไม่ดี พอเข้าเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อที่จะยื่น “ขอทบทวนสิทธิ์” แล้วเจอเว็บไซต์ล่มหรือไม่เสถียร อาจจะต้องยอมรอเวลาให้ผ่านไปอีกสักหน่อยเพื่อให้คนเบาบางลงก่อนแล้วจึงค่อยเข้าไปในเว็บไซต์เพื่อคลิก “ขอทบทวนสิทธิ์” ใหม่อีกรอบก็ได้