'วิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่' เรียนไว้ไม่ตกงาน
“Big Data Engineering มธบ.” หลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุค Tech Disruption -จบสาขาไหนก็เรียนได้
“โลกยุคดิจิทัล” มีการแข่งขัน และดิสรัปชั่นอย่างรุนแรง ซึ่ง “ข้อมูล” จะเป็นอีกหนึ่งตัวสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร และธุรกิจนั้นๆ เพราะหากองค์กรใด ธุรกิจไหนสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จัดการและใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ย่อมหมายถึงการเดินนำหน้าคู่แข่ง และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้มากยิ่งขึ้น
“นักวิศวกรรมข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักบริหารจัดการข้อมูล” ล้วนเป็นสาขาอาชีพที่กำลังขาดแคลน และต้องการกำลังคนอย่างมหาศาล “หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” ซึ่งได้เปิดการเรียนการสอนมาแล้วกว่า 5 ปี โดยมุ่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านนี้ เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนของประเทศด้านนี้
ดร.ธนภัทร ฆังคะจิตร ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Engineering College of Innovative Technology and Engineering) วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มธบ. กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าวจะเน้นความเป็นวิศวกรข้อมูล ควบคู่กับการที่นิสิตมีทักษะในการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างครบวงจร
ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลบนระบบผ่านคลาวด์ (Cluod) การบริหารจัดการข้อมูล การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์ การนำเสนอและใช้งานองค์ความรู้ที่สกัดได้ นิสิตที่เรียนสาขาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ จะมีความสามารถทั้งในด้านการคิดวิเคราะห์เชิงตรรกะ รวมถึงสามารถจัดการระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการประเมินผลบิ๊กดาต้าได้ด้วย
“การเรียนการสอนจะเน้นองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยแต่ละวิชา นิสิตจะได้เรียนทฤษฎีการวิเคราะห์ บริหารจัดการข้อมูล และเรียนปฏิบัติการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ผ่านการทำโปรเจค เวิร์คช็อป เพราะปัจจุบันทักษะที่ผู้ประกอบการต้องการจากนักบริหารจัดการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น นักวิศวกรรมข้อมูล หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คือ การทำงานเป็น ไม่ใช่เพียงเข้าใจระบบ หรือวิธีการบริหารจัดการเท่านั้น แต่ต้องช่วยวิเคราะห์ ชี้แนะให้คำแนะนำองค์กรจากข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและหน่วยงานนั้นๆ”ดร.ธนภัทร กล่าว
ดร.ธนภัทร กล่าวต่อไปว่าทางหลักสูตร ได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนสอนมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล โดยเน้นทฤษฎีและเครื่องมือใหม่ ๆ ทางด้านเทคโนโลยีด้าน Cloud Computing, Internet of Things (IOT), ปัญญาประดิษฐ์, การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning), ธุรกิจอัจริยะ (Business Intelligence) และวิศวกรรมซอฟต์แวร์สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่
นอกจากนี้ เมื่อหลักสูตรเปลี่ยน ทฤษฎีเปลี่ยน เครื่องมือเปลี่ยน บุคลากรอาจารย์ของเราก็ต้องเปลี่ยนด้วย ในทุกปีจะมีการอบรมคณาจารย์ และถ้าหากอาจารย์ท่านใดอยากไปศึกษาเพิ่มเติม หรือทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐ ทางหลักสูตรได้เปิดโอกาสให้อย่างเต็มที่ อีกทั้งได้มีการเชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน
ขณะที่ ดร.เอกสิทธิ์ พัชรวงศ์ศักดา อาจารย์ประจำหลักสูตร กล่าวเสริมว่าคนที่มาเรียนสายนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องจบสายวิศวกรรมศาสตร์มา แต่ต้องเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่กับข้อมูล มีความกระตือรือร้น อยากเรียนรู้ สนใจข้อมูล อยากทดลอง ดังนั้น นิสิตที่มาเรียนกับเราจึงมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เภสัชกร นักธรณีวิทยา นิสิตที่จบสาขาบริหารธุรกิจ ซึ่งจบสาขาอะไรก็สามารถเรียนได้ ขอเพียงมีความตั้งใจจริง
ดร.ธนภัทร กล่าวอีกว่าทุกหัวข้อของการเรียนรู้ นิสิตต้องพรีเซนต์ นำเสนอให้เพื่อนๆและอาจารย์เข้าใจ เพื่อให้มีทักษะด้านการสื่อสาร สอดคล้องกับสิ่งที่คาดหวังให้ทุกคนได้รับเมื่อจบการศึกษา คือ มีความรู้ด้านทฤษฎี ปฏิบัติได้จริง สื่อสารกับผู้อื่น นำเสนอข้อมูล รวมถึงการทำงานเป็นทีม และรู้จักการปรับตัวตลอดเวลา มีคุณภาพจริยธรรมตามวิชาชีพ อีกทั้ง มีเครือข่ายให้นิสิตสามารถต่อยอดได้ในอนาคต
“หลายคนอาจเข้าใจว่าเมื่อเรียนปริญญาโท สาขาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ ต้องเรียนทฤษฎีเยอะมาก ซึ่งจริงๆก็มีการเรียนทฤษฎีจำนวนหนึ่ง แต่หลักสูตรของเราจะเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ทฤษฎี ควบคู่การปฏิบัติ การใช้เทคโนโลยี รู้ลึกทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ เพื่อไปทำงานได้จริง สำหรับนิสิตที่สนใจสามารถเข้ามาสอบถามเพิ่มเติม หรือศึกษารายละเอียดก่อนเข้าเรียนได้”ดร.ธนภัทร กล่าว