'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2563' ยังไม่สิ้นสุด เปิด 5 วิธีใช้ชีวิตช่วงผ่อนปรน
หลายคนสงสัย "พ.ร.ก.ฉุกเฉินสิ้นสุดวันไหน" ล่าสุดทาง ศบค. ออกมายืนยันแล้วว่าจะมีการ ต่อ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ไปอีก 1 เดือน แต่มีการผ่อนปรนให้สถานที่บางแห่งเริ่มเปิดได้แล้ว เช่น ตลาด ร้านตัดผม ห้างสรรพสินค้า
สำหรับใครหลายคนที่กำลังรอลุ้นว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉินสิ้นสุดวันไหน" กันแน่? ล่าสุดก็มีคำตอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกมาแล้วว่า ประเทศไทยจะยังคง "ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ไปอีก 1 เดือน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19
แต่แม้จะขยายเวลา "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" แต่ก็มีการผ่อนปรนความเข้มข้นให้น้อยลง เริ่มให้ร้านค้าและกิจการบางอย่างมาเปิดให้บริการได้แล้ว แตายังคงไว้ซึ่งมาตรการเคอร์ฟิวในเวลา 22.00-04.00 น. อยู่เหมือนเดิม รวมไปถึงสถานที่ที่กลับมาเปิดให้บริการนั้น จะต้องควบคุมและป้องกันโรคระบาดโควิด-19 อยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ให้มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ และแจกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น
โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คาดว่าจะเริ่มผ่อนปรนให้กิจการบางประเภทสามารถกลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่ วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นต้นไป เช่น ร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ติดแอร์ ร้านอาหารที่เปิดในพื้นที่โล่งแจ้ง ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม สวนสาธารณะ ตลาดสด ตลาดนัด และห้างสรรพสินค้า ซึ่งอันนี้เป็นภาพรวมของทั่วประเทศ ส่วนในระดับจังหวัดให้พิจารณาเป็นรายจังหวัดๆ ไป ว่าสามารถผ่อนปรนได้มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้จะทยอยปลดล็อคและผ่อนปรนให้กิจการประเภทอื่นๆ ให้สามารถเปิดบริการเพิ่มไปทีละขั้น ซึ่งจะมีการประเมินผลทุก 14 วัน หากพบมีการระบาดเพิ่มขึ้นมาอีกจะต้องหยุดการผ่อนปรนทันที แล้วต้องกลับมาปิดพื้นที่พร้อมใช้มาตรการควบคุมที่เข้มข้นตามประกาศกระทรวงสาธารณะสุขอีกครั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ศบค. ต่อเวลา 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' อีก 1 เดือน
ผ่อนปรน ห้างสรรพสินค้า-ร้านตัดผม เตรียมเปิด 4 พ.ค.นี้
- กทม. ประกาศผ่อนปรนแล้ว 8 กิจการ
ภายหลังจากที่มีแนวทางเรื่องมาตรการผ่อนปรนออกมาจากส่วนกลาง ทางกรุงเทพมหานครก็ได้มีการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรุงเทพมหานครเตรียมออกมาตรการผ่อนปรน ผ่อนคลายล็อกดาวน์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย.นี้ โดยกรุงเทพมหานคร เสนอแนวทางผ่อนปรน 8 ประเภทสถานที่ให้กลับมาเปิดบริการ ได้แก่
1. ร้านอาหาร : นั่งทานที่ร้านได้ โดยจัดที่นั่งห่างกัน 1.5 เมตร ห้ามมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้เปิดตามเวลาที่กำหนดของ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"
2. ตลาดและตลาดนัด : อนุญาตให้ขายสินค้าได้ทุกประเภท
3. สถานที่ออกกำลังกาย : เปิดได้เฉพาะกีฬาที่ไม่ใกล้ชิดกัน เช่น เดิน วิ่ง แบตมินตัน เทนนิส โดยไม่อนุญาตกีฬาประเภททีมที่ต้องใกล้ชิดกัน
4. สวนสาธารณะ : ให้เข้าใช้ออกกำลังกาย พักผ่อนได้ แต่ห้ามจับกลุ่มสังสรรค์
5. ร้านตัดผม : อนุญาตเฉพาะตัด,สระ,ไดร์เท่านั้น ทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกๆ 2 ชม. ให้จองคิว ไม่ให้นั่งรอในร้าน ช่างต้องใส่หน้ากากและ Face Shield
6. ร้านตัดขนสัตว์ และคลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ : นำสัตว์เข้าร้านได้ครั้งละ 1 คนต่อ1 ตัว ทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกๆ 2 ชม.
7. โรงพยาบาล คลินิก และสถานพยาบาล : หากมีอาการป่วย มีไข้ ไอแห้งและเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ต้องรีบพบแพทย์ทันที
8. สนามกอล์ฟ และสนามฝึกซ้อม : ให้ใช้บริการได้ภายในเวลาที่กำหนดของ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"
(*หมายเหตุ : เตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร 29 เม.ย.63 และออกเป็นมาตรการหลัง 30 เม.ย. 63)
อ่านเพิ่มเติม: กทม. จ่อคลายล็อกดาวน์ 8 ประเภทสถานที่ เปิดบริการ 1 พ.ค.นี้
- เช็คลิสต์สถานที่ไหนให้เปิดบริการได้แล้วบ้าง?
แม้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ยังไม่สิ้นสุด และจะมีการ "ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ไปอีก 1 เดือน แต่ทางการก็ผ่อนปรนให้สถานที่และกิจการร้านค้าบางประเภทกลับมาเปิดบริการได้ ซึ่งสามารถแบ่งตามสีและแบ่งเป็นระยะการผ่อนปรนไปทีละขั้น ซึ่งแต่ละขั้นจะห่างกัน 14 วัน ได้แก่
- สีขาว (เปิด 4 พ.ค. 63)
ธุรกิจที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น ร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ติดแอร์ ร้านอาหารที่เปิดในพื้นที่โล่งแจ้ง ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม สวนสาธารณะ ตลาดสด ตลาดนัด และห้างสรรพสินค้า
- สีเขียว (เปิด 18 พ.ค. 63)
ร้านค้าขนาดเล็กติดแอร์ และมีพื้นที่ไม่มาก สนามกีฬา สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง ต้องมีมาตรการควบคุม
- สีเหลือง (เปิด 1 มิ.ย. 63)
กิจการที่มีพื้นที่ปิด มีขนาดใหญ่ มีคนใช้บริการจำนวนมาก
- สีแดง (เปิด 15 มิ.ย. 63)
กิจการที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สนามมวย แหล่งบันเทิง ผับ บาร์ งานอีเวนท์ คอนเสิร์ต ฯลฯ
- คู่มือ 5 วิธีใช้ชีวิตช่วง “ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
สำหรับประชาชนที่ต้องการออกไปใช้บริการร้านค้าต่างๆ ในช่วงผ่อนปรน แต่ยังคงบังคับใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ไปอีก 1 เดือน ก็ยังต้องช่วยกันป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่เหมือนเดิม โดยมีข้อมูลจาก นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แนะวิธีดำเนินการตามมาตรการผ่อนปรนว่า ประชาชนทุกคนยังต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่จะกลับมารุนแรงขึ้นอีก โดยคนไทยยังต้องอยู่ในสถานการณ์นี้อีกสักระยะ จนกว่าจะมีวัคซีนมารักษาโรคนี้
การกำจัดโรคโควิด-19 ให้หมดจากประเทศ ทำได้ยาก แต่สามารถควบคุมให้มีการแพร่ระบาดของโรคในระดับต่ำได้ โดยคงระดับผู้เสียชีวิตให้ต่ำที่สุด และเน้นย้ำรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลให้ดี จะยิ่งช่วยลดผู้ติดเชื้อได้ ด้านการผ่อนคลายมาตรการตามสถานที่ หรือ กิจการที่มีความเสี่ยง จะมีการประเมินจากความเสี่ยงต่ำไปความเสี่ยงสูง ซึ่งสถานที่ที่เปิดได้จะต้องบริหารจัดการให้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ร้านอาหาร สวนสาธารณะ สถานที่ที่ปลอดโปร่ง ไม่แออัด
อีกทั้งคุณหมอยังให้คำแนะนำสำหรับประชาชนที่จะเริ่มออกมาใช้บริการในสถานที่ผ่อนปรนเหล่านี้ว่า ต้องพยายามรักษาให้เกิดความเสี่ยงต่ำ เช่น มีการสัมผัสผิวเผิน อย่าอยู่ใกล้ชิดกัน อย่าแตะเนื้อต้องตัวกัน ไม่มีการพูดคุย ต่างคนต่างอยู่ ใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลา อยู่ในสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท และมีผู้ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันน้อยกว่า 5 คน เป็นต้น
นอกจากนี้ก็สามารถอ่านข้อควรปฏิบัติและคำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติมได้ดังนี้
1. ต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตร
สำหรับการออกไปใช้บริการร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม และห้างสรรพสินค้าในช่วงผ่อนปรนนั้น ประชาชนยังคงต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตรเป็นอย่างน้อย การไปสั่งอาหารนั้นก็ควรสั่งกลับบ้านจะปลอดภัยกว่า นอกจากว่าในร้านคนน้อย สามารถนั่งรักษาระยะห่าวงได้ก็ค่อยนั่งทานที่ร้าน ส่วนการไปซื้อของอุปโภคบริโภคตามห้างสรรพสินค้านั้น ควรเลือกซื้อให้เร็วที่สุด ใช้เวลาในห้างให้น้อยที่สุด ส่วนการไปต่อคิวจ่ายเงินก็ควรเว้นระยะห่างในการต่อคิวทุกครั้ง
2. ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเสมอ
สำหรับการออกไปซื้อข้าว หรือซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรือตามตลาด ประชาชนก็ยังควรสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเสมอ ส่วนถ้าใครไปร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ก็ควรใส่หน้ากากอนามัยเสมอ และให้เลือกร้านที่เจ้าของร้านและพนักงานในร้านสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วย จะได้ป้องกันโรคได้ทั้งสองฝ่าย
3. พกเจลแอลกอฮอล์
เวลาไปซื้อของที่ห้างหรือตามตลาด ส่วนใหญ่จะมีจุดคัดกรองเพื่อวัดไข้และให้บริการเจลล้างมือ ก็ควรเข้าจุดคัดกรองเสมอ และใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนเข้าตลาดซื้อของ และล้างมือหลังจากซื้อของเสร็จ แต่เพื่อให้ชัวร์ก็ควรพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไปด้วย จะได้หยิบใช้ได้ตลอดเวลา
4. ลดการสัมผัสจุดสัมผัสร่วม
ระหว่างที่ไปใช้บริการร้านค้าต่างๆ ที่ทางการผ่อนปรนให้กลับมาเปิดได้ในช่วง "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" นั้น ก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส "จุดสัมผัสร่วม" ต่างๆ เช่น ราวจับบนรถไฟฟ้า, ราวจับบนรถเมล์, ที่จับประตู, หรือจับโต๊ะเก้าอี้ตามร้านอาหาร, ปุ่มกดลิฟท์, ราวบันไดเลื่อน ฯลฯ หลังจากจับจุดสัมผัสร่วมเหล่านี้ก็ควรล้างมือทันที
5. กลับถึงบ้านต้องล้างมือทันที
พอเสร็จสิ้นจากการออกไปใช้บริการร้านค้าต่างๆ พอมาถึงบ้านก็ควรเช็ดถุงที่ห่อหุ้มสิ่งของหรือแพ็คเกจสินค้าที่ซื้อมาเหล่านั้นให้สะอาดด้วยผ้าและสเปรย์แอลกอฮอล์ ล้างมือและล้างแขนขาทันที หรือถ้าไม่ยุ่งยากจนเกินไปก็ควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่จะดีที่สุด
*หมายเหตุ: เมื่อผ่อนปรนแล้วทางการจะมีการเฝ้าระวังและประเมินผลตลอดเวลา หากพบแพร่ระบาดขึ้นมาอีก จะหยุดการผ่อนปรนของสถานที่นั้นๆ ทันที ดังนั้นประชาชนยังคงต้องติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง