มรสุมโควิด 'ความเปราะบางภาคครัวเรือน' และมาตรการเยียวยาต้องไม่ทิ้งใคร

มรสุมโควิด 'ความเปราะบางภาคครัวเรือน' และมาตรการเยียวยาต้องไม่ทิ้งใคร

วิกฤติโควิด-19 ได้สะท้อนความเปราะบางภาครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพาเงินโอนจากการทำงานของบุตรหลานหรือญาติ การช่วยเหลือด้วยมาตรการ 3C จากรัฐ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเยียวยา ประคับประคองให้ผ่านมรสุมนี้ไปได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

มาตรการปิดเมืองเพื่อลดการระบาดของโรค COVID-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อ SMEs แล้ว ยังกระจายไปยังครัวเรือนทุกกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ (1) ลูกจ้างบางส่วนถูกเลิกจ้างหรือถูกปรับลดเงินเดือน ขณะที่ (2) ครัวเรือนประกอบอาชีพอิสระต้องขาดรายได้จากอุปสงค์ที่ลดลง และ (3) ครัวเรือนที่พึ่งพาเงินโอนจากการทำงานของบุตรหลานหรือญาติ ก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ กล่าวได้ว่าวิกฤติ COVID-19 นั้นส่งผลกระทบกระจายไปทุกกลุ่มครัวเรือน บทความนี้จึงต้องการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ภาครัฐต้องรีบเข้ามาช่วยเหลือ

ครัวเรือนกลุ่มพึ่งเงินสงเคราะห์และเงินโอนจากบุตรหลานเปราะบางที่สุด

การวิเคราะห์ข้อมูลแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 ชี้ให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่น่ากังวล ดังนี้

(1) ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีภาระรายจ่ายเทียบกับรายได้ในระดับสูง ครัวเรือนรายได้ปานกลาง (15,000-35,000 บาท) กลุ่มนี้จะได้รับความเดือดร้อนอย่างมากหากรายได้ลดลงเพียงเล็กน้อย

(2) 40% ของครัวเรือนรายได้น้อย หรือกว่า 3 ล้านครัวเรือนเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ แต่พึ่งพาเงินสงเคราะห์ โดยเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการที่พึ่งพาเงินบุตรหลานและญาติโอนไปให้ รวมถึงเงินสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งครัวเรือนกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยเพียง 9,500 บาทต่อเดือน ขณะที่ 30% ของครัวเรือนรายได้น้อยเป็นกลุ่มลูกจ้างเอกชนระดับปฏิบัติการ และ 20% เป็นกลุ่มเกษตรกร

(3) มรสุม COVID-19 ทำให้รายได้ลดลงอย่างฉับพลัน (Income shock) ซึ่งหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ จะมีครัวเรือน 1 ใน 3 ที่มีเงินออมสะสมเพื่อใช้ในการดำรงชีพอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน และครัวเรือนรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเงินออมไม่เพียงพอมากที่สุด คือมีเงินออมสะสมน้อยกว่าครัวเรือนรายได้ปานกลางประมาณ 2 เท่า และน้อยกว่ากลุ่มรายได้สูงถึงเกือบ 10 เท่า สะท้อนความเหลื่อมล้ำของความสามารถสะสมเงินออม

(4) ภาระหนี้สินรุนแรงยิ่งทำให้สถานการณ์ข้างต้นน่ากังวลมากขึ้น โดยเมื่อนำภาระหนี้ที่ครัวเรือนต้องจ่ายมาพิจารณาร่วมด้วยจะพบว่าครัวเรือนที่มีหนี้จะมีปัญหาด้านการเงินที่รุนแรงกว่า และหากพิจารณาตามกลุ่มรายได้พบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มีเงินออมสะสมเพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภคและชำระหนี้ได้ไม่เกิน 3 เดือน จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนรายได้ต่ำที่เป็นหนี้

ผลการวิเคราะห์ข้างต้น ชี้ชัดเจนว่าครัวเรือนรายได้น้อย ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการที่พึ่งพารายรับจากเงินสงเคราะห์และเงินโอนจากบุตรหลานและญาติ ครัวเรือนลูกจ้างเอกชนระดับปฏิบัติการและครัวเรือนกลุ่มเกษตรกรมีความเปราะบางทางการเงินในหลายมิติ คือ (1) ภาระรายจ่ายที่สูงเทียบกับรายได้ (2) ความไม่เพียงพอของเงินออมสะสม และ (3) ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ภาครัฐมีความจำเป็นต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 

158938128470

  • มาตรการ 3C : “เติม Cash ลด Cost เสริม Credit” จากรัฐบาลและ ธปท.เพื่อเยียวยาครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

เติม Cash เพื่อเพิ่มสภาพคล่องโดยตรงให้ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ (1) มาตรการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งให้เงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับแรงงาน ลูกจ้าง หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระนอกประกันสังคม (2) เงินเยียวยาสูงสุดไม่เกิน 7,500 ต่อคน 6 เดือน สำหรับลูกจ้างเอกชนในประกันสังคมที่ว่างงาน (3) โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 5,000 บาทต่อเดือน 3 เดือน (4) การเพิ่มเบี้ยผู้พิการรายละ 1,000 บาท และ (5) การคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา

ลด Cost of Living ช่วยลดภาระค่าครองชีพ ได้แก่ (1) ลดค่าไฟฟ้า ประปา 3 เดือน (2) ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และ (3) เลื่อนชำระภาษี นอกจากนี้ ธปท.ได้ออกมาตรการเลื่อนชำระหนี้จากการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงิน

เสริม Credit ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้และการให้สภาพคล่องเพิ่มเติมผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ ธปท.ได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงินดูแลลูกหนี้ที่เดือดร้อนจาก COVID-19 ให้ดีที่สุด หากท่านมีคำถามเกี่ยวกับมาตรการ สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร.1213 และดูข้อมูลมาตรการของทุกสถาบันการเงินได้ที่เว็บไซต์ ธปท. (bot.or.th) จากคิวอาร์โค้ด ที่ปรากฏในบทความ

  • มาตรการเยียวยาต้องไม่ทิ้งใคร เพราะคนไทยไม่ทิ้งกัน

การช่วยเหลือด้วยมาตรการ 3C ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเยียวยา ประคับประคองให้ครัวเรือนทุกกลุ่มผ่านพ้นมรสุมนี้ไปได้ ในระยะต่อไปภาครัฐอาจพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม หากเห็นว่ายังมีครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาในปัจจุบัน โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่พึ่งพารายรับจากเงินสงเคราะห์และเงินโอนจากบุคคลอื่น ซึ่งมีความเปราะบางทางการเงินสูง ประกอบกับผู้ทำงานหาเลี้ยงคนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบด้วย

สุดท้ายนี้ วิกฤติ COVID-19 จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญที่ทำให้เราได้เห็นคนไทยจับมือไว้ไม่ทิ้งกัน และหากทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ การฟื้นตัวหลัง COVID-19 ก็อาจเกิดขึ้นได้เร็วและมีประสิทธิผล ส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป

[บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย]