ชี้ 'สมุนไพรไทย' ที่ใช้รักษาหวัด มีโอกาสโตสูง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ชี้ 'สมุนไพรไทย' ที่ใช้รักษาหวัด มีโอกาสโตสูง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

“พาณิชย์” เผย “สมุนไพรไทย” หลายชนิด มีโอกาสเติบโตสูง ทั้งฟ้าทลายโจร ขิง กระเทียม หอมแดง มะนาว หลังโควิด-19 ระบาด เหตุคนนิยมบริโภคเพื่อป้องกันหวัด

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาแนวโน้มตลาดสมุนไพรไทย หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า สมุนไพรที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี เช่น ฟ้าทะลายโจร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสมุนไพรต้านหวัด และยังช่วยแก้ไข้ ร้อนใน ระงับการอักเสบของต่อมทอมซิล ขับเสมหะ แก้ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ และช่วยให้เจริญอาหาร ส่วนสมุนไพรอื่นๆ ที่ช่วยรักษาอาการหวัดได้ ก็มีโอกาสเติบโตเช่นเดียวกัน เช่น ขิง ที่มีรสชาติเผ็ดร้อน ลดความดันโลหิต กระเทียม ที่อุดมไปด้วยสารชีวภาพ หอมแดง มีสารประกอบที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และมะนาว ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี
         
ส่วนสมุนไพรเดิมที่อยู่ในแผนแม่บท 4 ชนิด คือ ขมิ้นชัน กระชายดำ ไพล ใบบัวบก ยังคงเติบโตได้ดี เพราะเป็นสมุนไพรที่ตลาดต้องการทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมอาหารที่มีการใช้สมุนไพรบางชนิดในรูปแบบของเครื่องเทศ
         
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็คสรรพคุณ 'ฟ้าทะลายโจร' พร้อมลุ้นผลวิจัยยาต้าน COVID-19!

ผลวิจัยหลอดทดลอง 'ฟ้าทะลายโจร' ฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้

3 วิธีกิน ‘ฟ้าทะลายโจร’ ให้ถูกต้องและปลอดภัยช่วยต้านไวรัส

นอกจากนี้ แนวโน้มอาหารและเครื่องดื่มที่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบมีโอกาสเติบโตสูง โดยในยุโรป อยากได้เครื่องปรุงที่มีส่วนผสมที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เครื่องดื่มที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสมุนไพร หรือในเอเชียและฝั่งตะวันออก ก็มีความต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดเช่นเดียวกัน ทำให้ตลาดสมุนไพร ไม่ใช่แค่ตัวสมุนไพรสดหรือแห้งอีกต่อไป แต่หากสามารถเพิ่มมูลค่าหรือใส่นวัตกรรมเข้าไป ก็จะขยายตัวได้สูง และเพิ่มโอกาสในการส่งออกได้
         
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ในการผลิตสมุนไพร เกษตรกรควรปรับกระบวนการเพาะปลูกให้เป็นอินทรีย์ หรือปลอดสารพิษ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพร ส่วนผู้ประกอบการจะต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะช่วยเหลือด้านการตลาด ทั้งการชี้เป้าตลาดสำคัญของสมุนไพรไทย เงื่อนไข กฎ ระเบียบในการนำเข้าของแต่ละประเทศ ที่ผู้ส่งออกต้องศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในการส่งออกนอกจากการศึกษากฎ ระเบียบต่างๆ โดยละเอียดแล้ว จะต้องศึกษาในเรื่องภาษีนำเข้า แต่หากเป็นประเทศที่ไทยมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ก็ควรจะใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่มีการปรับลดภาษีในสินค้ากลุ่มนี้ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสมุนไพรไทย และที่สำคัญ ควรจะเน้นการบอกเล่าเรื่องราวและคุณประโยชน์ของสมุนไพรไทยว่าดีอย่างไร เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเพิ่มความต้องการบริโภคสมุนไพรไทยเพิ่มขึ้น