มช. พัฒนาอากาศยานไร้คนขับตรวจจับความร้อน รับมือไฟป่าปี 64
มช. เดินหน้า โครงการป้องกันและควบคุมไฟป่าระดับพื้นที่ด้วยระบบอากาศยานไร้คนขับตรวจจับความร้อน เตรียมรับมือในฤดูกาลเกิดไฟป่าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2564 พร้อมจัดอบรม กรมป่าไม้ กรมอุทยาน และ อปท.ที่มีภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่า
จากเหตุการณ์ไฟป่าเชียงใหม่ในปีนี้ ถือว่าหนักหนาและรุนแรงมาก สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า รวมถึงคร่าชีวิตจิตอาสาและเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าที่เข้าไปช่วยกันดับไฟ อีกทั้งส่งผลต่อคุณภาพอากาศ มีค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงติดอันดับหนึ่งของโลกหลายสัปดาห์ติดต่อกัน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะศูนย์กลางสนับสนุนทางวิชาการและเชื่อมโยงทุกภาคส่วนได้ดำเนินการถอดบทเรียนจากวิกฤตการณ์หมอกควันและไฟป่า พร้อมเตรียมนำระบบอากาศยานไร้คนขับตรวจจับความร้อนมาใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขในฤดูกาลหน้า
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือ คณะสังคมศาสตร์ หรือ GISTNORTH ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินงาน "โครงการป้องกันและควบคุมไฟป่าระดับพื้นที่ด้วยระบบอากาศยานไร้คนขับตรวจจับความร้อน" (Thermal UAVS) ขนาดเล็ก เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงานระดับพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน สนับสนุนภารกิจในการป้องกันรักษาป่า โดยแยกการดำเนินงานใน 2 ด้าน คือ
1.ด้านการดำเนินงานเชิงปฏิบัติการจริงโดยได้ทำการทดสอบการทำงานในระดับพื้นที่ในภารกิจการป้องกันและควบคุมไฟป่าพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ดำเนินงานร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอแม่แจ่มโดยท่านนายอำเภอแม่แจ่ม
2.ด้านการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้วย "การพัฒนาระบบต้นแบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจจับไฟป่าด้วยระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กที่เหมาะสม" ในภารกิจการเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าระดับพื้นที่ โดยได้ขอรับทุนสนับสนุนวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน)
การพัฒนาระบบต้นแบบดังกล่าว ได้วางแผนเพื่อเตรียมรับมือในฤดูกาลเกิดไฟป่าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2564 และแผนการจัดอบรมหลักสูตรการใช้งานระบบอากาศยานไร้คนขับตรวจจับความร้อนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานไฟป่า ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยาน และ อปท.ที่มีภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สามารถนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในฤดูกาลเกิดไฟป่าในปีหน้านี้
ด้วยตระหนักถึงมหันตภัยจากไฟป่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้บริหาร คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีส่วนร่วมดำเนินการแก้ปัญหาหมอกควันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ สร้างนวัตกรรมในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์หมอกควัน พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันในอนาคต โดยหวังว่าการเตรียมความพร้อมนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันควบคุมการเกิดไฟป่า ซึ่งท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งการลดปัญหาหมอกควันได้อย่างสำเร็จและยั่งยืน