‘เกษตรกร’ รีบเช็คสถานะ ‘เงินเยียวยา’ 5,000 บาท ก่อนยื่นอุทธรณ์วันสุดท้าย พรุ่งนี้!
โค้งสุดท้าย เกษตรกรรีบตรวจสอบสถานะ รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จาก ธ.ก.ส. ก่อนยื่นอุทธรณ์วันสุดท้าย 5 มิถุนายน 2563 ใครยังไม่ได้เงินบ้าง
ความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการโอนเงินอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด มีเกษตรกรได้รับโอนเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 7.1 ล้านราย ซึ่ง เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์นั้นจะไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการ เราไม่ทิ้งกัน และมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ของภาครัฐ
รายชื่อ และข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยานั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งให้ ธ.ก.ส. ทั้งสิ้น 7.68 ล้านราย แบ่งเป็น
- กลุ่มที่ 1 จำนวน 6.85 ล้านราย
- กลุ่ม 2 จำนวน 8.28 แสนราย
ขณะที่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ ธ.ก.ส. อีก 1.37 แสนราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'ตรวจสอบสิทธิ์เยียวยาเกษตรกร' แจ้งใน 5 มิ.ย.นี้ ยังไม่อด 'เงินเยียวยา 5,000'
- 'เราไม่ทิ้งกัน' ตรวจสอบสิทธิ 'เงินเยียวยา' เปลี่ยนสถานะจ่ายเงินใน 5 มิ.ย.นี้
- เงินเยียวยาเกษตรกร กลุ่ม 1-2-3 เช็คโอนก่อนจบ 15 ส.ค.นี้ แห่อุทธรณ์ 48,621 ราย
หลักเกณฑ์ในการรับเงินเยียวยางวดที่ 2 นั้น ธ.ก.ส.ให้รายละเอียดว่า การโอนเงินงวดที่ 2 จะเป็นไปตามวันที่เกษตรกรได้รับโอนเงินงวดที่ 1 อาทิ ธ.ก.ส.โอนเงินงวดแรกเข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เกษตรกรรายดังกล่าวก็จะได้รับการโอนเงินงวดที่ 2 ในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 และงวดที่ 3 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ดำเนินการมาจนวันนี้ว่า ถึงจะพยายามทำทุกทางเพื่อให้เงินถึงมือเกษตรกรแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้สมบูรณ์แบบ จึงได้มีการเปิดยื่นอุทธรณ์ โดยสั่งการให้ อนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับกระบวนการอุทธรณ์ให้มีความกระชับ ดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด
เกษตรกรผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา สามารถตรวจสอบผลการโอนได้ที่ www.เยียวยาเกษตรกร.com หากติดขัดเรื่องการรับเงินเยียวยา หรือ ไม่เห็นด้วยกับการคัดกรองของระบบ ขอให้รีบอุทธรณ์ไปยัง สำนักงานเกษตรอำเภอจังหวัดนั้นๆ จนถึงวันพรุ่งนี้ (วันที่ 5 มิถุนายน 2563) ก่อนจะหมดสิทธิ์ได้รับเงิน 5,000 บาท
ส่วนเกษตรกรที่แจ้งอุทธรณ์สิทธิ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถตรวจสอบเงินเยียวยาวเกษตรได้ที่ www.moac.go.th หรือ www.ตรวจสอบสิทธิเงินเยียวยาเกษตรกร.com และยื่นอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร ผ่านเว็บไซต์ www.อุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร.com
“หลังจากนี้ ทางกระทรวงการคลังจะมีมาตรการในการเก็บตกอีกส่วนหนึ่งด้วย ดังนั้นการเยียวยาในภาคนี้ผมมั่นใจว่าไปได้อย่างทั่วถึง และจากเสียงตอบรับที่ผ่านมา เกษตรกรก็มีความพึงพอใจ แม้กระทั่งแรงงานประมง ก็มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนในรอบที่ 2 อีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สำหรับ มาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกร จนถึงขณะนี้ ข้อมูลล่าสุด (วันที่ 31 พฤษภาคม 2563) มีผู้ที่ผ่านการคัดกรองจากกระทรวงเกษตรฯ ส่งถึงมือ ธ.ก.ส. ทั้งสิ้น 7,684,132 ราย ดังนี้
- เกษตรกรกลุ่ม 1 ที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 30 เมษายน 2563 จำนวน 6,855,421 ราย
- เกษตรกรกลุ่ม 2 ที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 828,711 ราย
ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2563 ธ.ก.ส.โอนเงินเยียวยาเกษตรกรไปแล้ว 7,103,721 รายจำนวนเงิน 35,518.60 ล้านบาท
เหลือเกษตรกรที่ยังไม่สามารถโอนเงินเยียวยาได้ 580,411 ราย แบ่งเป็น
กลุ่มที่ไม่พบบัญชีเงินฝากชี หรือแจ้งบัญชีไม่ถูกต้อง 356,080 ราย สำหรับ เกษตรกรกลุ่มนี้ ธ.ก.ส. ขอให้รีบตรวจสอบสถานะ และแจ้งหมายเลขบัญชีใหม่ผ่าน www.เยียวยาเกษตรกร.com จากนั้นธนาคารจะดำเนินการโอนเงินเยียวยาให้อีกครั้ง ทุกวันศุกร์ โดยเกษตรกรสามารถใช้บัญชีของธนาคารใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส.
กลุ่มรายชื่อที่ส่งคืนกระทรวงเกษตรฯ เพื่อทบทวนสิทธิ์อีกครั้ง เนื่องจากเป็นบัญชีผู้เสียชีวิต 132,905 ราย จึงต้องรอให้ทางกระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบข้อมูล และพิจารณากลับมาก่อนว่า มีทายาททำการเกษตรแทนหัวหน้าครอบครัวที่เสียชีวิตนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งหากตรวจเสร็จ ธ.ก.ส.ก็พร้อมโอนเงินให้ทันที
กลุ่มข้าราชการ 91,426 ราย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตรกร
ทั้งนี้ เกษตรกร สามารถตรวจสอบสิทธิ์ การรับเงินเยียวยาเกษตรกร ได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. เข้าไปที่ www.เยียวยาเกษตรกร.com
2. คลิกปุ่มสีเหลือง แจ้งช่องทางโอนเงิน/ตรวจสอบผลการโอนเงิน
3. ทำตามขั้นตอน โดยกรอกหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสความปลอดภัย
4. จากนั้นระบบก็จะแจ้งว่า ท่านได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีแล้วหรือไม่ อย่างไร