ทส. ปล่อยทุ่นดักขยะ 7 พื้นที่ รับวันทะเลโลก

ทส. ปล่อยทุ่นดักขยะ 7 พื้นที่ รับวันทะเลโลก

รมว.ทส.วราวุธ แนะแก้ปัญหายั่นยืนด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในการใช้ประโยชน์จากทะเล เสริมนวตกรรม

งานวันทะเลโลก ซึ่งตรงกันวันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี จัดขึ้นในธีม “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร” (Innovation for a Sustainable Ocean) โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประธานเปิดงานในวันนี้ ได้กล่าวเปิดงานว่า ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากท้องทะเล ทั้งเพื่อการท่องเที่ยว การดำรงชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้าน ในทางกลับกัน คนเราก็ทำร้ายทะเลไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสียและการทิ้งขยะลงสู่สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจับสัตว์น้ำจนเกินศักยภาพที่จะรองรับได้

วันทะเลโลก เปรียบเสมือนการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญและคุณประโยชน์ของทะเลและมหาสมุทร ซึ่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องใช้ตามความจำเป็น และศักยภาพที่ธรรมชาติรองรับได้

การเว้นระยะทิ้งช่วงให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวและปรับสมดุลโดยธรรมชาติ เห็นได้ชัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19, นายวราวุธกล่าว

ซึ่งรัฐบาลเอง ได้มีมาตรการงดการเดินทางและปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทุกแห่ง รวมถึงอุทยานแห่งชาติกว่า 140 แห่ง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการได้ฟื้นฟูโดยธรรมชาติ จนพบสัตว์ทะเลหายากในหลายพื้นที่ เช่น ฝูงพะยูน เกือบ 20 ตัว โผล่ว่ายน้ำรวมฝูงกันออกหากินใกล้เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง หรือ ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ มากกว่า 30 ตัว โผล่ขึ้นมาเล่นน้ำใกล้เกาะรอก ฝูงฉลามวาฬ จำนวนมาก ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ฝูงฉลามหูดำ เข้ามาหากินที่หมู่เกาะพีพี และเกาะห้อง จ.กระบี่ หรือการวางไข่ของเต่ามะเฟือง เต่าตนุ และแม้กระทั่งปลาพะยูนเข้ามาใกล้ชายหาดสวนสน จ.ระยอง หลังไม่ได้พบนานนับสิบปี

นายวราวุธกล่าวอีกว่าว่า การดูแลท้องทะเลอันกว้างใหญ่ เพียงแค่เจ้าหน้าที่ภาครัฐคงยากที่จะดูแลได้หมด ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งภาคเอกชน แลทุกประเทศทั่วโลก ทะเลเชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียวกัน ผลจากการกระทำของเรา สามารถส่งผลกระทบไปได้ไกลกว่าที่เราคิด

การใช้เทคโนโลยีอาจช่วยให้การจัดการปัญหาง่ายและรวดเร็วขึ้น แต่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือ ปรับพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อส่งคืนทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์สู่ลูกหลาน นายวราวุธกล่าว

159161293027

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า เพื่อเข้ากับธีมในปีนี้ ได้มีการปล่อยทุ่นดักขยะพร้อมกัน 7 พื้นที่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัดผ่าน VDO Conference และมีการจัดแสดงนิทรรศการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับในการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ระบบพยากรณ์ทางสมุทรศาสตร์กับการเฝ้าระวังปะการังฟอกขาว การประยุกต์ใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจัดวางเป็นปะการังเทียม เป็นต้น

ที่จังหวัดเพชรบุรี นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ทส. เป็นประธานกิจกรรม ที่ ชายหาดชมจันทร์ ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงฯ และเครือข่ายประชาชนอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล กว่า 200 คน โดยมีการวาง Boom ดักขยะบริเวณปากแม่น้ำ เพื่อดักจับขยะก่อนไหลลงสู่ทะเล เช่นกัน

นายยุทธพล กล่าวว่าแม้ 3 เดือนที่ผ่านมาCovid-19 จะทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลหลายแห่งสะอาดขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณขยะพลาสติกและขยะหน้ากากอนามัยที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เพราะที่ผ่านมาขยะทะเลเกือบทั้งหมดล้วนมาจากกิจกรรมการใช้ชีวิตบนชายฝั่ง

ปีก่อน ประเทศไทยขยับจากประเทศที่ปล่อยขยะทะเลมากที่สุดในโลก อันดับ 6 ลงไปอยู่อันดับที่ 10 ฉะนั้นปีนี้เราต้องทำให้ได้ดีกว่าเดิม” นายยุทธพลกล่าว

159161297683

ในขณะเดียวกัน Greenpeace Thailand ได้ออกเคมเปญร่วมเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกร่วมลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) ซึ่งจะช่วยให้ 1 ใน 3 ของพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลกเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์เพื่อเป็นแหล่งฟื้นฟูและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

องค์การสหประชาชาติ (UN) ขยายความของเป้าหมายนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ทั้งบนบกและทะเลบนโลกของเรา 30% จะต้องได้รับการปกป้องเพื่อให้แน่ใจว่าในอนาคตโลกใบนี้จะยังคงเอื้อต่อการเป็นที่อยู่อาศัยต่อไป

หากสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นได้จริงจากการลงนามของผู้นำทั่วโลก การฟื้นฟูของมหาสมุทรทั่วโลกก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” Greenpeace ระบุ

วันทะเลโลก World Oceans Day จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล กำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยสหประชาชาติ เริ่มขึ้นในปี พ.. 2552 โดยแนวความคิดนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.. 2535 จากประเทศแคนาดา ในการประชุมความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) ที่เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล