ครั้งแรก! “ระบบจัดการเวชภัณฑ์ฯ” ยกระดับสาธารณสุขไทย

ครั้งแรก! “ระบบจัดการเวชภัณฑ์ฯ” ยกระดับสาธารณสุขไทย

สธ.ผนึกอว.และมหาวิทยาลัย เปิดตัว “นวัตกรรมระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” ยกระดับสาธารณสุขในวิถีใหม่ New Normal หลังโควิด-19

นวัตกรรมแพลตฟอร์ม “ระบบการจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020 ถือเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าใจปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์ ขาดสมดุลสินค้าคงคลัง การจัดซื้อ รับ กระจายเวชภัณฑ์ ในกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างยาวนานของคณะนักวิจัยที่ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ

โดยแพลตฟอร์มดังกล่าว จะทำให้มีข้อมูลเวชภัณฑ์ การบริหารสินค้าคงคลังที่ขาดสมดุลจัดซื้อ-รับ-กระจายเวชภัณฑ์ และโลจิสติกส์ขนส่งอย่างครบวงจร โปร่งใสสำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงครอบคลุมการบริจาคอัจฉริยะ (Smart Donation) และระบบจัดซื้อกลางเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขของประเทศในวิถีใหม่ซึ่งอาจมีโรคระบาดเกิดขึ้นในอนาคต

เพราะต่อให้ขณะนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น และไทยได้รับการยกย่องด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 6 ของโลก แต่เรื่องระบบการจัดการเวชภัณฑ์ และระบบอื่นๆ ของสาธารณสุขต้องได้รับการต่อยอด พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง อันนำไปสู่สุขภาพ คุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดโรคของประเทศไทย

159168787313

“นพ.สุขุม กาญจนพิมาย” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเปิดตัวแพลตฟอร์มดังกล่าวว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ สธ.ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์ ทำอย่างไรจะให้มีการจัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพรองรับโรคระบาดและภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

การขับเคลื่อนการบริหารออเดอร์เวชภัณฑ์ของประเทศไทยจาก รพ. ทั่วประเทศกว่า 2,641 แห่ง สินค้าคงคลังเชื่อมโยงครบวงจรตั้งแต่จับคู่ข้อมูลความต้องการ (Demand) กับการจัดซื้อและผลิต (Supplies) ที่มีประสิทธิภาพ การขนส่งและกระจายเวชภัณฑ์ที่ตรงกับสต๊อกใช้และทั่วถึง

“ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020 (Smart Medical Supply Platform 2020) เป็นระบบกลางของประเทศเป็นครั้งแรก เพื่อให้หน่วยงาน อย. ใช้ในการจัดสรรและกระจายเวชภัณฑ์อย่างแม่นยำและสมดุล โดยคำนึงถึงความต้องการจริงของโรงพยาบาลทั้งชนิด รุ่น สเปคของเวชภัณฑ์

อีกทั้งวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ของโรงพยาบาล เช่น จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ขนาดของโรงพยาบาล จำนวนผู้ป่วย หรือสถานการณ์ของโรงพยาบาล รวมถึงความรุนแรงของโรค เหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดว่าต้องการเวชภัณฑ์ชนิดไหน ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อรองรับสาธารณสุขวิถีใหม่ New Normal ในอนาคต

“นพ.สรนิต ศิลธรรม” ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)กล่าวว่า อว. มีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีกองทุนวิจัยขนาดใหญ่ ยินดีที่จะส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยของประเทศไทย ซึ่งระบบดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นผลงานวิจัยที่ไม่ขึ้นหิ้งและสามารถจัดการได้จริง ที่เหล่านักวิจัยศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คิดค้น พัฒนาและผลักดันทำให้เกิดงานวิจัยดังกล่าว นวัตกรรมระบบดังกล่าวที่เกิดขึ้นสามารถพัฒนาระบบบริหารจัดการเวชภัณฑ์ เพื่อให้เวชภัณฑ์ทุกประเภทสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลที่ตรงกับความต้องการ กระจายลงพื้นที่อย่างมีคุณภาพและความต้องการจริงได้

159168787472

โครงการ “ระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาเพื่อรองรับสถานการณ์ COVID-19” ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาให้เกิดความสมดุลและเป็นไปตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข

“นพ.ปิยะสกล  สกลสัตยาทร” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่าช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ จะเห็นได้ว่าเวชภัณฑ์มีความสำคัญในการปกป้องบุคลากรการแพทย์ และประชาชน เพราะตอนนั้นขาดแคลนหน้ากากอนามัย และไม่รู้ว่าแต่ละโรงพยาบาล แต่ละพื้นที่มีเวชภัณฑ์มากน้อยหรือไม่อย่างไร ไม่เห็นภาพรวมข้อมูลเวชภัณฑ์ รวมถึงการกระจายไปโรงพยาบาลต่างๆ

ดังนั้น  การพัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งมีความร่วมมือของหลายหน่วยงาน มหาวิทยาลัย จึงทำให้เป็นระบบที่ได้มาตรฐาน มีข้อมูลเวชภัณฑ์ทั้งหมด รู้ว่าส่งกระจายไปที่ไหน เหลืออีกจำนวนเท่าใด  และต้องเติมเวชภัณฑ์เท่าใด เมื่อมีข้อมูลที่เป็นระบบเหล่านี้ จะทำให้โรงพยาบาลได้รับเวชภัณฑ์ตามที่ต้องการอย่างครบถ้วน  เป็นระบบที่มีความมั่นคงและสามารถใช้ต่อไปในอนาคตได้

ประเทศไทยมีโรงพยาบาลรวม 2,641 แห่ง แบ่งเป็น รพ.รัฐ 2,253 แห่ง และ รพ. เอกชน 388 แห่ง ซึ่งหลักการทำงานของ ระบบจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020 จะเริ่มจากการรับข้อมูลรายการสินค้า (Supply) ที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางหรือของบริจาคเข้ามาหน้าเว็บไซด์ ตามรายการสินค้าในระบบฐานข้อมูล (Product Catalogue Database)

ดวงพรรณ กริชชาญชัย” หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงการทำงานของแพลตฟอร์มดังกล่าวว่าการจัดสรรเวชภัณฑ์มีหลักการพิจารณาจากความต้องการเร่งด่วนและปัจจัยต่างๆ ของการระบาด และสถานการณ์โรงพยาบาลเอง ซึ่งจะสร้างความมั่นใจได้ว่าการจัดสรรจากงบส่วนกลางหรือของบริจาคจะไปสู่โรงพยาบาลที่ขาดแคลนและตรงกับความต้องการตามสถานการณ์จริง 

ข้อมูลจะไหลเข้าระบบสต๊อก หรือสินค้าคงคลังเสมือน (Virtual Stock) ระบบจะวิเคราะห์และจัดสรรสต๊อก กับความต้องการของฝั่งโรงพยาบาล (Order Management) ความต้องการของโรงพยาบาลในระบบนี้ มาจากข้อมูลที่โรงพยาบาลกรอกเข้าระบบกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นนำมาผ่าน Algorithm ในการจับคู่ Match โดยพิจารณาถึงจำนวนผู้ป่วย จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ปริมาณที่มีอยู่ และอัตราการใช้ ระดับความรุนแรง เ จากนั้นเมื่อประมวลผลเสร็จสิ้น จะทำให้ได้ใบรายการที่ต้องจัดสรรทั้งหมด ว่าต้องจัดสรรอะไร กระจายไปที่ใด จำนวนเท่าไร และส่งไประบบขนส่งแล้วกระจายต่อไป

159168787324

ประโยชน์ของ “ระบบบริหารจัดการเวชภัณฑ์ประเทศไทย 2020” ทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลกลางด้านสาธารณสุขของประเทศสำหรับสินค้าเวชภัณฑ์ (Product Catalogue Database) สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตอบโต้สถานการณ์โรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เวชภัณฑ์, จำนวนสต๊อกของเวชภัณฑ์ในประเทศไทย รวมไปถึงการคาดคะเนปริมาณความต้องการในการใช้เวชภัณฑ์ในอนาคตได้ ด้านกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาครัฐสามารถประหยัดต้นทุนด้านสาธารณสุข สร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการการกระจายเวชภัณฑ์ด้วยระบบ Matching บนสถานการณ์และข้อมูลที่แท้จริง

ที่สำคัญโรงพยาบาลทั่วประเทศ จะได้รับสินค้าตรงตามต้องการจริงในเวลาที่รวดเร็ว ลดภาระต้นทุนในการมีสต๊อกเวชภัณฑ์ที่ขาดหรือเกินความต้องการ ด้านผู้จัดหาผลิตภัณฑ์สามารถวางแผนบริหารจัดการการผลิตเวชภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องขนส่งสินค้าเข้ามาที่ส่วนกลาง สามารถกระจายสินค้าไปยังโรงพยาบาลที่ต้องการโดยตรงได้ทันที อีกหนึ่งระบบที่จะช่วยยกระดับสาธารณสุขในวิถีใหม่ New Normal