นักเศรษฐศาสตร์ชี้ โควิด-19 กระทบความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น
โควิด-19 กระทบความเหลื่อมล้ำ ส่งผลเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา ไม่เรียนต่อ เหตุต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ด้านกสศ.จับมือ สพฐ.ตชด.อปท. เดินหน้า“ระบบเฝ้าระวังการหลุดออกจากระบบการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาทั่วประเทศ” พร้อมจัดสรรทุนเสมอภาค ช่วยบรรเทาให้มาเรียน
วันที่ 22 มิถุนายน 2563 สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และธนาคารโลกประจำสำนักงานประเทศไทย จัดเวทีเสวนา “จับชีพจรความเสมอภาครับเปิดเทอม สู้วิกฤตให้น้องได้กลับโรงเรียน"
"ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา" กล่าวว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือค่าอาหาร ให้กับนักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่3ในสังกัด สพฐ.ตชด.และอปท.จำนวน 753,997คน ทั่วประเทศโดยกสศ.ได้ใช้โอกาสนี้ร่วมมือกับครูทั้ง3 สังกัด สำรวจความเสี่ยงของนักเรียนยากจนพิเศษ โดยเฉพาะปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษาไปด้วย
เบื้องต้นพบว่า จากข้อมูลที่คุณครูบันทึกผ่านระบบ isee หรือระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยสุ่มสำรวจนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ซึ่งเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด จากข้อมูล ณ วันที่15 มิ.ย.63 พบ นักเรียนยากจนพิเศษ3,180 คน ที่ยังไม่ได้สมัครเรียน ประกอบด้วย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน1,246 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน1,914 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(เฉพาะ ตชด.) จำนวน 20 คน ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าว ยังเป็นตัวเลขเพียงร้อยละ 60 ของนักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ทั้งหมด161,000 คน เท่านั้น
“สาเหตุส่วนใหญ่ที่นักเรียนยังไม่ได้สมัครเรียน คือ ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ร้อยละ 57 มีปัญหาทางการเรียน ครอบครัว สุขภาพ และขาดแคลนทุนทรัพย์ร้อยละ31 ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ร้อยละ10 ไม่มีค่าเดินทางไปสมัครเรียน ร้อยละ 2 ตามลำดับ โดยตัวเลข 3 พันกว่าคนเป็นเพียงชั้น ป.6 และม.3 เท่านั้น ยังมีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงต้นปีการศึกษานี้ด้วยผลกระทบจาก โควิด-19” ไกรยส กล่าว
ช่วงเปิดเทอมในเวลาปกติครัวเรือนยากจน แบกภาระค่าใช้จ่ายเกินกำลัง เมื่อมาเจอผลกระทบโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อน หากวิเคราะห์ตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนยากจน จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนของ สนง.สถิติแห่งชาติเมื่อปี2560 พบว่า ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด10% แรกของประเทศและมีบุตรหลานกำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษารัฐ มีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในแต่ละปีสูงสุดในช่วงเดือนเปิดเทอม รวมเป็นเงิน 1,195-4,829 บาทต่อครัวเรือน ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาของบุตรหลาน (ไม่รวมค่าเดินทาง)
“หากคิดเทียบเฉลี่ยต่อรายได้ครัวเรือนกลุ่มนี้พบว่า ครัวเรือนยากจนในชั้นรายได้ที่1มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง2,020 บาทต่อเดือน จึงสรุปได้ว่าครอบครัวยากจนที่สุด10% แรกของประเทศต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเป็นเกือบทั้งหมดของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ได้รับ ซึ่งนำไปสู่การเกิดหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ และครอบครัวที่ไม่สามารถจัดหาค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ มีแนวโน้มที่จะกระทบโอกาสทางการศึกษา”
ข้อมูลจาก iSEE ทำให้ทราบปัญหาของเด็กๆรายคน สามารถจัดลำดับความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาได้เป็นรายคน เพื่อสนับสนุนการจัดทำ “ระบบเฝ้าระวังการหลุดออกจากระบบการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาทั่วประเทศ” ซึ่งหลังจากที่ กสศ.ได้รับข้อมูลผลการคัดกรองความยากจนและข้อมูลผลกระทบจากโควิด-19แล้ว ทาง กสศ.จะประสานงานกับ ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สพฐ. และสถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือต่อไป
นอกจากนี้ ปีการศึกษา 2563 กสศ.ได้จัดทำโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขต่อเนื่อง ช่วยเหลือนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล–มัธยมศึกษาตอนต้น ในสังกัด สพฐ.อปท.และตชด.ทั่วประเทศ ซึ่งนักเรียนทุนเสมอภาคที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองระดับยากจนพิเศษ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมคนละ3,000 บาท/คน/ปี
โดยในภาคเรียนที่1ปีการศึกษา 2563 กสศ.จะจัดสรรเงินให้นักเรียน2,000 บาทในช่วงเดือนกรฎาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคเรียนของผู้ปกครอง และช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19ได้อย่างทันเวลา โดยจะมีเด็กๆได้รับการช่วยเหลือมากกว่า7.5 แสน งบประมาณราว1,400 ล้านบาท โดยปีการศึกษา 2563เป็นปีแรกที่ เงินทุนเสมอภาคจะดูแลเด็กอนุบาลทั่วประเทศ และยังขยายการดูแลนักเรียนสังกัดอปท.จากเดิม10 จังหวัดเป็น76 จังหวัดด้วย
ด้าน "ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ." กล่าวว่าสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.ได้เตรียมชุดความรู้สำหรับสถานศึกษา ครู และผู้ปกครอง เพื่อเตรียมรับมือ New Normal ในปีการศึกษา 2563 ประกอบด้วย คู่มือรับเปิดเทอม: เรียนรู้และเข้าใจโควิด-19 ชุด Poster หนึ่งวันที่โรงเรียนกับวิธีรับมือโควิด-19 และคู่มือจัดกระบวนการเรียนด้วยตนเองและครอบครัว (Self-directed distant learning handbook) สำหรับเด็กประถมศึกษาสำหรับครู นักเรียน และผู้ปกครอง สามารถ Download และใช้งานได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://research.eef.or.th
ขณะที่ "ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลกประจำสำนักงานประเทศไทย"กล่าวว่า ในอดีตความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยมีปัญหาอยู่แล้วในหลายมิติ ทั้งด้านทรัพยากร ครู โครงสร้างพื้นฐาน และการเรียนออนไลน์ จากการสำรวจของธนาคารโลกเกี่ยวกับปัญหาด้านการศึกษาในสถานการณ์ปกติ พบว่าแต่ละปีมีเด็กยากจนกว่าร้อยละ 30 ต้องหลุดจากระบบการศึกษาอยู่แล้ว และเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ประเทศไทยมองเห็นปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ชัดเจนและหนักขึ้น
“การที่โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทมอออกไป 2 เดือน ทำให้เด็กต้องเรียนช้าลง ระยะเวลาสั้นๆ เราพอที่จะสอนชดเชยได้ แต่ที่ผมห่วงคือหากโรคโควิดระบาดอีกครั้งที่ 2 ถ้าโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทมอออกไปอีกครึ่งปี หรือหนึ่งปี จะทำให้เด็กยากจนที่จากเดิมเข้าเรียนล่าช้ากว่าเกณฑ์อยู่แล้ว 1 ปี ต้องเข้าเรียนล่าช้าเพิ่มไปอีก”ดิลกะ กล่าว
ปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กยากจนต่ำลง สอดคล้องกับผลการสอบ PISA ปี 2020 ที่พบว่าเด็กมีผลการสอบต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 60 ดังนั้น หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ทัน คาดว่าปี 2021 ผลการสอบ PISA ของเด็กยากจนจะยิ่งต่ำกว่าเกณฑ์มากขึ้นไปอีก