Black Lives Matter ต้นทุนของการเหยียดเชื้อชาติสีผิว
ความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจากเชื้อชาติสีผิว หรือกระทั่งความคิด ความเชื่อ ศาสนา เพศ ฯลฯ คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล เป็นปัญหาที่ทั้งสังคมต้องช่วยกันแก้ไข ประเทศไทยต้องถือเป็นบทเรียนและพยายามลดความเหลื่อมล้ำไม่ว่าในมิติใดลงให้ได้
ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติสีผิวได้รับความสนใจ จากเหตุการณ์นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เสียชีวิตระหว่างถูกจับกุมโดยตำรวจผิวขาว การประท้วงกระจายตัวในหลายเมือง สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ปัจจุบันการประท้วงขยายสู่เมืองใหญ่ทั่วโลก
กระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หากเกิดมาแล้วหลายครั้ง ความรุนแรงและอยุติธรรมที่คนผิวดำได้รับถูกสะสมเรื่อยมา อ้างอิงจาก Washington Post คนอเมริกันผิวดำเสี่ยงถูกตำรวจยิงเสียชีวิตสูงกว่าคนอเมริกันผิวขาวมากถึง 2.5 เท่า
- การเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวก่อผลกระทบด้านลบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างน้อย 5 ประการ
ประการแรก ผู้ถูกเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว ได้รับความทุกข์ใจ เครียด วิตกกังวล ถ้าเป็นเด็ก ก็ไม่อยากไปโรงเรียน เพราะโดนเพื่อนแกล้ง มีปัญหาการเข้าสังคม
ประการที่สอง ผู้ถูกเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวเข้าถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจยาก ในวัยทำงาน ก็หางานยาก ส่วนใหญ่เข้าถึงงานรายได้ต่ำ ส่งผลต่อความสามารถในการดำรงชีพและดูแลครอบครัว
ประการที่สาม ปัญหาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้ถูกเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวมีแนวโน้มเผชิญปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งหากสะสมไปเรื่อยๆ ส่งผลต่อสุขภาพกาย ทั้งยังพบว่าในสังคมที่การเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวอยู่ในระดับสูง ผู้ถูกเหยียดมักเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ลำบาก ก่อปัญหาสุขภาพ ย้อนมาทำให้ผู้ถูกเหยียดในวัยแรงงานเหล่านี้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ประเทศสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพ
ประการที่สี่ ความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ เช่น การนัดหยุดงาน การประท้วง การก่อจราจล ดังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ประการที่ห้า ในระยะยาวปัญหาการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวยังทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนรุนแรงขึ้น เพราะผู้ถูกเหยียดลืมตาอ้าปาก เข้าถึงโอกาสในสังคมยาก ขาดการศึกษาและงานที่ดี รุ่นลูกหลานยังต้องตกอยู่ในสถานะยากจนต่อไป
ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำเป็นผลิตผลสำคัญของการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว ขณะเดียวกันก็เป็นตัวเร่งให้ปัญหารุนแรงขึ้น งานสำรวจในสหรัฐ พบว่า 70% ของเด็กผิวดำที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง เมื่อโตขึ้นกลับพบว่ารายได้ครอบครัวลดต่ำลง จนหลุดจากชนชั้นกลางไปสู่ชนชั้นระดับรายได้ต่ำกว่าเดิม
รายงานของ McKinsey ปี 2019 พบว่า โดยเฉลี่ยครอบครัวคนอเมริกันผิวดำมีสินทรัพย์น้อยกว่าครอบครัวคนผิวขาวเกิน 10 เท่า สินทรัพย์ครัวเรือนผิวขาวเพิ่มจาก 100,000 ดอลลาร์ในปี 1992 เป็น 154,000 ดอลลาร์ในปี 2016 ขณะที่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน สินทรัพย์ครัวเรือนของคนผิวดำไม่เพิ่มขึ้นเลย
มีการประเมินว่าสังคมเผชิญต้นทุนความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากช่องว่างสินทรัพย์ของคนผิวดำที่เกิดขึ้น ทำให้การบริโภคและลงทุนหายไป เป็นมูลค่าถึง 1-1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี 2019-2028 หรือคิดเป็น 4-6% ของมูลค่า GDP ปี 2028 ความเหลื่อมล้ำยังส่งผลในมิติสุขภาพ เช่น อัตราการเสียชีวิตระหว่างคลอดบุตรของหญิงอเมริกันผิวดำ สูงกว่าหญิงอเมริกันผิวขาวถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ ยามสังคมเผชิญวิกฤติ เหยื่อของสังคมที่เหลื่อมล้ำ เสี่ยงได้รับผลกระทบมากกว่าคนกลุ่มอื่น
คนผิวดำในวิกฤติ COVID-19 ก็เช่นกัน ในหลายรัฐของสหรัฐ พบว่าจำนวนคนอเมริกันแอฟริกันที่เสียชีวิตจาก COVID-19 สูงกว่าคนกลุ่มอื่น เช่น ที่แคนซัส สัดส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวอเมริกันแอฟริกันจาก COVID-19 อยู่ที่ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้เสียชีวิตรวม ขณะที่สัดส่วนประชากรอเมริกันแอฟริกันของรัฐนั้นมีแค่ 6% หรือที่มิชิแกน สัดส่วนคนอเมริกันแอฟริกันที่เสียชีวิตจาก COVID-19 อยู่ที่ 41% ทั้งที่มีประชากรอเมริกันแอฟริกันเพียง 14% เท่านั้น ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งที่คนอเมริกันแอฟริกันเสียชีวิตมีสัดส่วนสูง เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีพื้นฐานสุขภาพไม่ดี (เช่น โรคเบาหวาน) เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับในอังกฤษ The Institute for Fiscal Studies พบว่า สัดส่วนคนอังกฤษแต่ละเชื้อชาติที่เสียชีวิตจาก COVID-19 แตกต่างกัน คนอังกฤษเชื้อสาย black Caribbean เสียชีวิตสูงกว่าคนขาวถึง 3 เท่า
ความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจากเชื้อชาติสีผิว หรือกระทั่งความคิด ความเชื่อ ศาสนา เพศ ฯลฯ คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล เป็นปัญหาที่ทั้งสังคมต้องช่วยกันแก้ไข ประเทศไทยต้องถือเป็นบทเรียนและพยายามลดความเหลื่อมล้ำไม่ว่าในมิติใดลงให้ได้