โรงเรียนใหญ่สอบตกเว้นระยะห่าง คุมเข้มเปิดเรียนวันแรก1 ก.ค.นี้
จากการใช้แพลตฟอร์ม Thai Stop COVID ตรวจประเมินความพร้อมสถานศึกษาเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิดหลัก 20 ข้อ และมาตรการเสริม 24 ข้อ ในสถานศึกษา จำนวน 38,450 แห่งประเมินเบื้องต้นแล้ว 33,597 แห่ง
พบบว่า 85.7% ผ่านมาตรการทั้ง 44 ข้อ มีบางส่วนที่ไม่ผ่านมาตรการหลัก คือเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ โดยจะต้องดำเนินการให้พร้อมและผ่านการประเมินก่อนเปิดเรียน
โดยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในสถานศึกษา 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1. คัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา ขอความร่วมมือคุณพ่อคุณแม่คุยกับทางโรงเรียนในจุดรับส่ง ถ้าร่วมมือได้ดี เด็กจะเข้าสู่โรงเรียนได้สะดวกยิ่งขึ้น 2. การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา ต้องแนะนำให้เข้าใจ หากรู้สึกอึดอัดสามารถขยับหน้ากากผ้าบางเวลาได้
3.จุดล้างมือ ซึ่งเด็กในโรงเรียนจะถูกฝึกเป็นประจำ 4. การจัดชั้นเรียนแบบมีระยะห่าง 5. ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ที่ใช้ร่วมกัน อะไรที่เตรียมมาจากที่บ้านเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวได้ก็จะช่วยลดปัญหา และ 6. ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน
85.7%ร.ร.ทั่วประเทศเปิด1ก.ค.
“พญ.พรรณพิมล วิปุลากร” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าภายใน 2 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.ค. กรมอนามัยได้มีการออกแนวทางมาตรการการควบคุมโรค จะมีการทำงานร่วมกันระดับพื้นที่ทุกจังหวัด มีกลไกกำกับติดตามตามปกติ และมีทีมงานจิตอาสาผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียน ลงไปช่วยดู 20 มาตรการหลักและแนวทางการควบคุมโรค
นอกจากนี้ ครูต้องบันทึกการเจ็บป่วยของเด็กทุกวัน ซึ่งปกติทำอยู่แล้ว แต่จะเน้นย้ำกลุ่มอาการเสี่ยง เช่น ไข้ ไอ จาม อาการใกล้เคียงกลุ่มโรคเกี่ยวกับโควิดทั้งหมด ซึ่งสาธารณสุขจะรับทราบ แต่ถ้ามีเด็กเจ็บป่วยพร้อมกัน ไอ จาม มีไข้พร้อมกัน 5 รายขึ้นไป ครูจะรายงานไปยังหน่วยงานสาธารณสุขที่อยู่คู่กันทันที เพื่อลงไปดูแลเด็ก ควบคุมโรคโดยเร็ว ลดความเสี่ยงที่จะป่วยจากโควิด หรือหากเจ็บป่วยจะไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงเรียน
ทั้งนี้ การเตรียมแผนรองรับกรณีพบผู้เรียนเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด คือ ต้องมีช่องทางติดต่อกับผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีการจัดพื้นที่แยกส่วน การส่งต่อสถานบริการสาธารณสุข การปิดห้องเรียนหรือปิดสถานศึกษา และการทำความสะอาด ทั้งนี้ ถ้ามีเด็กสงสัยจำเป็นต้องแยกเด็กออกจากชั้นเรียนมาพื้นที่แยกก่อน เพื่อให้ทีมสาธารณสุขลงไปดำเนินการ
“หากวินิจฉัยว่าเป็นโควิดจะมีวิธีการควบคุมโรคลงไปสนับสนุนโรงเรียน ขอให้ความมั่นใจว่าเราจะทำงานคู่ขนานกัน เช่น ถ้า 1 คนติดโควิด จะดูต่อว่าเป็นห้องชั้นเรียนเดียวหรือไม่ ถ้าใช่ก็หยุดชั้นเรียนนั้น และจัดการความสะอาด ดูแลควบคุมสังเกตอาการทุกคนในห้องเรียนเดียวกัน ถ้าเป็น 2-3 คน แสดงว่ากระจายตัวมากกว่า 1 ชั้นเรียนก็จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียนเพื่อมั่นใจว่าควบคุมโรคและจำกัดวงของโรคได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ขณะที่ "
อำนาจ วิชยานุวัติ" เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่าเท่าที่ได้สำรวจภาพรวมของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)นั้น ส่วนใหญ่มีความพร้อมและสามารถเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 ก.ค.ได้ ส่วนที่ต้องมีการปรับปรุงเป็นเพียงส่วนน้อย
ซึ่งสพฐ.ได้กำชับโรงเรียนทุกแห่งให้ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 6 ข้อ รวมถึงข้อปฎิบัติจากการใช้แพลตฟอร์ม Thai Stop COVID ตรวจประเมินความพร้อมสถานศึกษาเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด 44 ข้อ แบ่งเป็น มาตรการหลัก 20 ข้อ และมาตรการเสริม 24 ข้อ โดยโรงเรียนส่วนใหญ่ได้ดำเนินการในส่วน 20 ข้อได้ครบ
“ขอยืนยันว่าตอนนี้โรงเรียนในสังกัดสพฐ.โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่มีความพร้อมเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค. มากส่วนโรงเรียนไหนที่มีปัญหาในเรื่องใดก็ได้ให้แต่ละโรงเรียนดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ดังนั้น ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองเชื่อมั่นในโรงเรียนและเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ”เลขาธิการกพฐ.กล่าว
อย่างไรก็ตามโดยช่วงปิดเทอมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้มีการจัดการเรียนการสอนออนแอร์ และออนไลน์เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการทำความเข้าใจกับครู โรงเรียนผู้ปกครอง และผู้บริหารสถานศึกษาในการเตรียมพร้อมจัดมาตรการให้เป็นไปตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และประกาศศธ.ป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อหากเปิดเทอมมาตลอด
ระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย.เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ) ”พร้อมด้วย“นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ก่อนเปิดภาคเรียน เริ่มจากโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนบ้านเหลี่ยมพิลึก และโรงเรียนบ้านหมากแข้ง พบว่าโรงเรียนต่างๆ มีการเตรียมพร้อมป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นอย่างดี
โดยในส่วนของโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี มีนักเรียนกว่า 3,500 มีครู 220 คน คนและโรงเรียนอุดรพิทยาคม มีนักเรียน 5,000 กว่าคน มีกระบวนการเรียนการสอน และอาคาร สถานที่ต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย มีการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าห้องเรียน/ชั้นเรียน มีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการดำเนินมาตรการต่างๆ และมีจุดล้างมือ ซึ่งทางจังหวัดได้รับความร่วมมือจากทีโอที ในการนำตู้โทรศัพท์มาประดิษฐ์ เป็นที่ล้างมือเท้าเหยียบ เป็นต้น
ปัจจุบันโรงเรียนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มี 29,147 แห่ง จัดการเรียนการสอนปกติ 23,833 แห่ง และมีเรียนแบบผสมผสานออนไซต์กับออนไลน์ 5,314 แห่ง
นายกฯแนะดูแลเด็กเล็กพิเศษ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการรายงานความพร้อมในการเปิดภาคเรียน ว่ากว่าร้อยละ 80 มีความพร้อม แต่บางส่วนที่ยังไม่มีความพร้อม ยังไม่เปิดการเรียนการสอน เช่นเดียวกับนักเรียนชายขอบ ที่ยังไม่อนุญาตให้เข้ามาในขณะนี้ ต้องกำหนดมาตรการให้รัดกุมก่อน พร้อมกำชับไปทุกโรงเรียน ต้องเข้มมาตรการด้านสาธารณสุข และต้องขอความร่วมมือผู้ปกครองอย่างเต็มที่ และให้โรงเรียนดูแลเด็กเล็กเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย
นอกจากนี้ ต้องพิจารณาการเรียนการสอนแนวใหม่ ทั้งการเรียนออนไลน์ การปรับหรือเหลื่อมเวลาของโรงเรียนและชั้นเรียน ทั้งหมดต้องมีประสิทธิภาพ เน้นการปรับและพัฒนาองค์กร บุคลากร ยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอน และทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันดูแล