‘กรีนซีซั่น’ ปักหมุด 3 เมืองสวยในสายฝน
"กรีนซีชั่น" เมืองไทยสวยไม่แพ้ฤดูไหน ปล่อยวางความกังวลเรื่องสายฝน แล้วออนทัวร์สู่ 3 จุดหมายปลายทางที่จะทำให้ได้รีเฟรชร่างกายอย่างเต็มที่
ทุกคนรู้ สื่อรู้ นักท่องเที่ยวรู้...การเดินทางในฤดูฝน คือความโรแมนติกอย่างหนึ่ง และแม้บางคนจะมองว่ามีความไม่สะดวกบางประการ แต่การได้นั่งนิ่งๆ ท่ามกลางความเขียวขจีของแมกไม้ ปล่อยให้เสียงฝนเคล้าเสียงดนตรีเบาๆ จิบเครื่องดื่มอุ่นๆ เฝ้ามองหมอกบางๆ ละเลี่ยผิวดินยามฝนซา คือการรีเฟรซร่างกายขั้นกว่า โดยเฉพาะในยามที่ความยุ่งยากใจถาโถม ร่างกายเริ่มโหยหาทุ่งนาฟ้ากว้าง...
อย่าปล่อยให้ กรีนซีซั่น ผ่านไปเฉยๆ ‘เสาร์สวัสดี’ แนะนำปลายทางสุดชิลให้คุณได้ปักหมุดสำหรับวันหยุดยาวที่จะมาถึง เตรียมแพ็คกระเป๋าพร้อมหมวกและหน้ากากผ้าเก๋ๆ แล้ววางแผนการเดินทางกันเลย
- ทางสายรุ้ง ทุ่งนา‘น่าน’
ว่ากันว่า สีเขียวๆ ของธรรมชาติให้ความรู้สึกสดชื่นเกินร้อย บนเส้นทางสายนี้ไม่เพียงทุ่งนาและทิวเขาเท่านั้นที่นักท่องเที่ยวจะได้เติมความสดใส แต่ถนนที่ทอดยาวจากอำเภอเมืองจังหวัดน่าน ไปสิ้นสุดที่ด่านสากลห้วยโก๋น-น้ำเงิน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีอำเภอกลางๆ ที่ชื่อว่า เชียงกลาง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการพักใจในหน้าฝน
ภาพผืนหน้าสีเขียวสดบนที่ราบกว้างไกลสุดสายตา มองเห็นภูเขาอยู่ลิบๆ คือมุมมองพาโนรามาจากรีสอร์ทชื่อดังในอำเภอเชียงกลางที่หลายคนอาจเคยผ่านตามาบ้าง แต่มากกว่านั้น เมืองเล็กๆ เรียบๆ นี้ยังมีสถานที่ให้ถ่ายรูปฮิปๆ อีกหลายแห่ง
เริ่มจาก สถานีโรงบ่มใบยาสูบ บ้านสบกอน อาคารก่ออิฐสีส้มทรงสี่เหลี่ยมสูงชะลูดหลายสิบหลังเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวในดงหญ้ารกร้าง ที่กลายเป็นโลเคชั่นถ่ายภาพพรีเวดดิ้งในบางเวลา ตามข้อมูลบอกว่าที่นี่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 แต่ละหลังคือหนึ่งเตา มีทั้งหมด 118 เตา ใช้บ่มใบยาเวอร์จิเนียสายพันธุ์ค็อกเกอร์ 347 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ยาสูบจากอเมริกาที่ปลูกในพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ และน่าน
สมัยก่อนการปลูกใบยาสูบอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอำเภอเชียงกลางมานานควบคู่กับการเกษตรอย่างอื่น ในพื้นที่จึงมีโรงบ่มใบยาหลายแห่ง แต่ที่เหลือให้เห็นค่อนข้างสมบูรณ์ก็มีที่นี่เท่านั้น ซึ่งในอดีตใช้วิธีบ่มด้วยไอร้อน ตัวอาคารก่ออิฐมอญฉาบปูนสูงประมาณ 5 เมตร หลังคามุงด้วยสังกะสี มีราวไม้ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีช่องระบายอากาศเป็นจั่วบนยอดหลังคาและเป็นช่องหน้าต่าง ปัจจุบันแม้จะชำรุดทรุดโทรมไปมากแล้ว แต่ถ้ามองผ่านเลนส์นับเป็นภาพถ่ายสายอาร์ตทีเดียว
อีกหนึ่งแห่งที่ควรหาโอกาสไปเช็คอินก็คือ สนามบินเหล็ก ย้อนวันวานของชาวเชียงกลางไปสักครึ่งศตวรรษ สนามบินเก่าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ลำเลียงยุทธปัจจัยในภารกิจปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ตอนบนของจังหวัดน่าน ตั้งแต่ พ.ศ.2506 ในเวลานั้น อิฐ หิน ปูน ทราย เป็นของหายากขาดแคลน จึงต้องนำเอาตะแกรงเหล็กแผ่นนำเข้าจากไต้หวันมาสร้างเป็นรันย์เวย์ สามารถรองรับเครื่องบินลำเลียงขนาดเล็กและเครื่องบินปีกหมุน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่บอกว่ายังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะเริ่มผุพังไปตามกาลเวลา
ทว่าสำหรับสายชิลรักธรรมชาติ แนะนำให้หาจักรยานกับคนนำทางเหมาะๆ ปั่นชมวิวทิวทัศน์ผ่านไร่นา ชุมชน ไปจนถึง จุดชมวิวสะพานแสงตะวัน ชมความสวยงามของอุโมงค์ต้นไผ่ แล้วปั่นไปสิ้นสุดที่ สะพานสายรุ้ง ตรงบริเวณที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน
สุดท้ายเพื่อความเป็นสิริมงคล ควรแวะไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดหนองแดง แหล่งรวมศรัทธาของชาวไทลื้อ ซึ่งในช่วงเข้าพรรษานี้ ‘ต้นเทียนพระพุทธเจ้า' จะออกฝักสีเหลืองอร่าม นับเป็นอีกหนึ่งความพิเศษของในช่วงนี้ที่ ‘เชียงกลาง’ (ข้อมูลเพิ่มเติม สอบถาม ททท. สำนักงานแพร่ โทร 054 521 118 )
- ‘แม่สอด’ กอดหมอกหน้าฝน
สัมผัสแม่สอดในธรรมชาติของฤดูฝน ช่วงเวลาแห่งความสมบูรณ์และสวยงามของผืนป่า ทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์เบาๆ ให้เราได้พอหายคิดถึงการผจญภัย หรือให้ธรรมชาติบำบัดร่างกายปลิดทิ้งซึ่งความเมื่อยล้า และเบื่อหน่ายหลังจากที่ไม่ได้ออกไปไหนมาราวๆ 4 เดือน แม้จังหวัดตากจะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก แต่ธรรมชาติของที่นี่ก็สมบูรณ์ไม่แพ้ใคร
ลำน้ำแม่ละเมา อำเภอแม่สอด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับใครที่อยากหนีความวุ่นวายในเมืองใหญ่สักสองสามวัน มาท่องเที่ยวแนวอีโค่ (ECO) สัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้การอนุรักษ์ป่า ผ่านการล่องแก่งกับอดีตนายพรานวัยเก๋านามว่า ‘ลุงจื้น’ หรือ ‘โรเจอร์’ ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พร้อมเพื่อนๆ ของคุณลุง ที่เป็นทั้งไกด์และมือพายฝีมือดีคอยคุมหัวเรือท้ายเรือ
ก่อนจะแวะตั้งแคมป์ก่อกองไฟ ปรุงอาหารมื้อเที่ยงกันที่จุดพักริมฝั่ง ให้กลิ่นอายของการผจญภัยวิถีแบร์กริลส์ คนติดป่าที่ต้องเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขัน มองหากิ่งไม้เพื่อก่อไฟและไม้ไผ่ลำอวบใช้เป็นกระบอกหุงข้าว พร้อมผ่าเป็นแผ่นๆ วางเรียงกันสำหรับปิ้งหมูปิ้งปลา และยังมีแกงผักพื้นบ้านปลอดสาร จัดให้แบบเต็มอิ่ม เป็นมื้อเที่ยงที่อร่อยแบบเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติสุดๆ
สำหรับเส้นทางเลาะธรรมชาติ ล่องแก่งเรือยางลำน้ำแม่ละเมา มีเส้นทางหลักๆ 3 เส้นทาง เริ่มที่บ้านห้วยแม่หก-บ้านแม่ละเมา ระยะทาง 12 กิโลเมตร ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากระดับความยากเพียง 1-2 เหมาะกับมือใหม่หัดพายเน้นล่องชิลๆ ชมวิถีธรรมชาติและผู้คนริมน้ำ หรือจะไต่ระดับความยากขึ้นมาหน่อยก็ต้องเส้นทางจากบ้านห้วยแม่ยะอุ-สวนป่าแม่ละเมา ระยะทาง 14 กิโลเมตร ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง และที่ท้าทายที่สุดในเส้นทางนี้ต้องยกให้เส้นทางบ้านแม้วธงชัย-บ้านห้วย แม่ยะอุ ระยะทาง 25 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน ค้างแรมกลางป่า ซึ่งน้ำค่อนข้างเชี่ยวและมีแก่งเยอะกว่าอีกสองเส้นทาง
นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมล่องแก่งพร้อมทัวร์สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง พร้อมให้ผจญภัยได้แล้ววันนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก แม่ละเมาอีโคทัวร์ หรือโทร 08 9267 2002
เมื่อสักครู่พาไปล่องแก่งกันมาแล้ว อาจทำให้ร่างกายเมื่อยล้าได้ หรือใครที่มีปัญหาหลับไม่ค่อยสนิท การเผาผลาญไม่ดี ขอแนะนำที่นี่เลย อโรคยาศาล โป่งคำราม ตำบลแม่กาษา ห่างจากจุดล่องแก่งแม่ละเมาราวๆ 100 กิโลเมตร แหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะกับเทรนด์สุขภาพปีนี้อย่างมาก เพราะมีออนเซนน้ำแร่จากธรรมชาติที่ปราศจากกรดและกลิ่นกำมะถัน อุดมไปด้วยแคลเซียมและแมกนีเซียม
ท่ามกลางสีเขียวของทุ่งนาและหุบเขา ตัดกับสีฟ้าครึ้มๆ ของฤดูฝนเป็นฉากหลัง ธรรมชาติกำลังบำบัดเราผ่านน้ำแร่อุณหภูมิไม่เกิน 49 องศาเซลเซียส แช่ในถังไม้โอ๊คขนาดพอดีตัว แนะนำว่าควรแช่สัก 3 รอบสลับกับการอาบน้ำเย็นรอบละ 10-15 นาที หรือเท่าที่ร่างกายจะทนความร้อนไหว แต่ไม่ควรนานเกิน 30 นาที เพราะอาจทำให้ร่างกายช็อกได้
นอกจากการมานอนแช่ออนเซนกับวิวหลักล้านแล้วที่นี่ยังบริการนวดแผนไทย สปาสมุนไพรกับสปาโคนและหากใครเริ่มคอแห้งหิวน้ำขึ้นมา ข้างๆ กันมีคาเฟ่เล็กๆ ให้ได้นั่งจิบกาแฟก่อนเดินทางกลับเป็นอันจบทริปสั้นๆ อย่างสมบูรณ์ ทั้งหมดเปิดให้ทุกคนได้มาผ่อนคลายกันแล้วสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่เพจเฟซบุ๊ก อโรคยาศาล โป่งคำราม หรือโทร 0 95328 9055
- ฝนโปรยที่ ‘กะปง’
กลิ่นกรุ่นของไอดินหลังจากฉ่ำน้ำค้างและน้ำฝนมาตลอดทั้งคืน ทำให้แต่ละลมหายใจที่สูดเข้าไปคือความสดชื่นชุ่มชื้นของป่าทางใต้ ความงดงามทางธรรมชาติของ เมืองกะปง จังหวัดพังงา ตอบคำถามในใจของหลายคนว่า ภาคใต้หน้าฝนเที่ยวได้ไหม?
เช้าตรู่ คือช่วงเวลาดีที่สุดหากจะทำความรู้จักกับ ‘กะปง’ เพราะตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง หลายชีวิตก็เริ่มต้นเคลื่อนไหวแล้ว หากเป็นคนกรุงอาจด้วยเหตุผลว่าจะต้องเร่งรีบทำกิจธุระให้ทันเวลาเดินทางไปทำงานก่อนที่การจราจรจะติดขัด...คนกะปงก็เช่นกัน หากเป็นเช้าวันอาทิตย์พวกเขาจะไปที่ ตลาดนัดปากถัก ตลาดเล็กๆ น่ารักแต่ครบครันด้วยของกินของใช้ และที่หนาแน่นไม่แพ้กันโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนแบบนี้คือไอหมอกที่ห้อมล้อมตลาดนี้ไว้ เรียกได้ว่าเป็น ‘ตลาดในม่านหมอก’ ก็ไม่ผิดนัก
ช่วงที่หมอกปกคลุมมากเมื่อมองจากข้างนอกตลาด ทุกอย่างดูจะเลือนรางไปหมด แต่ภายในตลาดกลับคึกคักด้วยพ่อค้าแม่ขาย ลูกค้ามากมายทั้งจากละแวกนั้นและคนต่างถิ่น ร้านรวงที่มีสินค้าหลายประเภทให้จับจ่ายซื้อหาในราคาสบายกระเป๋า แน่นอนว่าหลายคนมาฝากท้องมื้อเช้ากับที่นี่นอกจากนี้สิ่งที่จะทำให้ต้องว้าวอีกอย่างคือราคาอาหารที่ค่อนข้างถูกแค่นี้ก็เกินคุ้มแล้ว
พอเริ่มสาย ไอแดดจะค่อยๆ ขับไล่หมอกที่เคยหนาให้เบาบางลง พอๆ กับจำนวนคนเดินตลาดที่เริ่มแยกย้ายกลับบ้านไปทำมาหากิน ทว่าความน่ารักของย่านนี้ยังไม่หมด เพราะข้างตลาดคือ คลองกะปง ลำคลองใสสะอาดที่ไหลผ่านอำเภอนี้ และจะแตกต่างจากลำคลองแบบเมืองๆ เพราะมีลักษณะเป็นลำธารธรรมชาติ ริมสองฝั่งคือป่าเขา บางช่วงคือเรือกสวนไร่นา ชาวกะปงยังได้ใช้ประโยชน์จากคลองสายนี้อยู่ นอกจากนี้ยังมี สะพานประชาอุทิศ แลนด์มาร์คสำคัญเป็นเสมือนจุดชมวิวที่หากมาในช่วงเวลาพอเหมาะ สายหมอกจะเรี่ยผิวน้ำ มีต้นไม้และสายน้ำเป็นองค์ประกอบที่ลงตัวสุดๆ
เสน่ห์ยามเช้าของเมืองกะปงอาจทำให้หลายคนหลงใหล แต่อยากให้เหลือพื้นที่หัวใจไว้บ้าง เพราะกะปงคือดงของดีที่เที่ยววันเดียวไม่พอ แล้วถ้ายังคิดไม่ออกว่าไปไหนต่อ ให้ลองนึกถึงน้ำใสๆ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ที่แรกคือแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังประจำอำเภอ น้ำพุร้อนปากพู่ น้ำพุร้อนคาแรกเตอร์จัด คือ มีทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็นไหลมาบรรจบกัน บางจุดร้อน บางจุดเย็น บางจุดอุ่น และบางจุดร้อนๆ เย็นๆ เป็นความสนุกของการแช่น้ำในแบบที่หาได้ยาก
จากตลาดนัดปากถักมุ่งหน้าไปที่หมู่ 4 ตำบลท่านา แม้แดดสายจะเริ่มระอุ แต่สองข้างทางยังเขียวครึ้มร่มรื่น ก่อนจะถึงแหล่งน้ำพุร้อน เส้นทางบางช่วงยังเป็นลูกรัง บรรยากาศป่าเขาช่วยเตรียมความรู้สึกก่อนจะได้สัมผัสน้ำพุร้อนแห่งนี้
น้ำพุร้อนปากพู่มีลักษณะเป็นลำธารยาวกว่า 9 กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่บนภูเขาแล้วไหลไปลงคลองกะปง จุดที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นช่วงที่เรียกว่า คลองปลายพู่ มีบ่อขนาดใหญ่ 1 บ่อ และขนาดเล็กอีก 4-6 บ่อ เรียงรายอยู่ตามลำคลอง โดยไม่มีการก่อสร้างแต่งเติมปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 75 องศาเซลเซียส จึงทำให้นักท่องเที่ยวที่พาครอบครัวมาท่องเที่ยวจะนำไข่ไก่มาแช่ในบ่อน้ำพุร้อนโดยใช้เวลาแช่ประมาณ 20 - 30 นาที
แต่ความพิเศษของบ่อน้ำพุร้อนนี้ต่างจากที่อื่นคือบ่อน้ำพุร้อนจะอยู่รวมกันกับน้ำเย็นในลำธารเดียวกันแบ่งเป็น น้ำเย็นอยู่ฝั่งซ้าย น้ำร้อนอยู่ฝั่งขวา เป็นความมหัศจรรย์ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ
(ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถาม ททท.สำนักงานจังหวัดพังงา โทร.0 7641 3400 - 2)
...
จะขึ้นเหนือหรือล่องใต้ จากเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย ความเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำของกรีนซีซั่นจะเยียวยารักษาหัวใจของคุณเอง