ทางเลือก ‘การศึกษาไทย’ ในยุคโควิด-19
เมื่อโฉมหน้าห้องเรียนหลังเปิดเทอมเปลี่ยนไป จะออกแบบ “การศึกษาไทย” อย่างไร ให้เด็กเรียนรู้ทั้ง ‘ออนไลน์’ และ ‘ออฟไลน์’ ได้อย่างไร้รอยต่อ
แม้โรงเรียนจะสามารถเปิดเทอมภายใต้ความปกติใหม่หรือ New Normal มีการเว้นระยะห่างทางสังคมและสวมหน้ากากเสมอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้เทคโนโลยีในการศึกษาหรือที่เรียกกันว่า ‘เรียนออนไลน์’ มีความจำเป็นมากขึ้นในยุคนี้ นำไปสู่การตั้งคำถามถึงทิศทางของการศึกษาไทย และการออกแบบระบบที่ควรผนวกทั้งการเรียนรู้ ‘ออฟไลน์’ และ ‘ออนไลน์’ เข้าด้วยกัน
นี่จึงเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทย ไม่ใช่เฉพาะเด็กนักเรียน แต่รวมไปถึงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน โรงเรียน คุณครู รวมไปถึงผู้ปกครอง ในการที่จะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยงแปลงของการศึกษาในโลกยุคใหม่ พร้อมใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
- เทคโนโลยีปลดล็อคการศึกษา
“การศึกษาไทยเสมือนทีมฟุตบอล คุณครู โรงเรียนเป็นกองหน้า บทบาทเทคโนโลยีที่เข้ามาไม่ได้เข้ามาทดแทนกองหน้า แต่มาเป็นกองหลังที่มาเสริมให้กองหน้าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนทำให้องค์ประกอบภาพรวมนำทีมไปสู่ชัยชนะได้” พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชันการศึกษา ‘StartDee’ มองภาพการศึกษาไทยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ผ่านงานเสวนา STARTDEE EDUCATION FORUM 2020 ระดมความคิดจากผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษา ร่วมออกแบบการศึกษาให้เด็กไทยเรียนรู้ได้อย่างไร้รอยต่อ
พริษฐ์อธิบายว่า การจะสร้างระบบการศึกษาที่ดีได้นั้น จำเป็นต้องตอบโจทย์ 3 องค์ประกอบสำคัญคือ ต้องมีคุณภาพการสอนที่ดี ระบบที่ราคาไม่สูง และเป็นระบบการศึกษาที่เข้าถึงง่าย ซึ่งศักยภาพของเทคโนโลยีจะทำให้เป้าหมายนั้นเกิดขึ้นจริงได้
โดยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเติมเต็มการศึกษา 4 วิธี หรือที่พริษฐ์เรียกว่า TECH อย่างแรกคือ เนื้อหาการสอน (Teaching) เพราะปัจจุบันระบบการศึกษาไทยก็เจอปัญหาขาดแคลนบุคลากรครูพอสมควร การเข้าถึงบริการบทเรียนคุณภาพที่ให้ความรู้อย่างครอบคลุมทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิตจึงจำเป็น พร้อมๆ กับการให้ประสบการณ์การเรียนใหม่ (Experience) ที่เทคโนโลยีเข้าไปเสริมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนออนไลน์ของนักเรียน ไม่ใช่การถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนแล้วแปะไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยครูในห้องเรียน (Classroom) สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเรียนรู้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ( Handmade/Personalized)
สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ ‘การเรียนออนไลน์’ เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น เมื่อเราพูดถึงคำนี้ในยุคนี้จะเห็นความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง ภาพที่ปรากฏในข่าวของคุณยายคนหนึ่งที่แทบจะเอาเงินออมทุกบาททุกสตางค์ไปซื้อโทรศัพท์มือถือให้หลานได้เรียนออนไลน์ คือผลลัพธ์ของการบังคับไม่ควรจะเกิดขึ้นในวันที่ทุกคนในประเทศยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีร้อยเปอร์เซ็นต์ และด้วยความท้าทายด้านเศรษฐกิจ การบังคับจึงยิ่งตอกย้ำปัญหามากกว่าแก้ปัญหา
“แม้จะ New Normal แต่การมาเจอกัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ ดังนั้นถ้าเอาเทคโนโลยีมาสร้าง ต้องเอามาใช้ควบคู่ไม่ใช่ทดแทน"
เนื้อหาในการเรียนออนไลน์จะต้องไม่ใช่การ Ctrl+C แล้ว Ctrl+V หรือ Copy แล้ว Paste จากในห้องเรียนแปะในออนไลน์ แต่ต้องเป็นการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดรับกับพฤติกรรมของเด็กที่เรียนออนไลน์
จากบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการเรียนทางไกลค่อนข้างสูง ทิศทางการปรับตัวในอนาคตต้องเริ่มจากการตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้ชัด แล้วเริ่มหาทางออกที่สอดคล้องกับบริบทใหม่” มุมของนักวิชาการ ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิชาการด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ทัฬหวิชญ์ ตกผลึกบทเรียนดังกล่าวจากการทำวิจัยและลงไปสำรวจดูปัญหาในวิกฤตการณ์นี้ เขาบอกว่า ‘ความไม่พร้อม’ เป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุด ซึ่งไม่ใช่บทเรียนใหม่ แต่ความไม่พร้อมเป็นปัญหาในระบบการศึกษาไทยมานานแล้ว แต่เพิ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้ง โดยเฉพาะการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนและสื่อการสอนต่างๆ รวมไปถึงความไม่พร้อมของครูผู้สอนด้วย ไม่ใช่ทุกคนที่จะสอนทางไกลได้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ
การออกแบบการศึกษาไทยในอนาคต โดยใช้ออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ปัจจุบันอาจจะต้องมาตั้งเป้ากันใหม่ว่า สุดท้ายแล้ววัตถุประสงค์ของการศึกษา เด็กจบมาเราได้ให้ทักษะอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่เราต้องมาตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนที่จะก้าวไปในอนาคต
“แม้เทคโนโลยีจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย แต่ต้องดูว่าจะใช้อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดและเหมาะกับวัตถุประสงค์ ทั้งเรื่องของ flexibility ที่ต้องยืดหยุ่นมากขึ้น เด็กควรจะได้ทักษะจากการเรียนที่บูรณาการมากขึ้น ชั่วโมงเรียนนอกห้องเรียนก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้เช่นกัน และอย่างสุดท้ายเป็นเรื่องของการปรับบทบาทของผู้ประกอบการ ยกตัวอย่าง Startdee ที่ทำพาร์ทเนอร์กับ AIS แจกซิมฟรี น่าจะมีซิมฟรีแจกให้นักเรียนทั่วประเทศไปเลย”
- บทบาทของครอบครัว
เมื่อทิศทางการศึกษาไทยเป็นยุคแห่งการเข้ามาของเทคโนโลยี และยังคงต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เด็กสามารถหาความรู้จากที่ไหนก็ได้และไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน “พ่อแม่ควรจะมีบทบาทในการดูแลและสนับสนุนอย่างไร?” กัญญาภัค บุญแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ตั้งคำถามถึงบทบาทของผู้ปกครองในยุคโควิด-19
ที่ผ่านมาพ่อแม่และผู้ปกครองอาจทิ้งภาระและความคาดหวังในการศึกษาเล่าเรียนของลูกไว้ที่โรงเรียนอย่างเดียว ทำให้บทบาทของพ่อแม่หลายคนอาจจะถูกลืม แต่หลังจากการมาเยือนของโควิด-19 สถานการณ์ก็ค่อยๆ หลอมให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว
ไม่มีสิ่งใดสำคัญและสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ได้ดีไปกว่าสถาบันครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ต้องมีบทบาทมากขึ้นจริงๆ ในยุคนี้ ยุคที่เด็กๆ สามารถเรียนได้จากทุกที่และเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ให้กับเขา
นอกจากนี้กุญแจสำคัญที่พ่อกับแม่ต้องทำความเข้าใจและให้ความใส่ใจ คือ 'อินฟลูเอนเซอร์' ที่เด็กมักให้ให้ความสำคัญและมองว่าเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กยุคนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาเรียนรู้ได้เร็วผ่านอินฟลูเอนเซอร์ และยึดถือเป็นแรงบันดาลใจในหลายๆ เรื่อง
กัญญาภัค มองว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการส่งเสริมการเรียนหลัง new normal ของลูก แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องปรับตัวให้เท่าทันรูปแบบการเรียนและความสนใจในยุคดิจิทัลให้ได้เสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-study) การเปิดใจและยอมรับพฤติกรรมการเสพข้อมูลบนโลกออนไลน์ของลูก ช่วยเฟ้นหาตัวเลือกเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่เหมาะสมกับลูกที่สุด ไปจนถึงการปลูกฝังการรักการอ่านและทักษะชีวิตที่สำคัญในโลกอนาคต เพราะ ‘การอ่าน’ เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ทุกศาสตร์แม้แต่การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี
- ทักษะชีวิตที่เป็นมิตรกับความฝัน
ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูคณิตศาสตร์จาก โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม เจ้าของไอเดียขับเคลื่อนการสอนรูปแบบใหม่ใน Inskru มองว่าความท้าทายของครูผู้สอนในสถานการณ์เช่นนี้คือ การตั้งคำถามทางไกลที่เด็กจะต้องได้ความรู้เหมือนเดิม รวมถึงชั่วโมงการสอนที่ครูจะต้องปรับตัว เนื่องจากการสลับกันมาเรียนตามมาตรการความปลอดภัย ทำให้บางวิชาต้องเปิดชั่วโมงเรียนเพิ่ม ในส่วนที่โรงเรียนตนนั้นครูร่มเกล้าเล่าว่า ใช้วิธีลดวิชาที่จะเรียนแต่จะเพิ่มชั่วโมงการเรียนรู้แทน หมายความว่าจากตอนแรกมี 10 วิชาตัดเหลือเพียง 5 วิชา โดยแบ่งประเภทวิชาว่าวิชาใดจำเป็นต้องเจอครูมากกว่ากัน ซึ่งชั่วโมงเรียนของวิชานั้นจะเพิ่มขึ้นจากที่เคยเรียน 50 นาทีเป็น 100 นาทีเต็ม นี่คือหัวใจของการปรับการสอนให้สอดคล้องกับบริบทการเรียนที่เปลี่ยนไป
ครูร่มเกล้า มองว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยได้นำมาใช้กันเท่าไรนัก เขายกตัวอย่างหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการสอนเด็กอย่าง QR Sheet
“เริ่มจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีเด็กที่ไม่ค่อยมาโรงเรียนแต่อยากเรียน เพราะส่วนใหญเด็กที่โรงเรียนจะส่งตัวเองเรียน จึงไม่ค่อยมีเวลาเรียน จึงใช้แพลตฟอร์มของ google classroom อัดคลิปวีดีโอสอนเด็ก แต่ 3 ปีที่ทำมาปัญหาคือเด็กบอกว่าไม่สามารถเข้ากูเกิลคลาสรูมได้ จากนั้นจึงพยายามคิดหาวิธีอื่นเพื่อให้เด็กเข้าถึงคลิปวิดีโอการสอนได้ จนเกิดเป็น QR Sheet ขึ้นมา โดยที่จะมีคิวอาร์โค้ดที่ลิงค์กับยูทูบ พอสแกนแล้วเนื้อหาจากชีทก็จะอยู่ในวิดีโอ ทำให้เด็กฟอลโลว์ตามเอกสารไปได้” ครูร่มเกล้าพูดถึงแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยที่ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม
เช่นเดียวกับ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง BASE Playhouse โรงเรียนแนวใหม่ที่ให้เด็กทุกคนเติบโตและเก่งในแบบของตัวเองได้ แชร์มุมมองการทำงานที่ผ่านมาว่า พยายามตั้งโจทย์ให้เด็กไทยเก่งขึ้น ซึ่งคำว่า ‘เก่ง’ ในที่นี้เขานิยามว่า คือการประสบความสำเร็จในเส้นทางที่ตัวเองอยากจะเป็นได้ ไม่จำเป็นต้องเก่งตามความคาดหวังของสังคม แต่ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาเพื่อสร้างความสำเร็จได้ดีที่สุด ดังนั้นความเก่งเกิดจาก 3 อย่าง คือ ความรู้ ชุดความรู้ที่ได้รับจากการทำความเข้าใจ, ทักษะ ที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน และ ความคิด มุมมองหรือทัศนคติ
“ความเก่งในแง่ของอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ ยกตัวอย่างนักวิจัย ซึ่งการเป็นนักวิจัยที่ดี ต้องมีชุดความรู้มหาศาล แต่คำถามคือเราต้องการนักวิจัย หรืออาชีพๆ หนึ่งที่เก่งด้านวิชาการ เพราะยังมีชุดทักษะและความคิดมุมมองอื่นๆ ที่อาชีพนั้นต้องมี”
ข้อดีของ ‘ออนไลน์’ คือ มีสเกลที่ใหญ่ แต่โจทย์ในยุคต่อจากนี้คือ การสร้างทักษะให้เด็กยุคใหม่เก่งได้ โดยใช้สัดส่วนของออนไลน์แพลตฟอร์มมาช่วยอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำลายความสนุก และเสน่ห์ของการฝึกผ่านการลงมือทำจริงด้วย
“การออกแบบการเรียนรู้นอกห้องเรียนในอนาคต นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ต้องคำนึงถึงทักษะ หรือความสามารถอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานด้วย โดยผสานการฝึกฝนผ่านกิจกรรมต่างๆ เข้ากับเทคโนโลยีให้เกิดเป็นประสบการณ์การเรียนที่สนุกอย่างแท้จริง” เมธวิน ทิ้งท้ายโจทย์ใหญ่สำหรับทิศทางการศึกษาแห่งยุคดิจิทัล