ทุนพัฒนาทักษะอาชีพ กสศ. เน้นสอนจับปลาแทนการให้ปลา
กสศ.เข้มคัดเลือกโครงการทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน หลังกระแสตอบรับดีเกินคาด หลายองค์กร เน้นเป้าหมายช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส สอนวิธีการจับปลา แทนการให้ปลา
วันนี้ (18 ก.ค.)ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวถึงการเปิดรับสมัครยื่นข้อเสนอโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 ว่า สำหรับโครงการทุนพัฒนาอาชีพฯ ที่เปิดรับสมัครส่งข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. - 24 มิ.ย. 2563
ปรากฎว่ามีผู้สนใจส่งข้อเสนอโครงการจำนวน 783 โครงการ จาก 73 จังหวัด ครอบคลุม 6 ภูมิภาค โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1.ทุนนวัตกรรมเพื่อชุมชน จำนวน 202 โครงการ และ2.ทุนพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จำนวน 581 โครงการ ซึ่งหากเปรียบเทียบข้อเสนอโครงการในปี พ.ศ.2562 กับ ปี พ.ศ. 2563 มีหน่วยงานที่สนใจเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ยื่นข้อเสนอโครงการมาทั้งหมด111 โครงการ ขณะที่ปี 2563 การยื่นข้อเสนอโครงการเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. เปิดกว้างและเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาทำให้มีความหลากหลายของหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรและกิจการเพื่อสังคม และกลุ่มชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศไทยที่สนใจ โดยจำนวน 783 โครงการ ที่ยื่นข้อเสนอมาสามารถแยกเป็นกลุ่มต่างๆได้
ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาจำนวน 421 โครงการ องค์กรชุมชน (เช่น วิสาหกิจชุมชน กลุ่มสวัสดิการชุมชน กลุ่มสตรีแม่บ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหมู่บ้าน)จำนวน 144 โครงการ องค์กรสาธารณประโยชน์/องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจำนวน 84 โครงการ องค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวน 53 โครงการ หน่วยงานในภาครัฐ และเอกชนจำนวน 29 โครงการ ศูนย์การเรียนรู้/ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน18 โครงการ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) จำนวน13 โครงการ และอื่นๆ จำนวน21 โครงการ
อย่างไรก็ตาม สำหรับจำนวนผู้ส่งข้อเสนอโครงการเข้ามา 783 โครงการ ถือว่าสังคมให้ความสนใจและได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่มีประโยชน์ ตอบโจทย์ประเด็นปัญหาขณะนี้โดยตรง ทำให้หลายภาคส่วนต้องการร่วมพัฒนาไปกับกสศ. และเห็นด้วยกับแนวทางการใช้ชุมชนเป็นฐานซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากสำคัญในปัจจุบัน และหลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มีคนจำนวนมากต้องย้ายกลับถิ่นฐานบ้านเกิด ดังนั้นเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกจะมีหลักการและแนวทางพิจารณาเข้มข้นรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส
จากผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย1.ภาควิชาการ /ภาครัฐ 2.ภาคเอกชน 3.ภาคสื่อมวลชน และ4.ปราชญ์ชาวบ้าน/ท้องถิ่น ที่จะให้มุมมองเชิงบูรณาการภายใต้เกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอโครงการ 3 เกณฑ์หลักสำคัญ 1.ประสบการณ์การทำงานและความร่วมมือการทำงานชุมชน 2.คุณภาพข้อเสนอโครงการ และ 3.ความสอดคล้องของกระบวนการทำงาน องค์ประกอบและกลุ่มเป้าหมาย และในวันที่ 17-19 ก.ค. กสศ. จะจัดประชุมชี้แจงและพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการฯ โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายภาคส่วน ณ โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ/แรงงานฝีมือในชุมชน ผ่านหลักสูตรระยะสั้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทักษะเฉพาะอาชีพโดยปฏิบัติงานจริงในชุมชนหรือสถานประกอบการ 2.ทักษะการบริหารจัดการ 3.ทักษะชีวิตด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน ที่สำคัญอย่างน้อยโครงการนี้จะทำให้มีกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์กว่า10,000 คน ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโมเดลทางธุรกิจโดยมีชุมชนเป็นฐาน คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้น รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อเสนอต่อหน่วยงานนโยบาย หรือองค์กรต่างๆที่สามารถนำรูปแบบไปพัฒนาขยายต่อได้
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า แม้ภาพรวมของประเทศไทยช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จะมุ่งไปที่ไทยแลนด์ 4.0 หากในความเป็นจริงเราทราบกันดีว่ามีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ เรายังมีประชากรกลุ่มใหญ่ที่ตกจากขอบของการพัฒนา ถ้าเรามองข้ามคนกลุ่มนี้ไป ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะยิ่งขยายตัวออกไปไม่สิ้นสุด
ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 จึงเป็นกลุ่มแรงงาน1.0 2.0 ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา กสศ. มองหาวิธีการช่วยเหลือมาตลอด กระทั่งได้บทสรุปว่า “เราต้องสอนให้เขารู้วิธีจับปลา แทนที่จะเอาปลาไปให้เขา และที่สำคัญคือเราต้องแน่ใจว่าเมื่อเขาตกปลาเป็นแล้ว จะต้องมีบ่อ มีสระ มีพันธุ์ปลาที่เขาจะได้นำทักษะตกปลาที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริงด้วย” งานของเราจึงเริ่มที่ชุมชน ต้องรู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีอาชีพอะไรที่ไปได้ดีจริงๆ แล้วชักชวนคนในชุมชนมาฝึกให้นำความก้าวหน้ามาอย่างไม่ฝืนธรรมชาติ และเป็นไปตามศักยภาพของชุมชน
“ในการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 เราได้ตัวแทนเข้าร่วมนำเสนอมุมมองและคัดเลือกโครงการที่น่าสนใจจากบุคคล 4 กลุ่ม เช่น ภาคเอกชน จะมีมุมมองด้านธุรกิจในแง่กิจกรรมว่าเมื่อทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร ไปรอดได้จริงในทางธุรกิจหรือไม่ ภาคสื่อมวลชน ที่มีความเข้าใจมุมมองความคิดของคนทั่วไปได้มากที่สุด เป็นต้น” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว
ทั้งหมดนี้ถือเป็น 4 เสาหลักอันเป็นองค์ประกอบร่วมกันในการทำงาน สำคัญกว่านั้นจะมีผู้คนนับหมื่นคนทั่วประเทศที่ได้รับประโยชน์ มีคนที่รอคอยโอกาสมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม มีคนว่างงานหรือตกงานไม่มีงานทำจากผลของวิกฤตโควิด -19 นี่คือสิ่งที่ผลักดันให้ กสศ.ต้องเร่งทำงาน เพราะยิ่งการพิจารณาเสร็จสิ้นเร็วขึ้นเท่าไหร่ กิจกรรมก็จะเริ่มขึ้นได้เร็วเท่านั้น การพิจารณาข้อเสนอโครงการครั้งนี้ สิ่งที่มีค่าที่สุดจึงไม่ใช่แค่การคัดเลือก แต่เป็นเรื่องของความพร้อมในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้โครงการสามารถนำมาใช้จนเกิดผลสำเร็จได้จริง