เปิดแนวทาง "ปิด-ไม่ปิดสถานที่"เมื่อพบโควิด-19
คร.ร่อนหนังสือถึงผู้ว่าฯทั่วประเทศ กำชับแนวปฏิบัติปิด-ไม่ปิดสถานที่กรณีโรคโควิด-19 ป้องกันการปิดเกินจำเป็น ย้ำปิดเฉพาะที่พบผู้ป่วยยืนยันเท่านั้น หลังปิดเคสทหารอียิปต์ที่ระยอง-ดญ.ซูดานที่กทม.
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นที่จ.ระยองและกรุงเทพฯที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และบทเรียนในการปิด-ไม่ปิดสถานที่ต่างๆ โดยจะปิดสถานที่ต่อเมื่อมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเกิดขึ้นในสถานที่เท่านั้น จะไม่ปิดสถานที่กรณีเป็นสถานที่ที่พบผู้สัมผัส หรือพบผู้สัมผัสของผู้สัมผัส ซึ่งแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย โดยได้ทำหนังสือในนามของเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศแล้ว เพื่อป้องกันการปิดสถานที่เกินความจำเป็น
“ในช่วงหยุดยาวนี้ประชาชนคนไทยสามารถไปได้ทุกจุดในประเทศไทย รวมถึง จ.ระยองและกรุงเทพฯ โดยไม่มีการกักกันหรือเฝ้าระวังแล้ว คนไทยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่บนฐานวิถีชีวิตใหม่ด้วยการระมัดระวังและป้องกันตนเองตลอดเวลา ด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล”นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ด้านพญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวทางการดำเนินการปิดหรือไม่ปิดสถานศึกษา สถานประกอบการ กรณีเกิดโรคโควิด-19นั้น ให้ปิดสถานศึกษา สถานประกอบการ กรณีพบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 โดยหากพบจำนวน 1 รายขึ้นไป ให้ปิดห้องเรียน แผนกที่เกี่ยวข้องในสถานประกอบการเป็นเวลา 3 วันเพื่อทำความสะอาด เมื่อพบผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 1 ห้องเรียนให้ปิดห้องเรียนที่มีผู้ป่วย หรือห้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความสะอาดหรือเมื่อพบผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 1 แผนในสถานประกอบการ ให้ปิดแผนกที่มีผู้ป่วย หรือแผนที่เกี่ยวข้องตามข้อมูลการสอบสวนโรค เป็นเวลา 3 วันเพื่อทำความสะอาด
ไม่ต้องปิดสถานศึกษา สถานประกอบการ กรณีที่ไม่พบผู้ป่วยยืนยันในสถานที่ โดยมีแนวทางดำเนินการ คือ 1.ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงในสถานศึกษา/สถานประกอบการ โดยผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ให้สังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน หากพบอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยระหว่างรอผลให้กักตัวที่บ้าน สถานศึกษา สถานประกอบการดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ และสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจความเสี่ยงและแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป โดยหากมีหลักฐานและความจำเป็นต้องปิดสถานที่ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
2.ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ ให้สังเกตอาการและไม่จำเป็นต้องปิดสถานที่ 3.ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน หยุดงาน แต่ให้สังเกตอาหารเป็นเวลา 14 วัน และ4.ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จัดว่าไม่มีความเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน หยุดงาน แต่ให้สังเกตอาหารเป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้ ในทุกกรณี ขอให้ดำเนินการพื้นฐานของข้อมูลการสอบสวนทางระบาดวิทยาและสถานการณ์โรคในพื้นที่
พญ.วลัยรัตน์ กล่าวอีกว่า ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19ตามข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่ ผู้ที่เรียน ผู้อาศัยร่วมห้องพัก หรือทำงานในห้องเดียวกันหรือคลุกคลีกัน ผู้ที่มีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยไม่มีการป้องกัน ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ในห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ป่วย และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร มากกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ส่วนผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ ได้แก่ ผู้ที่ทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกับผู้ป่วย แต่ไม่เข้าเกณฑ์ตวามเสี่ยงสูง ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จัดเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ และผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จัดว่าไม่มีความเสี่ยง