‘จืด-เข็มทอง โมราษฎร์’ เดินเพื่อแพ้ แล้วเดินทำไม...
ออกเดินเท้าจากจังหวัดสุรินทร์ไปศาลปกครอง กรุงเทพฯ ในฐานะจำเลยที่ถูกฟ้องจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แพ้หรือชนะไม่สำคัญเท่าเรื่องราวที่บอกเล่า
ทั้งๆ รู้อยู่แก่ใจว่า การเดินนับไม้หมอนรถไฟ จากจังหวัดสุรินทร์ไปศาลปกครอง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฏาคม 2563 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในฐานะจำเลยคู่กรณีกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นการกระทำที่คนโง่ๆ ทำกัน เขาก็ยังคงเดินต่อไป และผ่านมากว่าสิบวัน เขาเดินได้เกินครึ่งทาง จากระยะทาง 444 กิโลเมตร โดยตั้งใจว่าจะใช้เวลาเดินทั้งหมด 20 วัน เดินวันละ 24-28 กิโลเมตร
ทุกจังหวัดที่ จืด-เข็มทอง โมราษฎร์ ผู้ก่อตั้ง กลุ่มเด็กรักป่า ที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี เดินผ่าน ก็จะมีมิตรสหายและลูกศิษย์ มาคอยให้กำลังใจ บางกลุ่มยกครกมาตำส้มตำตามประสาคนอีสานที่รักกัน และบางคนเลือกที่จะเดินไปกับเขาสักระยะ
1.เดินเพื่อชนะกิเลสในใจ
เมื่อถามว่า วันแรกๆ ที่ออกเดินจากบ้านที่สุรินทร์ ใครมาส่ง และมีเสื้อผ้ากี่ชุด
"ผมมีเสื้อผ้าสองชุด ผ้าขาวม้า เปลไว้ผูกนอนระหว่างทาง และเสื้อกันฝน วันแรกที่ออกเดินแฟนผม (อารียา โมราษฎร์) มาเปิดประตู แล้วผมก็กอดแฟนขอกำลังใจ จากนั้นเดินออกมา ภรรยาบอกว่าให้กราบพระแม่ธรณีก่อน ผมก็กราบแล้วเอาดินใส่หัว
ผมกับแฟนจะนับถือพระแม่ธรณี เพราะตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก มีพระอินทร์ พระพรหม เทวดา มารอฟัง แต่พอพญามารมา พระอินทร์ พระพรหม เทวดา ก็หนีไปหมด และคนที่มาช่วยเจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ ก็คือ พระแม่ธรณี มาช่วยทำให้น้ำท่วม จนพญามารพ่ายแพ้ไป เรื่องเหล่านี้เป็นแค่กุศโลบายจากภาพเขียนเชิงสัญลักษณ์ให้เราตีความ
เมื่อเจอปัญหาใดก็ตาม ก็ใช้หลักเดียวกับพระพุทธเจ้าคือ ตั้งสติ เพื่อเอาชนะกิเลสในใจเรา อีกอย่างผมเคยบวชเณร เดินธุดงค์ ตอนอายุ 12-13 ปี เดินไม่เกิน 20 กิโลเมตร และผมเคยปั่นจักรยานจากชายแดนเลาะจากอรัญประเทศมาจังหวัดสุรินทร์ จากสุรินทร์เลาะไปจังหวัดเชียงใหม่
ปกติผมทำกิจกรรมพาคนเดินป่า เดินเขาอยู่แล้ว เดินไปช้าๆ เห็นอะไรก็วาดรูป เขียนบทกวี ถ่ายภาพ เอามาแลกเปลี่ยนกัน แต่ไม่ใช่การเดินที่แต่ละวันต้องเดิน 24-28 กิโลเมตร บางวันต้องผ่อนให้เหลือ 15 กิโลเมตร
เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ภรรยาผมเคยเดินเพื่อสันติภาพจากอรัญประเทศไปกรุงพนมเปญ กัมพูชา ระหว่างทางมีระเบิดและคนตาย หรือการอดอาหาร เธอก็มีทักษะมากกว่าผม เธอแนะนำผมว่าให้ตื่นมาเดินแต่เช้า ถ้าทำได้ตั้งแต่ตี 4 ถึง 9 โมงเช้ายิ่งดี และช่วง 10.00 -14.30 น.ให้เคลียร์ภาระที่ต้องทำ แล้ววอร์มนิดหน่อย จากนั้นเดินไปถึงช่วงเย็น เวลาพักก็ให้บริหารบิดตัวด้วยโยคะ และปกติเวลาผมจะทำกิจกรรมอะไร แฟนผมก็ห้ามไม่ได้ ได้แต่สนับสนุน อย่าให้ความห่วงใย เป็นกำแพงกั้นการทำภาระกิจเพื่อส่วนรวมเลย"
2.คนโง่เดินนับไม้หมอนรถไฟ
เดินมาสิบกว่าวัน แม้จะเหนื่อยล้า เท้าบวม รองเท้าขาด คนทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปะเช่นเขา ก็ยังเดินด้วยความรู้สึกเป็นมิตรกับสิ่งรอบตัว ไม่ว่าผู้คน ควาย สุนัข แมว ต้นไม้ ใบหญ้า ก้อนหินและดอกไม้
เขาเลือกเดินบนไม้หมอนรถไฟ ก้อนอิฐที่มีเหลี่ยมคม จะเรียกว่า ฝึกสติ ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว แต่เป็นหนทางที่เลือกแล้ว
“ธรรมดาครับ ผมใช้การเดินเป็นการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม เพราะผมตกเป็นเหยื่อ ผมอยากใช้ร่างกายให้เกิดประโยชน์กับผู้ผลิตสื่อ อยากให้เกิดการปฎิรูปกองทุนพัฒนาสื่อฯ และที่สำคัญคือเหมือนการจาริก เพราะเราติดสบายไป อย่างเจ้าชายสิทธัตถะหนีความสบายในปราสาทออกไปเจอความทุกข์ และปัจจุบันในวัด พระก็สร้างกุฎิที่ติดอยู่กับความสบาย ย้อนศรกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าหนีออกมาบำเพ็ญเพียร”
ในคำตอบที่บอกว่า ธรรมดาๆ แต่ออกเดินไม่กี่วัน รองเท้าธรรมดาที่ใส่ขาดไปหนึ่งคู่ แผ่นหลังลอก เท้าบวมพองเป็นหนอง กระทั่งวันที่ 9 ของการเดิน เพื่อนที่เป็นช่างภาพสัตว์ป่า ซื้อรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ให้
"เพื่อนบางคนที่มารอ บอกว่า เดี๋ยวเช่าโรงแรมให้นอน ผมกลัวมาก กลัวว่าจะติดสบาย ถ้าเราไม่ติดสบายก็จะพร้อมเผชิญกับทุกเรื่อง ในทุกๆ วันที่ผมเดิน จะมีเพื่อนๆ ,นักศึกษาและเยาวชนที่เคยเข้าค่ายเด็กรักป่ามารอที่สถานีรถไฟ หรือไม่ก็เจอนายสถานี ก็ชวนกินโน้นนี่ ให้มุ้งนอน ผมก็เหมือนตัวแทนคนถูกเอารัดเอาเปรียบ เขาก็เลยสนับสนุนให้กำลังใจ
ผมทำงานเด็กรักป่ามานาน มีค่ายนักศึกษารักป่าภาคอีสาน จึงสัมพันธ์กับน้องๆ ในอุบลฯ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา มาจนถึงกรุงเทพฯ มีน้องๆ อาจารย์มาทำกิจกรรมร่วมตลอด เป็นบุญเก่าของผม ตอนผมเจอยายคนหนึ่ง ก่อนเข้าบุรีรัมย์ ยายบอกว่า “ไม่มีเงินหรือ เดี๋ยวยายให้สองบาท” บางทีนอนๆ ตื่นมาเจอควายดมอยู่รอบๆ ตัว
3. ทำไมต้องเดิน...
หากใครยังจำได้ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2562 เขาอดอาหารประท้วง 11 วัน ปักหลักนอนอยู่บริเวณหน้าป้ายอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อเรียกร้องให้รื้อจุดบริการนักท่องเที่ยว ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเส้นทางดั้งเดิมที่ช้างเดินผ่าน และนำมาซึ่งโศกนาฎกรรมช้างตกเหว 11 ตัว
เมื่อถามไปว่า คราวที่แล้วก็อดอาหารเพื่อช้าง ครั้งนี้ออกเดินเพื่อสู้กับกองทุนพัฒนาสื่อฯในเรื่องใด
"เพื่อนบอกว่า เอ็งมีคดีอีกแล้วหรือ เรื่องที่คนเก่งกว่า ฉลาดกว่าทำแล้ว ผมจะไม่ทำ แต่เรื่องไหนหลุดๆ ไม่มีคนทำ อย่างประเด็นสิทธิสัตว์ในธรรมชาติ ไม่ค่อยมีคนทำ เราก็เรียกร้องแทนมัน เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้สังคม
ตอนนี้ผมมีปัญหากับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผมต้องยกเลิกงวดงานที่ 2-3 หลังจากนั้นหนึ่งปี มีการทวงเอกสาร ทั้งๆ ที่มีหนังสือยกเลิกสัญญา ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ เซ็นอนุมัติแล้ว ทางกองทุนพัฒนาสื่อฯ ให้หลายๆ ฝ่ายติดต่อผม เพื่อที่จะให้ผมรับทุนต่อหรือขยายสัญญาทำงาน ผมได้คุยกับทีมผลิตต่างๆ ก็เลยปฎิเสธที่จะกลับไปร่วมงานกับกองทุนพัฒนาสื่อฯ และผมถูกฟ้องว่าผิดสัญญาในการทำโครงการผลิตภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง นกเงือกเทือกเขาบูโด 1 ใน 44 โครงการที่ได้รับการอนุมัติให้ทำโครงการ
ผมถูกฟ้องเรียกเงินคืน ผมจึงออกเดินเพื่อบอกเล่าเรื่องราว เพราะเราก็เหมือนไม้จิ้มฟัน กฎระเบียบของรัฐเหมือนกำแพงเมืองจีน ผมใช้เรื่องเดินเป็นแค่เครื่องมือให้มีการตรวจสอบกองทุนพัฒนาสื่อฯ อยากให้เป็นกองทุนอิสระ
การเดินครั้งนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเอง ผมมองว่า กองทุนพัฒนาสื่อฯมีเรื่องผลประโยชน์หลายประเด็น ในเรื่องการแบ่งสรรปันส่วนกัน บางโครงการผ่าน ทั้งๆ ที่ไม่ผ่านคณะอนุกรรมการ เหมือนมือที่มองไม่เห็น
ไหนๆ ผมก็เรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเองแล้ว พี่น้องที่ทำสื่อเล็กสื่อน้อย ก็ควรใช้โอกาสนี้ มีอิสระปราศจากอำนาจครอบงำ ควรมีสิทธิมีเสียงเท่าสื่อที่เป็นหน่วยงานรัฐ สื่อใหญ่ๆ เอเยนซี่ ถ้าสื่อภาคประชาชนได้ประโยชน์จากการเรียกร้องให้มีการปฎิรูปกองทุนพัฒนาสื่อฯ การเดินของผมก็จะไม่เปล่าประโยชน์
4.แพ้หรือชนะ ยอมรับได้
ถ้าจะให้เล่าเรื่องการถ่ายภาพยนตร์กึ่งสารคดี เรื่อง นกเงือก เทือกเขาบูโด จืด บอกว่า การเดินทางเข้าไปในป่า ต้องไปในฤดูกาลที่นกเงือกออกมา และต้องติดต่อชนกลุ่มน้อยที่นั่น รวมถึงทำหนังสือขออนุญาติเจ้าหน้าที่อุทยาน
"เวลาผมลงพื้นที่ไปถ่ายทำเรื่องนกเงือก เราต้องยื่นหนังสือขออนุญาติจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จ.ยะลา และจ.นราธิวาส รวมถึงกองบัญชาตำรวจตระเวนชายแดน เมื่อหนังสือออกมาก็ต้องไป เพราะนกเงือกออกมาช่วงนั้น ถ้าไม่อยู่ช่วงนั้นจะไม่ได้ถ่ายทำ
อย่างมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยก็ช่วยเราหมด ซึ่งมากกว่าเรื่องเงิน บางทีเราก็ไปกินเผือกกินมันกับคนในพื้นที่ เขาก็ช่วยเรา เราไม่สามารถเอาเงินไปซื้อได้ ทั้งๆ ที่งานเสร็จแล้ว เงินก็ไม่ออก มันทำให้เราสูญเสียโอกาสหลายอย่าง แม้ทุนน้อย แต่ผมก็อยากทำให้ได้มาตรฐาน ผมไม่มีวิธีไหนไปสู้กับเขาก็ต้องเดินนี่แหละ"
เมื่อถามว่า ระหว่างเดินสำรวจจิตใจตัวเอง รู้สึกอย่างไรบ้าง
จืด บอกว่า เวลาพระปฎิบัติกรรมฐาน นั่งสมาธิหรือเดินธุดงค์ จะต้องมีครูบาอาจารย์สอบอารมณ์หลายวัน
"ผมเดินบนทางรถไฟฟ้า ทำให้ใจไม่วอกแวก ไม่อย่างนั้นรถไฟเฉี่ยว ต้องฟังบริบทรอบข้าง ตามองสิ่งรอบตัวไม่เกินสองเมตร อีกอย่างการเดินบนไม้หมอนรถไฟ ถ้าเราวางเท้าไม่ดีจะทำให้เราบาดเจ็บ
ด้วยลักษณะกายภาพทางรถไฟ ใจเราต้องอยู่ที่ไม้หมอน ทำให้จิตเราไม่หลุด ต้องขอบคุณทางรถไฟที่ร้อน หินคม ทำให้สติเราสะดุ้งตลอดเวลา”