'ประกันสังคมช่วยจ่ายค่าเทอม' ไม่มีจริง! แต่มีสิทธิ์รับเงินอะไรบ้าง เช็คที่นี่

'ประกันสังคมช่วยจ่ายค่าเทอม' ไม่มีจริง! แต่มีสิทธิ์รับเงินอะไรบ้าง เช็คที่นี่

กรณีมีสื่อออนไลน์บางสำนัก รายงานว่า "ประกันสังคม" จะมีการช่วยจ่ายค่าเทอมให้กับผู้ประกันตนที่มีบุตรนั้น เรื่องดังกล่าวแม้ "ไม่เป็นความจริง" แต่ผู้ประกันตนยังสามารถรับสิทธิ์เกี่ยวกับ "บุตร" อื่นๆ ได้ อ่านรายละเอียดที่นี่

กรณีมีสื่อออนไลน์บางสำนัก รายงานว่า "ประกันสังคม" จะมีการช่วยจ่ายค่าเทอมให้กับผู้ประกันตนที่มีบุตร จนทำเอาพ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนมากต่างสอบถามและค้นหาข้อมูลกันมากมายนั้น

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ได้ไปค้นหาคำตอบจากเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน โดยขอยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยสำนักงานประกันสังคม ไม่ได้มีมาตรการใดๆ ที่จะ "ช่วยจ่ายค่าเทอม" ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีบุตรเลย

แต่ทั้งนี้ แม้เรื่องดังกล่าวจะ "ไม่เป็นความจริง" แต่ผู้ประกันตนยังสามารถรับสิทธิ์เกี่ยวกับ "บุตร" ผ่านเงินอุดหนุนบุตรได้ โดยมีรายละเอียดที่ต่างกัน ดังนี้  

    

 ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 

ก่อนอื่น เราขออธิบายอย่างย่อสำหรับความแตกต่างระหว่างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 ให้เข้าใจกันเป็นเบื้องต้นก่อน ดังนี้ 

- ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เป็นพนักงานเอกชนทั่วไป และจ่ายเงินสมทบ 5% ของฐานเงินเดือน (สูงสุด 750 บาท/เดือน) และจะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ตาย ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ

- ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยเป็นพนักงานเอกชนแล้วลาออก โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน โดยจะต้องส่งเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน (คิดจากเงินที่ใช้เป็นฐานการคำนวณ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันหมด กำหนดอัตราเงินสมทบที่ 9%) และจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ดังนี้ เจ็บป่วย ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ (ต่างจากมาตรา 33 เพียงเรื่องเดียว คือ ไม่ได้รับชดเชยกรณีว่างงาน)

แม้ว่าสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับของผู้ประกันตนทั้งสองมาตรานี้ อาจต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย แต่หนึ่งในสิทธิที่ได้รับเหมือนกันนั่นคือ "สิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร" เดือนละ 600 บาท ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุครบ 6 ขวบ

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข ของสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร มีดังนี้

  1. ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
  2. จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
  3. ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
  4. อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

การหมดสิทธิ รับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร เกิดขึ้นในกรณี ดังต่อไปนี้

  • เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
  • บุตรเสียชีวิต
  • ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่นี่

 ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 

สำหรับ ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หมายถึง บุคคลทั่วไปที่ประกับอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้าง และไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยจะได้รับความคุ้มครอง 3-4-5 กรณี ขึ้นอยู่กับทางเลือกในการสมทบ ซึ่งมีด้วยกัน 3 ทางเลือก ตามจำนวนเงินที่จ่ายต่อเดือน คือ 70 บาท 100 บาท และ 300 บาท

ซึ่งในทั้งสามทางเลือกการจ่ายเงินดังกล่าว มีเพียงทางเลือกที่ 3 คือจ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาทเท่านั้นที่จะเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน 

แต่ขณะที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร รายละ 600 บาท ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเพียงคนละ 200 บาท (คราวละไม่เกิน 2 คน) เท่านั้น และยังมีเงื่อนไขที่ว่า จะต้องจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 24 ใน 36 เดือน อีกทั้งขณะรับเงินสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนยังจะต้องส่งเงินสมทบทุกเดือนอีกด้วย

แม้จะไม่ใช่เงินมากมายอะไร แต่หากท่านเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบอยู่แล้ว ก็ไม่ควรเสียสิทธิ์ไปเปล่าๆ หรือหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามกับ สำนักงานประกันสังคม ได้ผ่านช่องทางดังนี้ 

- ช่องทางอีเมล์ที่ [email protected]
- ผ่านไลฟ์แชทที่  http://www.sso1506.com/ssolivechat   
- โทรสายด่วน 1506 (ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง)
- เฟซบุ๊ค : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน