กฎหมาย กับการสวมใส่ 'หน้ากากอนามัย'
ส่องกฎหมายทั่วโลกกับมาตรการสวมใส่หน้ากากอนามัย ในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ละประเทศมีความเข้มงวดมากแค่ไหน และสำหรับประเทศไทยมีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง?
ในอดีตหลายประเทศมีบทบัญญัติบังคับไม่ให้มีสิ่งปกปิดใบหน้า เมื่อเข้าไปในอาคารสถานที่ต่างๆ เพื่อการรักษาความปลอดภัย แต่จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าการสวมใส่หน้ากากที่ในปัจจุบันเรามักเรียกกันว่าหน้ากากอนามัย สามารถช่วยป้องกันทั้งการแพร่เชื้อและการติดเชื้อโรคได้นั้น ทำให้นานาประเทศเร่งออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับสหรัฐ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกนั้น รัฐบาลกลางได้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ(recommendation) โดยศูนย์การควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention- CDC) ของสหรัฐแนะนำให้ประชาชนทุกคนสวมใส่ผ้าเพื่อปิดหน้า (a cloth face covering) ในสถานที่สาธารณะในกรณีที่การเว้นระยะห่างทางสังคมสามารถทำได้ยาก นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational Safety and Health Administration–OSHA) ยังได้กำหนดเป็นแนวทางอนุญาตให้ผู้ใช้แรงงานสามารถสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสได้
ส่วนในระดับมลรัฐนั้น แม้มีแนวทางหรือรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะมีกฎหมายในลักษณะที่บังคับให้ประชาชนในมลรัฐของตนสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่สาธารณะ เช่น มลรัฐอริโซนา อาคันซอว์ แคลิฟอร์เนีย มิชิแกน นิวเจอร์ซี นิวยอร์ก เท็กซัส และวอชิงตัน
ในแคนาดา ควิเบกเป็นมณฑลแรกที่ออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปต้องใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปยังสถานที่สาธารณะ โดยมีข้อยกเว้นบางประการ เช่น บุคคลที่มีปัญหาส่วนตัวทางสุขภาพที่ทำให้ไม่อาจสวมใส่หน้ากากอนามัยได้ รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถสวมใส่หรือถอดหน้ากากอนามัยได้ด้วยตนเอง หรือกรณีขณะกินอาหาร เป็นต้น อนึ่ง การใส่หน้ากากคลุมหน้า (face shield)ไม่อาจใช้แทนการใส่หน้ากากอนามัยได้
ทั้งนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดให้เป็นความรับผิดของเจ้าของธุรกิจด้วย หากไม่สามารถกำหนดให้ลูกค้าของตนสวมใส่หน้ากาก โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 400 ถึง 6,000 ดอลลาร์แคนาดา กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา
หลายประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันตก เช่น สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย บอสเนียเฮอร์เซโกวีน่า ออสเตรีย เยอรมนี สเปน อิตาลี โปแลนด์ บัลกาเรีย และเบลเยียม ต่างก็บังคับให้ประชาชนต้องสวมใส่หน้ากากเมื่อออกไปยังร้านค้าต่างๆ ภายในประเทศของตนเองแล้ว นอกจากนี้ ประเทศกรีซก็บังคับให้บุคคลบางอาชีพต้องใส่หน้ากากอนามัย เช่น พนักงานเสิร์ฟอาหาร
อังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูง ได้ออกกฎหมายใหม่บังคับให้ทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกปรับสูงสุดไม่เกิน 100 ปอนด์ โดยจะลดลงเหลือ 50 ปอนด์หากจ่ายค่าปรับภายใน 14 วัน เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2563 อย่างไรก็ดี ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหภาพยุโรป (European Centre for Disease Preventionand Control (ECDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของสหภาพยุโรปที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการป้องกันโรคติดเชื้อในยุโรปได้แสดงความคิดเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวอาจมีปัญหาเนื่องจากไม่อาจบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ขาดประสิทธิผล
ทั้งนี้ แม้จะมีเสียงสะท้อนกลับที่น่าสนใจว่า การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนรวมถึงสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นในการสวมใส่หน้ากาก แต่ลำพังการให้เหตุผลคงไม่สามารถทำให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือเรื่องสวมใส่หน้ากากได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การบังคับโดยการประกาศใช้กฎหมายนั้นจะทำให้ประชาชนให้ความสนใจและใส่ใจมากกว่า ดังเช่นกรณีการบังคับห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะหรือการบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยหรือใส่หมวกกันน็อก
อนึ่ง ยังคงมีประเด็นที่ต้องกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ปัญหาด้านสุขภาพแบบใดบ้างจึงจะถือว่าอยู่ในข้อยกเว้น จะพิสูจน์กลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้อย่างไร และกลุ่มคนเหล่านั้นควรดำเนินการอย่างไรเมื่อต้องไปในที่สาธารณะ
ทั้งนี้ แม้จะมีกฎหมายบังคับให้สวมใส่หน้ากากอนามัยแล้วก็ตาม แต่การกระทำเพื่อการป้องกันต่างๆ อันได้แก่ การเว้นระยะห่าง และมาตรการในการรักษาความสะอาด เพื่อสุขอนามัยยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค
สำหรับไทยนั้น ผู้ว่าฯ มีอำนาจในการออกคำสั่งห้ามบุคคลออกจากเคหสถานโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการกำหนดโทษ ทั้งนี้ผู้พิพากษายังคงมีดุลพินิจในการพิจารณาเป็นรายคดีโดยคำนึงถึงสภาพแห่งข้อหาและการกระทำความผิด ตลอดจนโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้กระทำ ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวก็มีปัญหาในการบังคับใช้เนื่องจากไม่สามารถติดตามตรวจสอบประชาชนทุกคนได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ เมื่อสถานการณ์การติดเชื้อในไทยดีขึ้น เราจะพบเห็นกลุ่มบุคคลที่สวมใส่หน้ากากอนามัยน้อยลง โดยอาจมาจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ความรู้สึกอึดอัด การวางใจในสถานที่หรือสถานการณ์ รวมถึงการประกาศผ่อนคลายความเข้มงวดของรัฐบาล อย่างไรก็ดี เรายังไม่ควรละเลยมาตรการด้านสุขอนามัย เพราะสถานการณ์ยังไม่อาจเป็นที่วางใจได้ว่าจะไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ไม่แสดงอาการ
ความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ทุกขณะไม่ว่าจะมีกฎหมายบังคับหรือไม่ก็ตาม การระมัดระวังตัวเบื้องต้นในทุกย่างก้าวโดยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกสู่ที่สาธารณะจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ทั้งนี้ เพื่อปกป้องชีวิตของตนเอง ครอบครัว รวมถึงคนรอบข้าง เพราะอาจสายเกินไป หากจะเริ่มสวมหน้ากากเมื่อสถานการณ์อยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว