เปิด '5 ทักษะ' ผลิตคนรุ่นใหม่สร้างประเทศ

เปิด '5 ทักษะ' ผลิตคนรุ่นใหม่สร้างประเทศ

ประธาน TMA แนะกำหนด 5 ทักษะหลักสร้างคนรุ่นใหม่ดีกว่าฟุ้งพัฒนาเด็กไทยครบทุกทักษะ ขณะที่อุดมศึกษาต้องเลือกจุดเด่นของตนเอง อย่าป้อนความรู้ในชั้นเรียนอย่างเดียว เน้นเรียนรู้นอกห้องเรียน เสริมประสบการณ์จริง ดึงเอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษา

จากข้อมูลของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(TMA)เปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2563 พบว่าประเทศไทย มีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 77.233 มาอยู่ที่ 75.387 ส่งผลให้ผลการจัดอันดับของประเทศไทย จากอันดับที่ 25 ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 29

โดยปัจจัยหลักที่แบ่งเป็น 4 ด้านนั้น มีผลการจัดอันดับดีขึ้น 2 ด้าน คือด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) จากอันดับที่ 27 มาอยู่ที่อันดับ 23 และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จากอันดับที่ 45 มาอยู่ที่อันดับ 44

สำหรับด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) อันดับแย่ลง จากอันดับที่ 8 มาอยู่อันดับที่ 14 และประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) จากอันดับที่ 20 มาอยู่อันดับที่ 23 ขณะที่เขตเศรษฐกิจซึ่ง IMD ได้ทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พบว่า สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และ ฮ่องกง

159646320394

“ธีรนันท์ ศรีหงส์” ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่าผลจากการจัดอันดับดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ การศึกษา การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม โครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์ และโครงสร้างด้านเทคโนโลยีล้วนส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งในส่วนของการศึกษาไทย ขณะนี้ ต้องยอมรับว่าการจัดการศึกษาของไทยมีปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสร้างคนที่ไม่มีความพร้อมกับโลกในอนาคต

หากต้องขับเคลื่อนองคาพยพในเรื่องนี้จริงๆต้องแก้ปัญหาในหลายด้าน แต่ถ้าเรื่องที่สามารถแนะนำได้ในขณะนี้ คือ การกำหนดทักษะหลักในการจะสร้างทรัพยากรบุคคลของประเทศไทยว่าจะเป็นคนลักษณะใด มีทักษะด้านใดเด่นชัด เพราะการที่กำหนดทักษะที่เด็กรุ่นใหม่ควรจะมีอย่างในปัจจุบันถือว่ามากเกินไป

"ถ้ากลั่นออกมาเพียง5 ทักษะ อาทิทักษะภาษาอังกฤษ การคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการทำงานเป็นทีม เป็นต้นแล้วมุ่งสร้างเด็กรุ่นใหม่ บัณฑิตรุ่นใหม่ให้มีทักษะเหล่านั้นอย่างเข้มแข็ง ก็จะทำให้สามารถขับเคลื่อนองคาพยพ แก้ปัญหาการศึกษาได้จริงดีกว่าไปฟุ้งว่าเด็กไทยต้องมีครบทุกทักษะ ธีรนันท์ กล่าว

159646270155

การแก้ปัญหาเรื่องบัณฑิตว่างงานนั้น ในมุมของ “ธีรนันท์” อธิบายว่าถ้าพิจารณาคุณภาพของบัณฑิตไทยโดยรวมจะอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ใช่ไม่มีความรู้ความสามารถ แต่สาเหตุหลักที่ทำให้บัณฑิตว่าง ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากระบบการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้เอื้อให้พวกเขาได้คิด พัฒนาตัวเองมากเท่ากับการป้อนของอาจารย์ในชั้นเรียน ดังนั้น เมื่อพวกเขาเจอปัญหาที่ซับซ้อน ปัญหานอกตำราเรียน พวกเขาจะแก้ปัญหาไม่ได้ รวมทั้งการขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ เพราะพวกเขาถูกสอนให้รู้ในเนื้อหา มากกว่าสอนเรื่องของความต้องการที่จะเรียนรู้ในระยะยาว

ระบบการศึกษาไทยมีหลายเรื่องที่ต้องแก้ แต่ถ้ามองการดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ ถือว่าประเทศไทยมาไกล และประเทศเองก็มีทรัพยากรที่มากพอในการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยน แต่ต้องอาศัยแนวทางที่ชัดเจน และคนในแวดวงการศึกษา รวมถึงภาคเอกชน ซึ่งมีระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัวกว่าภาครัฐ ต้องเข้ามามีบทบาทในการช่วยจัดการศึกษามากกว่าทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับ หรือผู้ที่จะคอยให้คำวิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว

“ตอนนี้มีภาคเอกชนจำนวนมากที่มีศักยภาพ และพร้อมผลักดันการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ภาครัฐจะเข้ามาเชื่อมโยง และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น อย่างมองเพียงที่มีอยู่ เพราะยังไม่มากพอ ต้องมากกว่านี้” ธีรนันท์ กล่าว

ขณะที่ในส่วนของสถาบันการศึกษาเอง มีการเปิดการเรียนการสอน คณะ สาขาวิชาที่มากเกินไป ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งควรเลือกว่าตัวเองเด่นด้านไหน ควรมุ่งไปด้านนั้น และบูรณาการภายในซึ่งกันและกัน เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เน้นเรื่องเกษตร คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็น คณะวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ ควรเน้นสร้างงานนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ด้านเกษตร เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากกว่ากระจายตัวสอนเหมือนกันหมด เพราะเด็กจบออกมาก็จะไม่แตกต่างกัน ไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจน และล้นจนเอกชนไม่รับ

159646320374

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความรู้มีอยู่มากมาย ดังนั้น การสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะตอนนี้การเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด การแสวงหาประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มแรกเป็นสิ่งที่ดี ระบบฝึกงานควรจะเปลี่ยนให้นักศึกษาได้เริ่มตั้งแต่เรียนปี 1 หรือเรียนไป 1 ปีแล้วให้ออกไปทำงานค่อยกลับมาเรียนต่อ จะทำให้นักศึกษาค้นพบตัวเองได้ดีขึ้น

ส่วนการกำหนดการเรียนการสอน หลักสูตรต้องตอบโจทย์การเรียนรู้ ให้เด็กมีเป้าหมายมากขึ้น เลือกเรียนในสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง ดีกว่าไปเดินอยู่ในระบบการศึกษาแต่เมื่อจบออกมาก็ไม่ได้นำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในสังคม