ใช้ 'เทคโนโลยีแก้ทุจริต' หรือแก้ที่ 'จิตสำนึก' ดีกว่ากัน
ทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา "การทุจริตการสอบบนออนไลน์" ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน หาหวังพึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยลดทอนการทุจริตลงไป คงจะตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด ตราบใดที่ผู้คนยังขาดจิตสำนึก และสำคัญที่สุดหากพบการทุจริตต้องลงโทษอย่างจริงจัง
ประเด็นการสนทนากับเพื่อนๆ ที่เป็นอาจารย์ และคนที่มีลูกเรียนออนไลน์ หนีไม่พ้นเรื่องทุจริตการสอบบนออนไลน์ โดยเฉพาะข้อสอบปรนัย ซึ่งผมสอนให้ลูกซื่อสัตย์แต่กลับถูกบ่นด้วยความน้อยใจว่า คนที่ทำข้อสอบตรงไปตรงมาได้คะแนนต่ำ ส่วนเพื่อนอาจารย์บ่นว่าต้องใช้สารพัดวิธีแก้ปัญหานักศึกษาจากการทุจริตการสอบออนไลน์ ทั้งออกข้อสอบสลับข้อกัน ใช้กล้อง ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ระหว่างทำข้อสอบ เพื่อช่วยป้องกันการทุจริต
ปัญหาการสอบออนไลน์ที่ถกอยู่ขณะนี้ ทำให้ผมนึกถึงสมัยเรียนหนังสือที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ซึ่งมีวิชาหนึ่งที่ตอนสอบไล่อาจารย์จะนัดนักศึกษาให้มารับข้อสอบตอนบ่าย เป็นวิชาออกแบบ จากนั้นนักศึกษาก็จะนำข้อสอบกลับไปทำที่หอพัก และมาส่งในเช้าวันรุ่งขึ้น
ช่วงที่ผมเป็นอาจารย์ใช้แนวเดียวกันกับที่อาจารย์สอน ข้อสอบที่ออกมาต้องเขียนคำตอบยาวๆ ผมเชื่อเสมอว่า ข้อสอบปรนัยอาจไม่เหมาะกับสาขาผม เพราะบางครั้งจะกำหนดกรอบความคิดนักศึกษา และโดยมากจะอนุญาตให้นักศึกษาเปิดหนังสือทำข้อสอบ หรือบางวิชาให้นักศึกษาทำโปรเจคส่งภายในหนึ่งวัน แม้แต่วิชาที่มีนักศึกษาจำนวนมากถึง 500 คน ข้อสอบต้องเป็นบรรยาย และต้องตรวจให้เสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์
มาวันนี้ ผมอาจไม่ได้สอนนักศึกษา แต่ผมยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือ สอนคนทำงาน และอยู่ในแวดวงการศึกษา เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยบางแห่ง และผมก็ยังเรียนหนังสืออยู่เสมอ ทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรออนไลน์
สองปีที่แล้วผมเรียนออนไลน์ของ British Columbia มีข้อสอบและ Quiz ให้ผมทำประจำแล้วก็ต้องเขียนบรรยายส่ง แต่ละครั้งใช้เวลาหลายชั่วโมงและมีอาจารย์ตรวจอย่างละเอียดจากผู้เรียนเกือบร้อยคน
ล่าสุด ต้นเดือน มี.ค. ผมสอบ Google Professional Data Engineer Certification ข้อสอบเป็นแบบปรนัยที่ค่อนข้างยาก สอบออนไลน์แต่ต้องไปสอบที่ศูนย์สอบด้วยการแสดงตัว นั่งอยู่ในห้องคนเดียว มีเจ้าหน้าส่องกล้องดูตลอดเวลา และข้อสอบค่อยๆ ทยอยมาทีละข้อ ผมเคยสอบ Certification Online ด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง 2 ชั่วโมงจากที่บ้าน เป็นข้อสอบปรนัยแต่ต้องเปิดกล้อง และสุดท้ายเป็นการสอบสัมภาษณ์จึงจะสอบผ่าน
ที่เล่ามาทั้งหมด เพียงจะบอกว่าเทคโนโลยีไม่ใช่ประเด็นในการสอบออนไลน์ แต่อยู่ที่วิธีวัดผล หากคิดจะออกข้อสอบปรนัยแบบออนไลน์แล้วจะวัดผลเป็นเรื่องที่ยาก และไม่ได้ผลที่ดี ควรต้องให้เด็กทำข้อสอบบรรยาย และทำรายงาน อาจารย์ต้องขยันตรวจ หากพบเด็กลอกกันต้องปรับตก สังคมไม่ได้ต้องการแค่เด็กเก่งวิชาการ แต่ต้องเป็นคนดีและซื่อสัตย์
สัปดาห์ที่แล้วเพื่อนในวงการไอทีท่านหนึ่ง นำเทคโนโลยีที่บริษัทคิดค้นไปใช้ในการป้องกันการทุจริตการสอบคัดเลือกบรรจุข้าราชการประจำปีของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรามีนวัตกรรม แต่อีกด้านหนึ่งก็น่าตกใจที่เราต้องใช้ทุกวิถีทางในการป้องกันการทุจริตการสอบ ซึ่งก็ไม่น่าจะสามารถป้องกันได้ทั้งหมด ถ้าผู้คนในสังคมไม่มีหิริโอตัปปะ ละอายต่อบาปต่อการทุจริต ต้องไม่ภาคภูมิใจที่ได้สอบผ่านโดยวิธีไม่ถูกต้อง
ในความเป็นจริงการป้องกันการทุจริตต้องอยู่ที่การสร้างจิตสำนักมากกว่าสิ่งอื่นใด การใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา ทำให้ผมนึกถึงเรื่องตลกที่เล่ากันว่า “อินเดีย ได้ชื่อว่ามีขโมยเยอะมาก จึงมีคนประดิษฐ์เครื่องจับขโมยออกมา และนำไปติดตั้งในตลาดเพียงแค่ 5 ชั่วโมง จับขโมยได้ 300 คน ... อเมริกา จึงสั่งซื้อเครื่องจับขโมยมาติดตั้งบ้างเพียงแค่ 3 ชั่วโมง จับขโมยได้ 100 คน และแล้วไทยเราก็สั่งซื้อเครื่องมาติดตั้งบ้างเพียงแค่ 30 นาที เครื่องจับขโมยหาย!!!”
ใช่ครับ เราไม่มีทางคิดเทคโนโลยีใดๆ ที่ป้องกันการทุจริตโดยสมบูรณ์แบบได้ หากผู้คนขาดจิตสำนึก ทุกเทคโนโลยีมีช่องโหว่และคนที่ตั้งใจจะทุจริตจริงก็สามารถหาช่องทางในการทุจริตได้ เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือช่วยป้องกันได้บ้าง ถ้าไม่ใช้เลยนั่นคือ “สังคมที่ดี”
สิ่งสำคัญสุดคือ ต้องสร้างจิตสำนึกให้ผู้คน ตั้งแต่เล็ก ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และสำคัญสุดหากพบการทุจริตต้องลงโทษอย่างจริงจัง และสังคมต้องไม่ยกย่องคนทุจริตที่ร่ำรวยหรือมีตำแหน่งใหญ่โตครับ