'ฟายด์ ฟู้ด' ผูกปิ่นโตเมือง-ชนบท ผลผลิต 'กรีน' จากสวนสู่คนเมือง
แรกก่อตั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ฟายด์ โฟล์ค (Find Folk) เป็นกิจการเพื่อสังคมเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน แต่หลังจากเกิดวิกฤต Covid-19 ในครั้งนี้ได้แตกลายธุรกิจเพิ่มเป็นแกนกลางในการส่งต่อผลผลิตคุณภาพทางการเกษตรจากทั่วประเทศภายใต้ชื่อ ฟายด์ ฟู้ด(Find Food)
ว่ากันว่าช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมาพวกเขาได้รวบรวมสินค้าการเกษตรหลายรายการและสร้างช่องทางในการจำหน่าย ทำรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า 2,000,000 บาทและมียอดสั่งสินค้าชุมชนมากกว่า 300 รายการต่อสัปดาห์ ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชน/เกษตรกร ได้ทันทีผ่านการซื้อผลไม้และอาหารคุณภาพดี
“ต้น- จักรพงษ์ ชินกระโทก”CEO & Founder Find Folk and Find Food Co., Ltd. วัย 26 ปี จบหลักสูตรอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เล่าว่า ‘Find Folk’ กิจการเพื่อสังคมมีเป้าหมาย ‘สร้างชุมชนให้เป็นจุดมุ่งหมายของการเดินทางท่องเที่ยว อย่างรับผิดชอบที่ยั่งยืนด้วยทักษะสำคัญ 5C (Creativity, Critical Thinking, Cross-culture, Collaboration, Communication) เพื่อสร้างระบบนิเวศของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและพัฒนาชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรไปพร้อมกัน
เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ซึ่งถือเป็นลมหายใจหลักของไทย เราคือ Hospitality ระดับโลกที่ใครก็รู้กันดีว่าทำรายได้จากการท่องเที่ยวมหาศาลติดอันดับต้น ๆ ของโลกเสมอ ทว่าตัวเลขรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว เกิดขึ้นมาพร้อมกับการใช้ทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างหนัก จึงต้องมีการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
"การทำธุรกิจเพื่อสังคมหรือ Social enterprise ของ Find Folk จึงเน้นไปที่การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกับชุมชนเจ้าของทรัพยากร เพื่อให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในวงกว้าง ด้วยการสร้างความตระหนักและการรับรู้ให้ผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึงการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืนร่วมกัน"
ทว่าเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำท่าจะอยู่กับเรานานกว่าที่เราคิดมาก และเป็นสิ่งที่ทุกคนได้รับผลกระทบกันทั่วโลก Find Folk เองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถือว่าได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำให้เราทุกคนก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ทุกคนต้องให้ความร่วมมือกัน เกื้อกูลกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
“ช่วงที่ตัดสินใจคือประมาณเดือนมีนาคม ที่ทีมงานลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อทำงานพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว พบกับเหตุการณ์ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เนื่องจากชุมชนเองก็ไม่มั่นใจคนที่มาจากกรุงเทพว่าจะปลอดภัยจากโรคโควิด-19 หรือไม่ ทำให้ทีมงานต้องออกจากพื้นที่ในวันที่ 3 จากแผนเดิมที่ต้องอยู่ในพื้นที่ 5 วัน และกลับมาเริ่มต้นคิดกันใหม่ว่าจะทำยังไงถึงจะสามารถนำพาธุรกิจอยู่รอดไปได้และยังคงเป้าหมายในการทำงานร่วมกับชุมชนให้อยู่รอดไปได้เช่นกัน”
ที่สำคัญมีชาวบ้านหลายชุมชน จากชุมชนท่องเที่ยวในเครือข่ายที่มีอยู่กว่า 50 ชุมชนทั่วประเทศ ได้พูดคุยทีมงานว่าพวกเขาไม่สามารถขายผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ได้ ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลิ้นจี่จากชุมชนดอยผาหมี จ.เชียงรายออกมาพอดี ด้วยความเป็นห่วงและคิดว่าอยากจะช่วยชุมชนในสิ่งที่เราทำได้ ณ เวลานั้น
ทีมงานจึงได้ช่วยกันโพสต์ขายผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และเพจ Find Food ซึ่งตั้งใจจะใช้ในการทดลองขายอาหารและวัตถุดิบจากชุมชนอยู่แล้ว ตอนแรกตกลงว่าจะช่วยขายให้ได้ 500 กิโลกรัมซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมาก แต่ปรากฏว่ามียอดสั่งซื้อเข้ามา 7 ตันภายใน 1 คืน และจนถึงเดือนมิถุนายนทีมงานสามารถช่วยชาวบ้านขายลิ้นจี้และผลไม้อื่น ๆ จากชุมชนได้มากกว่า 50 ตัน สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 1.5 ล้านบาท
ทีมงานจึงได้แนวคิดว่าเครือข่ายและทรัพยากรที่เรามี Find Food น่าจะเป็นแกนกลางในการส่งต่อผลผลิตคุณภาพทางการเกษตรจากทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกับชุมชนและเกษตรท้องถิ่นเพื่อเสนอช่องทางการขายและการตลาด บรรเทาความเดือดร้อนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีการวางแผนระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤต และแผนระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรและชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
จึงได้เกิดเป็น ‘Find Food’ ตัวกลางที่จะเข้ามาสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนไทยตั้งแต่ต้นน้ำ (ชุมชน/เกษตรกร) จนถึงปลายน้ำ (คนเมือง/คนรุ่นใหม่) ที่สามารถสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้แก่ชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรที่ไม่สามารถส่งสินค้าผลผลิตจากเกษตรกรไปถึงมือลูกค้าได้
โดยยึดหลักว่าให้เกิดการผูกปิ่นโตสร้างเครือข่ายที่เหนียวแน่นกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ระหว่างคนเมืองกับเจ้าของสวน สินค้าการเกษตรกรทุกชนิดจะสามารถส่งตรงจากสวนถึงมือผู้สั่งซื้อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้แนวคิด “ผลผลิตต้นทาง ราคาต้นทุน” ด้วยเป้าหมายคือคนไทยเข้าถึงวัตถุดิบและอาหารคุณภาพดีในราคาที่เป็นธรรม
ชุมชนได้ระบายผลผลิตที่ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาดสามารถระบายสินค้าได้ทันเวลาและมีรายได้และ ทุก 5% ของรายได้หลักหักค่าใช้จ่ายสบทบเข้ากองทุนอาหารยั่งยืนโดยคนไทยเพื่อคนไทยในภาวะวิกฤต และในอนาคตจะพัฒนาแพลตฟอร์ม Find Field เป็นสื่อกลางให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้ในราคาที่เป็นธรรมและได้วัตถุดิบคุณภาพดี
‘Find Food อิ่มหลายทาง’ ช่วงที่ผ่านมาเราพยายามกระจายรายได้เพื่อแบ่งเบาและเยียวยาเพื่อนร่วมทาง ยกตัวอย่างเช่น การพยายามบริหารต้นทุนและจัดการการขนส่งให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าจากชุมชนในราคาที่เป็นธรรมจับต้องได้ หรือใช้พี่ๆ รถตู้ที่เคยให้บริการนักท่องเที่ยวมาขนส่งผลผลิตการเกษตรแทน ให้ทุกฝ่ายมีรายได้และอยู่รอดได้ในสภาวะวิกฤต
“การทำธุรกิจของเราเน้นให้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กล่องที่นำมาบรรจุผลไม้จะใช้กระดาษรีไซเคิลและไม่ใช่พลาสติค ปิดกล่องเผื่อใช้ทรัพยากรประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด”
ล่าสุดได้ร่วมกับ “SE-ED”ส่งต่อผลผลิตชุมชนจากทั่วไทยถึงมือสมาชิกซีเอ็ด 10 คนทุกเดือนสมาชิกซีเอ็ดจะได้รับผลไม้สดๆจากสวน เช่น มังคุด อะโวคาโด้ ฝรั่ง จากสวนไร่นาและทะเลทั่วไทย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารหรือวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้โดยตรงและรวดเร็ว
“สวรรย์ พิภูษณานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนสมาชิก “ซีเอ็ดการ์ด”มีทั้งหมดที่ 1.7 ล้านคนซึ่งจะมีการ จับรางวัลทุกวันที่ 20 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยผลผลิตนั้นจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป นอกจากสมาชิกจะได้ชิมของอร่อยจากชุมชนแล้วยังมีส่วนในการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและเกษตรกรทั่วไทยอีกด้วย