‘เบตง’ สายสตรีท ปักหมุด 'สตรีทอาร์ต & สตรีทฟู้ด' รูทการท่องเที่ยวใหม่หลังโควิด
ปักหมุด "เบตง" เมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ทางการท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหารและศิลปะ โดยเฉพาะ "สตรีทอาร์ต" และ "สตรีทฟู้ด" จุดขายใหม่ที่รอนักท่องเที่ยวเดินทางไป ชม แชะ ชิม
‘เบตง’ เมืองสุดท้ายปลายด้ามขวาน ที่อยู่ไกลจากกรุงเทพฯถึง 1156 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดยะลา 140 กิโลเมตร บางครั้งก็ดูเหมือนห่างไกลจากการรับรู้ของคนไทยทั่วๆ ไป
ความคุ้นเคยที่มีต่อเบตงของใครหลายคนจึงอยู่แค่ประโยคสั้นๆ ‘โอเค เบตง’ ซึ่งเป็นชื่อภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2546 กำกับโดยนนทรีย์ นิมิบุตร ว่าด้วยเรื่องราวของชาวไทยพุทธและมุสลิม ที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข ท่ามกลางความรุนแรงที่เริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งในวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น
ด้วยความผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม สภาพภูมิศาสตร์ รวมไปถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ทำให้ ‘เบตง’ ยังคงรักษาวิถีอันเรียบง่ายสงบสุขไว้ได้ และนั่นคือเสน่ห์ของเมืองท่องเที่ยวที่รอแค่การเจียระไนอย่างเหมาะสม
- โอเอซิสชายแดนใต้
หากไล่ลำดับจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว เบตงถือว่าจบครบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร หรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทว่าที่ผ่านมา ท่ามกลางความอึมครึมของบรรยากาศความไม่สงบในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนใต้ เส้นทางคดเคี้ยวตามแนวภูเขาที่ลากยาวจากอำเภอเมืองไปยังเบตง กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เมืองนี้ไม่อยู่ในท็อปลิสต์ของคนไทยภาคอื่นๆ
ถึงอย่างนั้น ใช่ว่าเบตงจะไม่คึกคักในเชิงการท่องเที่ยว ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเบตงประมาณปีละ 5 แสนคน เพียงแต่ในจำนวนนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวมาเลเซีย รองลงมาคือสิงคโปร์ มีคนไทยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และหากขยายสเกลไปดูตัวเลขรายได้ของการท่องเที่ยวจังหวัดยะลา ปี 2561 มีรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี หากไม่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
“ช่วงโควิด โรงแรมบางแห่งยอดเข้าพักเป็นศูนย์ เบตงเป็นเมืองชายแดนที่ติดกับมาเลเซีย ลูกค้าหลักคือมาเลเซีย โควิดปิดทุกอย่าง โรงแรมปิด กระทบถึงร้านอาหาร กระทบถึงตลาดสด กระทบถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ปลูกผัก กระทบหมดเลย
แต่เบตงดีที่ว่า เราเป็นเมืองที่ดินดี น้ำดี อากาศดี เราได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจแต่เราก็ยังมีของดีที่อยู่ที่บ้าน มีผัก มีปลา มีไก่ เราก็อยู่ที่บ้านกันช่วงล็อกดาวน์ แล้วเบตงก็ยืนระยะความเป็น 0 คือไม่มีผู้ติดเชื้อเลย เราให้ความร่วมมือ ใส่แมสก์ ล้างมือ ไม่ไปรวมกลุ่ม นี่คือสิ่งที่คนเบตงทำในช่วงโควิด
วันนี้พอมีการเปิดเมือง เราก็มาช่วยกันประชาสัมพันธ์ ช่วยกันต้อนรับแขก ประกอบกับเมืองเบตงมีธรรมชาติสวย คนเบตงก็ปรับตัวทำการท่องเที่ยว มีการท่องเที่ยวเชิงเกษตร รับนักท่องเที่ยวไปชิมทุเรียนในสวน มีการทำบ่อปลาในสายน้ำไหล มีร้านอาหารข้างใน มีทะเลสาบที่สวย มีทะเลหมอกที่ดูได้ตลอด” โกเอ็กซ์–เอกสิทธิ ธารีลาภรักษา กล่าวในนามคนเบตง ถึงความหวังหลังคลายล็อกดาวน์ เมื่อคนไทยกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง
- สตรีทอาร์ต & สตรีทฟู้ด
ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง สวนหมื่นบุปผา อุโมงค์ปิยะมิตร ตู้ไปรษณีย์ยักษ์... แม้ว่าจุดเช็คอินเหล่านี้จะยังเป็นไฮไลท์ของการท่องเที่ยวเบตง แต่คนที่นี่ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะเติมสีสันให้กับเมือง
สตรีทอาร์ต หรือภาพวาดบนกำแพงที่เคยมีอยู่จำนวนหนึ่งแล้วในเบตง และได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยว เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการระดมศิลปินมาวาดเพิ่มเติมอีกกว่า 30 ภาพ เพื่อสะท้อนเรื่องราวของคนเบตง เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอาหาร ผ่านเส้นทางเดินเท้าที่ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่าเมืองเล็กๆ แห่งนี้มีเสน่ห์เหลือล้น
“ล่าสุดเป็นการวาดครั้งที่ 3 เริ่มทำประมาณเดือนมกราคม 63 รวมเกือบ 30 ภาพ กระจายทั่วเมือง แต่เสียดายพอทำเสร็จก็ติดล็อกดาวน์โควิดพอดี” โกเอ็กซ์ บอก
เขาเล่าย้อนถึงครั้งแรกที่เริ่มทำสตรีทอาร์ตในเบตงเมื่อหลายปีก่อนว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ตอนนั้นไม่มีใครยอมให้วาดบนกำแพงบ้านตัวเอง แต่หลังจากเห็นผลงานกลายเป็นว่ามาเรียกให้ไปวาดกันใหญ่ แถมยังนำอาหาร ข้าวของต่างๆ มาให้ศิลปินด้วย
“ครั้งที่ 2 ปี 62 เกิดจากผมกับเพื่อนอยากให้มันต่อเนื่อง ก็เลยออกเงินกันเอง ประมาณ 6 ชิ้น และเป็นจุดกำเนิดครั้งที่ 3 เพราะบริษัทสีเอทีเอ็มอยากสนับสนุน ซึ่งครั้งนี้เราเลือกกำแพงโดยตั้งใจต่อยอดกับสตรีทฟู้ดในอนาคต ยึดหลักตามอาหารที่เขาขายอยู่เดิม และกำหนดเส้นทางที่อยากให้นักท่องเที่ยวได้เดิน ได้ไปเจอร้านจริงๆ โดยไม่ต้องมาจัดวางอะไร”
สตรีทอาร์ตชุดใหม่จึงแทรกอยู่ระหว่างวิถีชีวิต บนรอยต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบันเมือง อาทิเช่น ภาพซาลาเปาที่ร้านติ่มซำ ภาพเชิดสิงโตที่ร้านธูป ภาพด็กสมบูรณ์บนรถสิบล้อที่ร้านซีอิ๊ว ภาพไก่ที่ร้านข้าวมันไก่ ภาพแม่ค้าขายผัก บริเวณแผงผักในตลาดนัดตอนเช้า เป็นต้น
"อย่างภาพรถสวน ที่อยู่ติดกับโรงซีอิ๊ว ภาพนี้จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางในอดีตของคนเบตง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้าเกษตร การเดินทางไปมาหาสู่ รวมทั้งการไปโรงเรียนตอนเช้าๆ ในภาพก็จะเห็นเด็กแต่งชุุดนักเรียนขึ้นเต็มรถ เป็นรถสิบล้อคันใหญ่ เป็นภาพที่คนเบตงได้ย้อนรำลึกถึงสิ่งที่ตัวเองเป็น
อีกภาพคือ นักบาส 2 คน อายุ 70-80 ปี ซึ่งกีฬาในเบตงที่ดังมากก็คือบาส แล้วภาพนี้มันมีอีกหนึ่งความหมายคือ เรื่องของความเสียสละและกตัญญู ในภาพมีถ้วยทองคำของนักบาสหญิงที่ได้มาจากการแข่งขันกับจังหวัดใกล้เคียง ถ้วยนี้ถูกนำไปขายเพื่อเอาเงินไปทำกิจกรรมในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่”
ที่มาของแต่ละภาพไม่เพียงสะท้อนอัตลักษณ์ของเบตง แต่ภาพผลงานที่ถูกวาดระบายลงบนกำแพงบ้านแต่ละหลัง ยังเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างคนแปลกหน้าผู้มาเยือน กับเจ้าของบ้านผู้เป็นเจ้าของเรื่องเล่าที่มีชีวิตอีกด้วย
โกเอ็กซ์ ยกตัวอย่างภาพ ‘ยิ้มสยาม เบตง’ ซึ่งกว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นต้องลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย แต่เมื่อผลงานออกมามาแล้ว มันคือรอยยิ้มแห่งความสุขของทุกคนจริงๆ
“ตอนวาดตั้งเป้าไว้ว่า ใครผ่านมาเราก็จะวาด แต่มีรูปหลักๆ ก็คือ รูปอากง อาม่า เจ้าของบ้าน ซึ่งผมได้ขออนุญาตไว้แล้ว
แต่พอเริ่มลงมือ อาม่ากลับมาจากสวน เห็นศิลปิน 4-5 คน เอาถุงสีปาบ้าน เขาก็บอก ไม่เอา...ไม่วาดๆ อาม่างอนอยู่ไปเป็นวัน ผมก็เลยไปบอกอาม่าว่า ผมพาเขามาวาด ถ้าอาม่าไม่ชอบ เขามาสองวันเอง เดี๋ยวเราลบใหม่ได้”
หลังจากภาพรอยยิ้มของคนเบตงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง องค์ประกอบสุดท้ายที่จะเติมเต็มภาพนี้ให้สมบูรณ์แบบก็คือ อาม่า
“วันสุดท้ายภาพเริ่มเต็ม เหลืออาม่าคนเดียว อาม่าเดินมา ศิลปินบอกว่าขอรูปหน่อย อาม่าบอก ไม่เอา แต่ยืนให้ถ่าย พอถ่ายรูปเสร็จ ศิลปินก็วาดลงบนกำแพง เสร็จเรียบร้อย อาม่ามาเห็นภาพตัวเอง พร้อมกับคนเป็นกำลังใจเต็มไปหมด อาม่าก็ยอมรับ แล้วสิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ อาม่าไม่เหงา มีคนมาขอถ่ายรูปตลอดเลย
นี่คือกำแพงที่เราตั้งใจให้มันสวยงาม แต่มีชีวิตของคนเบตงเข้าไปเกี่ยวข้อง”
สตรีทอาร์ตเบตง จึงไม่ใช่แค่ความสวยงามจากฝีแปรงของศิลปิน แต่เป็นความงามที่ร้อยเรียงผู้คน วัฒนธรรม และความเป็นชุมชนไว้ด้วยกัน
“เราได้สร้างไกด์โดยไม่ต้องอบรม เป็นไกด์ท้องถิ่นที่จะอธิบาย ที่จะชงน้ำชามาให้ นักท่องเที่ยวกลายเป็นมาเที่ยวบ้านญาติโดยไม่ได้ตั้งใจ เกิดจากคนเบตงเอง คนเบตงเป็นคนรับแขก ช่วยเหลืออย่างเป็นปกติที่สุด”
- เปิดน่านฟ้ารับนักท่องเที่ยวอาเซียน
แม้ว่าคนเบตงจะแต่งตัวรอนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะทำให้ปลายทางปลายด้ามขวานแห่งนี้เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้อย่างแท้จริง น่าจะอยู่ที่การเปิด ‘ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง’ อย่างเป็นทางการ ที่ต้องเลื่อนเพราะสถานการณ์โควิดที่ลากยาวมาจนถึงวันนี้
“สนามบินน่าจะเปิดได้ปลายปีนี้ เพราะด้านกายภาพเราพร้อมแล้ว ส่วนสายการบินที่เข้ามาติดต่อกับกรมท่าอากาศยานก็คือ นกแอร์” ดวงพร สุวรรณมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนราธิวาส ปฏิบัติงานในฐานะผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง กล่าวในขณะนำชมอาคารท่าอากาศยาน ซึ่งตกแต่งด้วยไม้ไผ่ สื่อถึง ไผ่ตง อัตลักษณ์ของเบตง
“เส้นทางคมนาคมระหว่างจังหวัดยะลามาเบตง มีเส้นทางที่คดเคี้ยวทำให้ลำบากในการเดินทางทางบก รัฐบาลก็เลยให้สร้างท่าอากาศยานขึ้นมา จะได้ส่งเสริมเศรษฐกิจทั้งการเกษตรและการท่องเที่ยว
ตอนนี้กลุ่มที่น่าจะมาใช้บริการมากที่สุด ก็คงเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ เพราะระยะทางมันไกล แล้วพอมีข่าวเรื่องความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ คนก็กลัวเส้นทาง ถ้านั่งเครื่องมาลงที่นี่ก็จะมั่นใจขึ้น” ผอ.ดวงพร กล่าวถึงโอกาสและความเป็นไปได้
ซึ่งนอกจากไทยเที่ยวไทยแล้ว ดร.ปรัชญากรณ์ ไชยคช หัวหน้าทีมวิจัยโครงการ ‘การพัฒนาศักยภาพทางการท่องเที่ยวจังหวัดยะลาสู่อาเซียน’ โดยการสนับสนุนของสกสว. เสริมว่า หากมีการเจรจาให้สามารถบินตรงจากกัวลาลัมเปอร์ หรือสิงคโปร์ได้ ก็จะเหมือนติดปีกให้กับเบตงอีกทางหนึ่ง
“ถ้าเราจะเชื่อมนักท่องเที่ยวอาเซียน สองประเทศนี้คือเป้าหมายหลัก ถ้าสนามบินเป็นตัวอำนวยความสะดวกให้เขามาเบตงได้ง่ายขึ้นก็จะเป็นโอกาส แต่เราต้องคุยกับผู้ประกอบการว่า จุดเด่นของการท่องเที่ยวเบตงคืออะไร ต้องประชาสัมพันธ์ตรงนี้ให้ชัด ก็จะเป็นจุดขายใหม่ เปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวใหม่ จูงใจนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ให้เข้ามาโดยใช้สนามบินเบตงเป็นตัวเชื่อม”
ส่วนองค์ประกอบด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ที่พัก บริการ ในมุมของผู้ที่อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวมานาน มองว่าเมืองไทยมีข้อได้เปรียบอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีการออกแบบเส้นทาง และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
“เบตงดังอยู่แล้วในเรื่องธรรมชาติ ทะเลหมอก บ่อน้ำร้อน เราเชื่อมการเกษตรเข้าไป มีไก่เบตง ปลาพวงชมพูซึ่งคนมาเลเซียชอบมาก ปลานิลสายน้ำไหล ทุเรียน ในแง่ประวัติศาสตร์ ก็มีอุโมงค์ปิยะมิตร สำหรับพื้นที่ในเมืองที่เราออกแบบมาก็จะเป็นสองเรื่องคือ สตรีทอาร์ต กับ สตรีตฟู้ด”
ดร.ปรัชญากรณ์ อธิบายถึงเหตุผลที่เลือกจุดขายทั้งสองอย่างนี้ว่า เบตงเป็นเมืองขนาดเล็ก การเดินจะทำให้ได้ชมตัวเมืองทั้งหมด และยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดปัญหาเรื่องการจราจรไปในตัว
“ทีนี้เราก็หาจุดขายในการเดิน อาหารเขามีจุดเด่นอยู่แล้วก็ผสมผสานกับตัวสตรีทอาร์ต ให้มันอยู่บนเส้นทางเดียวกัน ทำเป็นวอล์คกิ้งทัวร์”
ถึงตอนนี้เบตงโมเดลถือว่าพร้อมแล้ว เหลือแค่การสร้างนักสื่อความหมาย และ ‘แผนที่’ ที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชม แชะ ชิม ได้ด้วยตัวเอง
“แผนที่เราทำให้ ททท.ไปแล้ว มีทั้งสตรีทฟู้ด สตรีทอาร์ต โดยรูปสตรีทอาร์ต จะมีหลักๆ ประมาณ 40 จุด ส่วนอาหารมีประมาณ 30 ร้าน เช่น ร้านหมี่เบตง ลูกชิ้นแคะ ส่วนใหญ่ร้านที่นี่จะไม่ค่อยตั้งชื่อ ในแผนที่เราจะบอกว่าร้านอยู่ตรงไหน ขายอะไร มีข้อมูลพื้นฐานให้สแกนคิวอาร์โค้ด นักท่องเที่ยวทั้งที่ชอบเรื่องอาหารหรือชอบศิลปะก็สามารถไปด้วยกันได้”
สำหรับคนเบตงแล้ว ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่การกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่... แต่สิ่งที่อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสก็คือ สันติสุข ณ ปลายด้ามขวาน