ใช้ 'พลาสติก' อย่างสมดุล หนทางสู่ความยั่งยืน
การดำเนินธุรกิจ ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถือเป็นการสนับสนุน Roadmap ภาครัฐ สู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 หัวใจสำคัญ คือ การใช้ ทิ้ง อย่างถูกต้อง และนำมาใช้ซ้ำ อย่างสมดุลมากที่สุด
เช่นเดียวกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ซึ่งดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังการกลั่นน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย สามารถผลิตน้ำมันได้หลากหลาย รวมทั้งได้โพรพิลีนและแนฟทามาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี พื้นที่ปฏิบัติการหลักอยู่ที่ จ.ระยอง โดยธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจปิโตรเลียม 2.ธุรกิจปิโตรเคมี และ 3.ธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก ถังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน
“นพดล ปิ่นสุภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC ระบุว่า IRPC มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รับผิดชอบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้า ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข และความสมดุลของ Economy, Society, Environment พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอย่างรวดเร็วและเท่าทันสถานการณ์
ทั้งนี้ IRPC ได้สนับสนุนการใช้วัตถุดิบที่มาจากขยะพลาสติกใน ธุรกิจปิโตรเลียม ส่งเสริมการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน สอดรับกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยทำสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงจากการแปรรูปขยะพลาสติก กับ บริษัท เทคซ่า เอนเนอร์ยี จำกัด และ บริษัท วีเอ เอนเนอร์จี จำกัด เพื่อซื้อน้ำมันแปรรูปจากขยะพลาสติก 300,000 – 400,000 ลิตร/เดือน เป็นน้ำมันที่ได้จากกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ลดปริมาณขยะพลาสติกได้ 560 ตัน/เดือน ทั้งนี้ ถุงพลาสติก 1 ตัน หรือ ขวดน้ำดื่ม 1 ลิตร จำนวน 10,000 ขวด จะเท่ากับน้ำมันไพโรไลซิส 500 - 700 ลิตร
ด้าน ธุรกิจปิโตรเคมี มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Bio-based product process กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก โดยนำวัสดุจากธรรมชาติ ได้แก่ “Wood Plastic Composite (WPC)” พลาสติกผสมเศษไม้ โดยนำเอาส่วนผสมของเศษขี้เลื่อยไม้เหลือใช้จากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มาบดผสมกับพลาสติกประเภทต่างๆ ผ่านกระบวนการผลิตและขึ้นรูปออกมาเป็นชิ้นงานตามความต้องการ ทนทานใช้งานได้หลายสิบปี ทดแทนการใช้ไม้จริง แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้หลายรูปแบบ ลดการตัดไม้ ลดการใช้ทรัพยากรไม้จริง และนำเศษไม้ที่เหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ ลดการเกิดขยะพลาสติกในกระบวนการผลิต ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยาการอย่างคุ้มค่า
“Pararene” เม็ดพลาสติก PS ผสมแป้งมันสำปะหลัง 20% ใช้ขึ้นรูปเป็นช้อมส้อม ถาดอาหาร อุปกรณ์เครื่องเขียนต่างๆ “L-Cement” ใช้นวัตกรรมในการนำยางธรรมชาติ ผสมกับซีเมนต์ ในสัดส่วน 30/70 เพื่อให้มีความแข็งแรง ทนทาน ให้สัมผัสของความรู้สึกเป็นซีเมนต์ แต่สามารถขึ้นรูปด้วยกระบวนการฉีดพลาสติกทั่วไป และสามารถผสมกับสีหรือวัสดุชนิดอื่นได้ นำมาใช้ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างบรรยากาศในการตกแต่งได้หลากหลาย “Recycled Nood” การนำพลาสติกที่เหลือจาก Line การผลิต (nood) นำมาผสมสี ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ผลิตเป็นกล่องนาฬิกาแบรนด์เนม กระเช้าแบรนด์ และกล่องจิวเวลรี่ เป็นการรีไซเคิล 100%
และ “ทุ่นลอยน้ำ สำหรับโซลาร์เซลล์” ผลิตจากเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene: โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง) เกรดพิเศษ P301GR เนื้อพลาสติกเป็นสีเทา ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิล และรับประกันอายุการใช้งานของวัสดุได้ไม่ต่ำกว่า 25 ปี
นอกจากนี้ เนื่องจากความต้องการเม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลสูง จากต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานรับรองว่าเม็ดพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลนั้นผลิตจากขยะพลาสติกจริงหรือไม่ และมีสัดส่วนเม็ดพลาสติกรีไซเคิลตรงตามที่กำหนดหรือไม่ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา IRPC จึงได้จับมือพันธมิตร 15 บริษัท แสดงเจตนารมณ์นำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste พร้อมด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วางมาตรฐานโรงงานรีไซเคิลพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล ให้สินค้าพลาสติกรีไซเคิลของไทยเข้าสู่ตลาดยุโรปได้มากขึ้น
โดย IRPC ทำหน้าที่สร้างฐานข้อมูลจัดทำเป็น Plastic Waste Platform เพื่อรวบรวมข้อมูล Waste Polymer จากแหล่งผลิตแต่ละโรงงาน ซึ่งลูกค้าจะเข้าถึงข้อมูลได้ และต่อยอดนำไปสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลชิ้นใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกจากต้นทางไม่ปล่อยของเสียออกนอกระบบ
“นพดล” กล่าวทิ้งท้ายว่า พลาสติกมีข้อดีที่เราสามารถใช้ทดแทนวัสดุทางธรรมชาติที่มีจำนวนจำกัด หากเราใช้อย่างถูกต้อง และดูแลหลังการใช้อย่างเหมาะสม โลกจะสามารถใช้ประโยชน์จากพลาสติกได้ วันนี้มีหนทางในการลดการใช้โดยเอา Bio-based มาผสม นำกลับมาใช้ใหม่ เราจะใช้ชีวิตร่วมกับพลาสติกได้ หากรูปจักใช้เป็น และสามารถรักษ์โลกในวิถีทางที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่า ความสมดุล จะนำไปสู่ความยั่งยืน
- ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ New Normal
IRPC ได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่พร้อมตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) อาทิ “Kleante Mask" หน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย ต้านการเกิดไฟฟ้าสถิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเหนี่ยวนำอนุภาคฝุ่นให้มาเกาะบนพื้นผิว ซักได้ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง โดยยังคงยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียได้ เคลือบสารกันน้ำ ป้องกันละอองน้ำที่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน และสวมใส่สบาย
รวมถึง กระเป๋าแฟชั่น ภายใต้แบรนด์ “VAVA Bag LIMITED Special Collection” ผลิตจากถุงกระสอบบรรจุเม็ดพลาสติกที่ใช้งานแล้ว เคลือบด้วยพลาสติกใสเพิ่มความทนทานในการใช้งาน เพื่อบริหารจัดการไม่ทำให้ขยะพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบ ไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม สร้างสังคมปลอดขยะพลาสติก รวมถึงการจัดการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต ได้แก่ ถุงกระสอบบรรจุเม็ดพลาสติกที่ใช้งานแล้ว สนับสนุนหลักการ 3R รวมถึง สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ตัดเย็บงาน handmade โดยกลุ่มแม่บ้าน ตำบลด่านขุนทด อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่อยู่ใกล้เคียง โรงงาน สนับสนุนให้ชุมชนบริเวณใกล้เคียงเขตประกอบการมีอาชีพและรายได้