7 วิธีจัดการ ความเห็นต่างในครอบครัว
ครอบครัวเดียวกัน แต่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ถือเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน แต่หากความเห็นต่างนั้นนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในบ้าน ก็ควรหาวิธีจัดการเพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ที่มีมาทั้งชีวิตต้องขาดสะบั้น เพียงเพราะ "คิดไม่เหมือนกัน"
การชุมนุมปราศรัยที่เริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยจนตอนนี้กระจายไปยังโรงเรียนต่างๆ ในประเทศ อันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่างและข้อเรียกร้องในทางการเมืองและสถาบัน มิได้เพียงส่งผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจในระยะเวลาอันใกล้แต่เพียงเท่านั้น แต่สถาบันครอบครัวซึ่งถือเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดแต่มีความหมายที่สุด ก็ได้รับผลกระทบทางสังคมเช่นเดียวกัน
การที่พ่อแม่และลูก พี่และน้องมีความเห็นที่แตกต่างกันใน ทางการเมืองนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อความเห็นต่างนั้นนำมาซึ่งความขัดแย้ง จึงสมควรจะต้องมีวิธีการในการจัดการรับมือความขัดแย้งในครอบครัว
ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา อายุ ขนมธรรมเนียบประเพณี หรือความเชื่อทางการเมืองและสถาบัน มีกรณีศึกษาจากหลากหลายประเทศที่ก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านั้นได้
วันนี้ผมอยากจะถ่ายทอด คำแนะนำจากสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐ (American Psychological Association) ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักจิตวิทยาและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนี้กว่า 121,000 คน เกี่ยวกับวิธีการจัดการความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างโดยเฉพาะเมื่อบริบทของความเห็นต่างนี้เกิดขึ้นในครอบครัว
1. แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง และรับฟัง โดยการหาจุดร่วมที่เห็นตรงกัน โดยฟังอย่างตั้งใจเพื่อเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่าย เมื่อเห็นและเข้าใจถึงความต้องการหรือข้อห่วงใยของอีกฝ่ายแล้ว จึงจะเข้าใจว่าเพราะเหตุผลใดอีกฝ่ายอีกมีความเห็นต่างและเข้าใจถึงที่มาของการกระทำนั้นๆ
2. เปิดใจและมีความเมตตาปรานี เมื่อฟังแล้วก็สมควรเปิดใจ เอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่มาของความคิดเห็นที่แตกต่าง พยายามเลี่ยงคำพูดที่เสียดสีและการโจมตีตัวบุคคลหรือเรื่องส่วนตัว มีสติระวังน้ำเสียงเพื่อไม่ให้บทสนทนาดูคล้ายกับการโต้วาทีหรือการชวนทะเลาะ
3. มีสติเมื่อบทสนทนาเกิดความเครียด มีแนวโน้มสูงว่าบทสนทนาอันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่างนั้นจะนำมาสู่ข้อเห็นต่างและความเครียด จึงควรมีสติและระลึกในใจเสมอว่าหากบทสนามาถึงจุดนี้เมื่อไหร่ ควรหลีกเลี่ยงการปะทะ พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดความร้อนแรงของบทสนทนาลง เตือนตัวเองให้มีความสุขุมรอบคอบก่อนจะโต้ตอบบทสนทนา แล้วค่อยกลับสู่บทสนทนาเมื่ออารมณ์เย็นลง
4. คิดถึงจุดประสงค์เป้าหมายของบทสนทนา และยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าตนเองอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนใจคู่สนทนาได้ อาทิ บทสนทนาเพื่อมุ่งเป้าเปลี่ยนใจคู่สนทนา หรือเพียงแค่ทำความเข้าใจความเห็นหรือการกระทำนั้นๆ ของคู่สนทนา โดยตั้งเป้าหมายง่ายๆ ที่เป็นไปได้ การยอมรับข้อเห็นต่างของคู่สนทนานั้นแม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ให้ถือเป็นโอกาสในการแสดงความเห็นต่างและมุมมองที่ต่างออกไป
5. ความเห็นที่แตกต่างนั้นไม่ได้แย่เสมอไป การที่ผู้อื่นไม่เห็นด้วยกับตนเองจึงเป็นเรื่องธรรมดาของโลก เพราะทุกคนมีความคิดเห็นของตัวเอง จะให้เหมือนหรือต่างกันในทุกเรื่องคงเป็นไปได้ยาก
6. ต้องทราบว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะหยุดบทสนทนา เมื่อบทสนาไม่มีมีท่าว่าจะนำไปสู่จุดร่วมหรือการแก้ปัญหา สมควรเปลี่ยนหัวข้อสนทนาอย่างแยบยลและสุภาพ หรือชักชวนหากิจกรรมอื่นๆ ทำร่วมกัน
7. โปรแอคทีฟ ควรเตรียมตัวเมื่อครอบครัวรวมตัวกันไม่ว่าจะเป็นการทานข้าวประจำสัปดาห์ หรืองานรวมญาติ หากิจกรรมที่สนุกสนานและดึงจุดร่วมมากกว่าจุดต่าง เช่น เล่นเกม คุยถึงความทรงจำสมัยก่อน
ความเห็นต่างนั้นเกิดขึ้นในทุกสังคม เพราะเรามีตัวเลือกและเรามีสิทธิเลือก ตั้งแต่การรับฟังข่าวสาร การเลือกคิดตัดสินใจเชื่อ ความเคารพในความเห็นต่างและการเปิดพื้นที่ให้เกิดบทสนทนานั้นคือบันได้ขั้นแรกสู่ทางออกที่สังคมจะก้าวผ่านเดินหน้าต่อ ก้าวพ้นผ่านหลุมแห่งความผิดพลาดเช่นในประวัติศาสตร์ที่แล้วมาได้