เช็คก่อนฉีด! 'วัคซีนมะเร็งปากมดลูก' อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตจริงหรือ?

เช็คก่อนฉีด! 'วัคซีนมะเร็งปากมดลูก' อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตจริงหรือ?

เช็คเรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจฉีด "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก" ว่าควรเตรียมร่างกายให้พร้อมยังไงบ้าง พร้อมชวนหาคำตอบว่าการฉีดวัคซีนดังกล่าวในเด็กอายุน้อย จะส่งผลให้เกิดอาการแพ้ และเสียชีวิตได้จริงหรือ?

จากกรณีเด็กหญิงวัย 11 ปี ได้เสียชีวิตลงหลังจากที่ทางโรงเรียนให้นักเรียนหญิงฉีด "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก" ตามโครงการฉีดฟรีในเด็ก อายุ 9-14 ปี ซึ่งปรากฎว่าเด็กหญิงคนดังกล่าวมีอาการป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เบื้องต้นแพทย์ยังไม่ฟันธงสาเหตุการตายว่าเป็นเพราะการฉีด  "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก"  จริงหรือไม่ ขณะนี้กำลังรอผลการชันสูตร ซึ่งต้องคอยติดตามกันต่อไป

แม้ว่าตอนนี้ยังไม่ทราบผลแน่ชัด แต่ผู้ร้ายอันดับหนึ่งของเคสนี้คงหนีไม่พ้น "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก"  ที่หลายคนสงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กหญิงคนดังกล่าวมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจนเสียชีวิต ประกอบกับขณะนั้นเด็กหญิงไม่สบาย มีไข้สูง แต่ยังถูกพาไปฉีดวัคซีน สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายเด็กด้วยหรือไม่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาเช็ครายละเอียดเรื่องนี้ พร้อมหาคำตอบว่าการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกมีประโยชน์หรือมีโทษกันแน่?

1.  "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก"  ป้องกันได้ 100% หรือไม่?

ในแวดวงทางการแพทย์ได้ค้นพบข้อเท็จจริงว่า "มะเร็งปากมดลูก"   มีสาเหตุมาจากเชื้อเอชพีวี 99.7% ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ทำให้มีการพัฒนาการเป็นวัคซีนเอชพีวีหรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูก   ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อชนิดสำคัญที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ 70%    แปลว่ายังคงมีเชื้อเอชพีวีบางส่วนที่วัคซีนนี้ยังไม่สามารถให้การป้องกันได้

แต่อย่างไรก็ดี หญิงสาวจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการฉีดวัคซีนดังกล่าวในกรณี ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับเชื้อเอชพีวีชนิดที่มีอยู่ในวัคซีนมาก่อน วัคซีนเอชพีวีที่ผลิตได้สำเร็จเป็นตัวแรกและได้รับการรับรองใช้ในกว่า   80  ประเทศทั่วโลกแล้วนั้น สามารถครอบคลุมเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18    ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการการเกิดโรคมะเร็งปากกมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอดประมาณ   70% 

2. "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก"   ฉีดในช่วงอายุใดเหมาะสมที่สุด?

เนื่องจากวัคซีนเอชพีวีนี้จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในกรณีที่ยังไม่เคยมีการสัมผัสกับเชื้อไวรัส HPV   ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมาก่อน ดังนั้นจึงเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในเด็กหญิงหรือหญิงสาววัยรุ่น เพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้าก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก   ในหลายประเทศทั่วโลกมีการพิจารณาให้วัคซีนนี้เป็นวัคซีนภาคบังคับที่ให้ในเด็กหญิงและหญิงวัยรุ่นอายุช่วง 11-12 ปี 

อีกทั้งมีข้อแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกานั้นได้ให้การรับรองการใช้ในเด็กหญิง และหญิงสาวอายุ 9-26 ปีว่า วัคซีนสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์หลักคือ 16 และ 18 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อดังกล่าวมาก่อน เนื่องจากโดยสถิติของการติดเชื้อเอชพีวีทั่วโลกนั้นพบว่า ช่วงอายุที่พบการติดเชื้อมากที่สุดคือ 18-28 ปี และเชื้อเอชพีวีอาจใช้เวลาในการก่อตัวนานนับ 10 ปีก่อนที่จะปรากฏอาการผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา 

159894385169

3. หากเด็กมีไข้สูง ควรฉีดวัคซีนใดๆ หรือไม่? 

มีข้อมูลจากแพทย์หญิง อัมพร สันติงามกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เคยอธิบายไว้ในบทความวิชาการชิ้นหนึ่ง ที่พูดถึงการเตรียมตัวก่อนพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนใดๆ ก็ตาม (ไม่ได้เจาะจงเฉพาะวัคซีนมะเร็งปากมดลูก)   โดยระบุว่า 

เมื่อเด็กมีอาการป่วยหรือไม่สบาย ไม่ควรพาไปฉีดวัคซีน ซึ่งเหตุผลที่ไม่ควรฉีดในช่วงที่เด็กป่วยอยู่ก็เพราะว่า เด็กๆ อยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่ดีเท่าที่ควร ที่สำคัญคือ.. การฉีดวัคซีนบางชนิดจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นต่อร่างกายเด็ก

ยิ่งถ้าเด็กกำลังป่วยอยู่นั้นร่างกายจะมีอาการตอบสนองไม่ดีต่อวัคซีนที่ได้รับ อาจทำให้วัคซีนที่ฉีดเข้าไปไม่ได้ผล ในกรณีที่ป่วยเล็กน้อย มีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ ยังสามารถรับวัสคซีนได้อยู่แต่ก็ต้องดูตามการวินิจฉัยของแพทย์เป็นหลักว่าควรฉีดหรือไม่  อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือควรรอ 2-3 วันให้เด็กหายป่วยก่อนแล้วค่อยพาไปฉีดได้ตามปกติ

4. วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยต่อเด็กหญิงมากน้อยเพียงใด ?

มีผลการวิจัยได้ยืนยันว่า วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นวัคซีนที่สังเคราะห์เลียนแบบโครงสร้างของเชื้อเอชพีวี โดยที่ไม่ได้นำส่วนประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดของสาย พันธุกรรมของเชื้อไวรัสมาใช้ผลิตวัคซีน   เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนก็จะสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อเอชพีวี โดยอาการข้างเคียงรุนแรงพบน้อยมาก ผลการวิจัยยังได้แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนในเด็กหญิงจะมีผลดีในเรื่องของการตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในผู้ใหญ่อีกด้วย 

การฉีดวัคซีนจะฉีดเข้าที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายนั้นน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเพียงอาการเหมือนกับการได้รับวัคซีนอื่นๆ เช่น ปวดบวมแดงเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ต่ำในบางราย

5.  ต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวีก่อนรับการฉีดวัคซีนหรือไม่?

ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกานั้น หญิงสาวที่ไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า “แปปสเมียร์” ( Pap Smear Test) เป็นประจำและไม่พบผลผิดปกติใดๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวีก่อนการได้รับวัคซีน 

ในกรณีที่มีผลการตรวจ “แปปสเมียร์” ที่ผิดปกติ แพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษาให้หายก่อนแล้วจึงไปรับการฉีดวัคซีนในภายหลัง 

159894385161

6. อายุเกิน 26 ปี หรือเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังฉีดวัคซีนได้หรือไม่?

สำหรับผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วก็ยังคงสามารถพิจารณาฉีดวัคซีนเอชพีวีได้ เพียงแต่อาจจะไม่ได้รับประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันจากวัคซีน เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน

ส่วนหญิงสาวบางคนที่มีอายุเกิน 26 ปี  ก็ยังสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้เช่นกัน เพราะตามแนวคิดและหลักการในการให้วัคซีนเอชพีวีนั้น ถ้าหากเป็นการให้ก่อนที่จะเกิดการสัมผัสเชื้อหรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ก็จะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากวัคซีน รวมทั้งการตอบสนองของร่างกายในการสร้างภูมิคุ้มกันก็เหมือนกับวัคซีนอีกหลายๆ ชนิดคือภูมิคุ้มกันจะสูงกว่าถ้าให้วัคซีนในวัยเด็ก

7. วัคซีนเอชพีวีต้องฉีดกี่เข็ม และป้องกันได้นานไหม?

การฉีดวัคซีนจะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 6 เดือน จะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ปัจจุบันการศึกษาระยะเวลาของการป้องกันยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

และพบแนวโน้มว่าวัคซีนเอชพีวีจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถจดจำและสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชพีวีที่มีอยู่ในวัคซีนได้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะคล้ายกับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี คือในช่วงแรกที่มีการใช้วัคซีนก็ยังไม่ทราบระยะเวลาของภูมิคุ้มกันที่ชัดเจน แต่ต่อมาก็พบว่าภูมิคุ้มกันสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น 

-------------------------

อ้างอิง :

https://med.mahidol.ac.th

https://vibhavadi.com

https://web.facebook.com/Hospitalstale

https://th.theasianparent.com/