ใช่เธอหรือเปล่า...‘ลานีญ่า’

ใช่เธอหรือเปล่า...‘ลานีญ่า’

พายุฝนถล่มในหลายพื้นที่อาจทำให้นึกไปถึง "น้ำท่วมใหญ่" ปี 54 แต่ที่อยากชวนลุ้นกันอย่างใกล้ชิดก็คือ การเข้าสู่สภาวะอากาศแบบ "ลานีญ่า" ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศไทยในหลายแง่มุม

ปีนี้ฝนมาล่า ปกติทางเหนือต้นพฤษภาคมฝนลงหนักแล้ว แต่ปีนี้รอปลายเดือนแถมทิ้งช่วง เพิ่งมาหนักตอนเจอร่องมรสุมรอบนี้เอง ทำให้มีน้ำท่วมหลายพื้นที่ภาคเหนือทั้งแพร่ น่านและกำลังลงไปสุโขทัย ทำให้เริ่มคิดถึงสภาวะปีน้ำมาก เมื่อ 2554 ฝนกระหน่ำจริงจังสิงหาคม ทำให้น้ำท่วมหลายจังหวัดกันยายน หรือปีนี้จะซ้ำรอยได้ไหม

ในภาพใหญ่ ปีที่น้ำมากมักจะตรงกับรอบปรากฏการณ์ ‘ลานีญ่า’ นี่ก็ใกล้จะถึงวงรอบของเธอแล้ว เพราะ ‘เอลนีโญ่’ ผ่านไปแล้ว มันเป็นแบบแผนของวงรอบสภาวะอากาศ ระหว่างช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศเราและดินแดนแถบย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ใต้ภาวะอากาศแบบเอลนิโญ่ (ร้อน/แห้ง) จนผ่านพ้นภาวะดังกล่าวมาได้เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง

ดังนั้นตามวงรอบของดินฟ้าอากาศ นับจากนี้เตรียมรอพบกับสภาวะอากาศแบบลานีญ่า (เปียก/เย็น) เสียที

ถามว่าขณะนี้ไทยเราเข้าสู่ลานีญ่าหรือยัง?

ตอบอย่างเป็นทางการว่ายัง! คำประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาล่าสุด ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ระบุว่าการเฝ้าระวังสถานการณ์เอลนีโญ่/ลานีญ่า อยู่ในสถานะเป็นปกติ หรือ ENSO-Neutral แต่ก็มีการคาดหมายว่าจากนี้มีโอกาสประมาณ 50-55 เปอร์เซ็นต์ ที่จะพัฒนาเป็นปรากฏการณ์ลานีญ่าในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 

แปลแบบชาวบ้านว่า รอฟังผลภายใน 3 เดือนนี้แหละ ซึ่งถ้ามันจะเปียกท่วม มันก็คงจะมาเอาแบบฉับพลัน เช่นจู่ๆ ก็พบการก่อตัวของพายุต่อเนื่องกันสามสี่ลูก ทยอยสาดฝนใส่ แต่นั่นก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าโอกาสดังกล่าวแค่ 50-55 เปอร์เซ็นต์ น้ำอาจจะไม่เต็มเขื่อน แค่ฝนมากกว่าปกติเท่านั้น

หน่วยงานระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่ได้เฝ้าติดตามสภาวะเอลนีโญ่/ลานีญ่า เพราะเจ้าสภาวะนี้มีผลต่อทวีปอเมริกาด้านติดชายฝั่งแปซิฟิค ปีไหนประเทศไทยร้อนแห้ง อีกฟากหนึ่งเย็นหนาว ขณะนี้เกิดเหตุไฟไหม้ใหญ่ที่รัฐแคลิฟอเนีย และมีภาวะอากาศแห้งกว่าปีปกติ นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกหนึ่ง ตัวชี้วัดสำคัญที่เขาจะฟันธงได้ว่า เอาล่ะ 'ลานีญ่า' เธอมาหรือยังนั้นให้ดูที่อุณหภูมิของน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตร

ในภูมิภาคอาเซียนของเรามีหน่วยงานชื่อว่า ASMC Asean Specialized Meteorological Center คอยจับตาสภาวะเอลนีโญ่/ลานีญ่า สถานะล่าสุดเมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา คือ อยู่ที่ช่องจับตาการเกิดของลานีญ่า Current state: La Niña watch ทั้งนี้สถานะของปรากฏการณ์นั้นมีแค่ 5 ช่องเรียงลงมา คือ เอลนีโญ่/จับตาเอลนีโญ่/กลาง/จับตาลานีญ่า/ลานีญ่า

ASMC ให้สถานะ “จับตาลานีญ่า” ซึ่งชัดเจนบอกแนวโน้มมากกว่ากรมอุตุฯของไทยที่ยังให้ค่า “ปกติ” ในระดับหนึ่ง ทำให้เราเห็นแนวโน้มปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิด รอบของลานีญ่ากำลังจะมา...แต่เมื่อไหร่ ไม่รู้

สำหรับคนที่หวังจะเห็นฝนตกเต็มฟ้า มีน้ำมาเติมเขื่อนให้เต็มจากที่พร่องขอดต่อกันหลายปี กำลังลุ้นว่าอีกสามเดือนจากนี้จะมีน้ำจากฟ้าเพิ่มมาอีกมากๆ ได้ไหม

ประเทศไทยแล้งหนักแล้งนานมาหลายปีแล้ว ลานีญ่ามีหลายระดับ ดีที่สุดคือมาแบบกลางๆ คือเย็นชื้นมากขึ้นสักหน่อย เพิ่มฝนขึ้นอีกจากปกติ ไม่ถึงขนาดท่วมใหญ่ จะเป็นการดีสำหรับประเทศไทย ...มาเถอะลานีญ่า

****

ปรากฏการณ์เอลนีโญ่/ลานีญ่า มีผลต่อความหนักเบาของมลพิษ pm 2.5 ฝุ่นควันไฟป่าของภาคเหนือด้วย สำหรับคนที่สนใจปัญหาฝุ่นควัน ย่อมต้องเรียกหาลานีญ่า ไม่อยากเห็นเอลนิโญ่

สถิติที่ศูนย์ GISTNORTH (จิสด้าภาคเหนือ) นำมาแสดง เมื่อ 2-3 ปีก่อนขณะที่ไทยเราอยู่ใต้ภาวะเอลนิโญ่ เจ้าปริมาณจุดความร้อนและความหนักของมลพิษก็สูงตาม หากมีน้ำมากฝนมากป่าชื้นโอกาสไฟป่าจะไหม้เองน้อย แต่ก็นั่นแหละ ไฟที่เกิดในภาคเหนือของไทยไม่ใช่ไฟป่า ส่วนใหญ่แทบทั้งหมดเป็นไฟที่มนุษย์จุด ลานีญ่าจึงแค่บรรเทาการลุกลามเผาไหม้และลดปริมาณเชื้อเพลิงแห้งสะสมได้เท่านั้น ยังไม่ถึงกับทำให้ปัญหาลดลงแบบฮวบฮาบชัดเจน

ภาวะดินฟ้าอากาศเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหามลพิษฝุ่นควัน ในช่วงสองสามปีมานี้เทคโนโลยีช่วยให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมาก สามารถดูทิศทางลมจากแอพพลิเคชั่น สามารถดูค่ามลพิษ 2.5 แบบรวดเร็วผ่านโทรศัพท์มือถือของตัวเอง แต่ในภาพรวมปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังถูกนำมาประกอบการออกแบบมาตรการและการจัดการค่อนข้างน้อยไปหน่อย

เมื่อฤดูฝุ่นที่ผ่านมา อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือรายงานสภาพอากาศประจำวันด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า skew-T log-P อาจจะเป็นปีแรกด้วยกระมังที่มีรายงานการคาดการณ์ภาวการณ์ผกผันและการยกตัวของอากาศประจำวัน แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการสื่อสารอย่างกว้างขวาง หน่วยงานของรัฐด้วยกันก็ไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่รายงานชนิดนี้บอกว่า แต่ละวันอากาศจะยกตัวได้ดีแค่ไหน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงราวกลางเมษายน การยกตัวของอากาศที่เมืองเชียงใหม่แย่มาก ช่วงเช้าอากาศกดต่ำบ่ายๆ เมื่อดวงอาทิตย์ส่องแล้วยังยกขึ้นได้เพียง 2-4 ก.ม.เท่านั้น เทียบกับการยกตัวของอากาศฤดูปกติที่สูงกว่า 10 ก.ม. แปลว่า อากาศปิดในช่วงฤดูแล้งยิ่งเติมให้ทุกอย่างที่เลวร้ายลง

ปัจจัยทางภาวะดินฟ้าอากาศที่มีผลต่อมลพิษฝุ่นควันก็คือ หนึ่ง/ทิศทางลมตามฤดูกาล ทั้งระดับบนและระดับพื้นผิว สอง/ลมจากเพื่อนบ้าโดยเฉพาะจากตะวันตกที่หอบมลพิษฝุ่นควันมาถล่มแม่สาย-เชียงรายทุกปี สาม/ความกดอากาศ เรื่องนี้ยังมีความสับสนไม่เข้าใจอยู่มาก เพราะมีการอ้างว่ามลพิษฝุ่นเกิดจากความกดอากาศสูงในฤดูหนาวเป็นสำคัญ อันที่จริงไม่ว่าความกดอากาศทั้งสูงและต่ำต่างก็ยังมีปัญหามลพิษฝุ่นควันแพร่กระจายหนักแทบไม่ต่างกัน 

สี่/ภาวะอากาศผกผันและปิดตัวหรือ inversion ดั่งที่ได้กล่าวไปว่าอากาศในช่วงนั้นยกตัวแค่ 2-4 ก.ม.เท่านั้นเอง เหมือนกับห้องที่เคยมีลมระบายถูกปิดรู และหดแคบลง ห้า/ปรากฏการณ์เอลนีโญ่และลานีญ่า ซึ่งจะว่าไปปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดแทบไม่ถูกนำมาพิจารณาเพื่อออกเป็นนโยบายและมาตรการด้วยซ้ำไป มาตรการหลักตลอดระยะที่ผ่านมาเน้นไปที่การดับไฟที่จุด hot spot เป็นสำคัญ

ในฐานะที่เป็นผู้เผชิญภัยมลพิษอากาศภาคเหนือเป็นประจำ ขอบอกตรงๆ ว่าอยากเห็น ‘ลานีญ่า’ น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ...ขอให้มาจริงเถิด หรืออย่างน้อยที่สุดขอเป็นลานีญ่าแบบอ่อนก็ยังดี จะทำให้มีฝนตกมากกว่าปีปกติ

สถานการณ์มลพิษฝุ่นควันของภาคเหนือในฤดูแล้ง 2564 ดีขึ้นแน่นอน สถิติบอกไว้เช่นนั้น!