สัญญาณเตือน 'ภูมิคุ้มกันตก' ร่างกายเสี่ยงสุขภาพหลายโรค
การใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ไม่ว่าจะการเรียน การทำงาน ทำให้หลายๆ คนเต็มไปด้วยความเครียด ซึ่งเจ้าความเครียดนี่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายมากมาย
KEY
POINTS
- อาการภูมิคุ้มกันต่ำ หรือ ภูมิตก คือ การที่ร่างกายกำลังส่งสัญญาณว่ากำลังอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ทะนุถนอมร่างกาย
- 'อาหาร' เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตอยู่ และเป็นตัวกำหนดอนาคตของร่างกาย ยิ่งในเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน อาหารยิ่งมีบทบาทในการช่วยเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรักษาที่สม่ำเสมอช่วยทำให้โรคสงบได้
การใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ไม่ว่าจะการเรียน การทำงาน ทำให้หลายๆ คนเต็มไปด้วยความเครียด ซึ่งเจ้าความเครียดนี่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายมากมาย ทั้ง ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
ภูมิตก กับ ภูมิแพ้ สองอาการดังกล่าว ถึงชื่อจะดูคล้ายกันแต่จริง ๆแล้วแตกต่างกัน
- อาการภูมิแพ้เป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์หรือเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก
- อาการภูมิตก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วยก็เกิดอาการนี้ได้ ซึ่งอาการนี้จะแสดงสัญญาณทางร่างกายได้หลายอย่าง
ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย หรือ Immune System เป็นกลไกธรรมชาติของร่างกาย ที่ช่วยป้องกันและต่อต้านเชื้อโรคไม่ให้ทำร้ายสุขภาพของเรา แต่หากเมื่อไหร่ที่เราพักผ่อนน้อย หรือมีความเครียด ฯลฯ อาจทำให้ร่างกายเสียสมดุล จนภูมิคุ้มกันต่ำได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ร่วมสร้างภูมิคุ้มกัน ‘พลัดตกหกล้ม’ รองรับสังคมสูงวัย 10-11 ก.ย.นี้
ภูมิคุ้มกันตกคืออะไร
อาการภูมิคุ้มกันต่ำ หรือ ภูมิตก คือ การที่ร่างกายกำลังส่งสัญญาณว่ากำลังอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวมักพบได้บ่อย และผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ทะนุถนอมร่างกาย ก็จะพบอาการนี้ได้บ่อย เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ, ผู้ที่มีความเครียดสะสม, พักผ่อนน้อย, หรือจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาวะรอบตัวอย่างสภาพอากาศ, ฝุ่นควันต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการภูมิตกได้ง่าย
สัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังภูมิตก
เราจะมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือ ภูมิตก ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือน ดังนี้
- อ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- มีอาการเป็นหวัดบ่อยกว่าปกติ หรือมีอาการคล้ายหวัด เช่น ไอ, จาม, มีน้ำมูก หรือผิวหนังมีอาการคัน
- ทานอาหารได้น้อยลง หรือไม่อยากอาหาร
- ท้องเสียบ่อย ๆ
- มีอาการแปลกปลอมอื่น ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเตือนของร่างกายจากอาการภูมิตก ซึ่งบางรายอาจจะมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาก็เป็นได้ ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นติด ๆ กัน 2-3 วัน หรือเป็น ๆ หาย ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจมีโรคอื่น ๆ แอบแฝงมาด้วย
เสริมภูมิคุ้มกัน ด้วยการเสริมวิตามิน
พญ. พิชานัน จึงพัฒนาพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวว่าการที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีและมากพอ สวนหนึ่งก็ต้องมาจากการดูแลสุขภาพในด้านต่างๆ ของเจ้าตัว โดยหนึ่งในตัวช่วยที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันของเรามีมากขึ้นและแข็งแรงขึ้นได้นั้น ก็คือการได้รับวิตามินต่างๆ อย่างครบถ้วนและเพียงพอ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
1. การรับประทานอาหาร
การเลือกแหล่งอาหารที่ดี มีวิตามินชนิดต่างๆ สูง ย่อมมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น
- วิตามินซี มีมากในผักและผลไม้สดต่างๆ ผักที่พบวิตามินซีมาก ได้แก่ ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปม ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วลันเตา ใบเผือก ใบมันสำปะหลัง ใบมะระจีน ผักกาดขาว ผักกาดเขียวปลี ผักโขม ผักคะน้า ผักชี ผักบุ้ง มะรุม ยอดมะม่วง และ ยอดมะละกอ เป็นต้น ส่วนผลไม้ที่มีวิตามินซีมาก ได้แก่ เชอร์รี่ ส้มต่างๆ มะนาว ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ มะละกอ ส้มโอ และสตรอว์เบอร์รี เป็นต้น
- วิตามินเอ ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยแหล่งอาหารที่ดีที่ร่างกายสามารถดูดซึมและใช้ประโยชน์จากวิตามินเอได้สูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม และแหล่งอาหารรองลงมาจะได้จากพืช เช่น ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง มะละกอสุก
- วิตามินดี มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune System) โดยพบว่า T cell และ B cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาคุกคามร่างกาย มี Vitamin D Receptor หรือตัวรับที่ช่วยกระตุ้นเสริมภูมิทำให้กำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขี้นด้วย ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนการให้วิตามินดีเสริมเพื่อช่วยต้านโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) และมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) แม้ว่าปกติแล้วร่างกายจะสามารถสังเคราะห์วิตามินดีเองได้ใต้ชั้นผิวหนังผ่านการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (Ultraviolet B ray) และการได้รับอาหารจำพวกปลาที่มีไขมัน Omega-3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน แต่มักจะไม่เพียงพอ
- สังกะสี มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นกลไกหลักในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแหล่งอาหารที่ดีเมื่อพิจารณาจากปริมาณและการดูดซึมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้ว จะมีอาหารจำพวก เนื้อสัตว์และเครื่องใน หอยนางรม สัตว์ปีกและปลา และที่รองลงมา ได้แก่ ไข่ นม
2. การรับประทานวิตามินเสริมแบบเม็ด
เป็นการได้รับวิตามินเข้าสู่ร่างกายได้จำนวนมากในคราวเดียว เพราะเป็นการสกัดเอาวิตามินแบบเข้มข้นมาอัดรวมกันไว้ในรูปแบบวิตามินเม็ด ซึ่งการเลือกรับวิตามินแบบเม็ดต้องเลือกที่เหมาะสมกับร่างกายของเรา โดยปัจจุบันมีวิธีการตรวจดูว่าร่างกายเราขาดวิตามินตัวใด ด้วยการตรวจ “Micronutrients” ซึ่งจะช่วยให้เรารู้ว่า ในร่างกายของเราตอนนี้มีปริมาณวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากน้อยแค่ไหน เพื่อเสริมส่วนที่ขาดให้เกิดความสมดุล
3. การดริปวิตามินเข้าสู่ร่างกาย
เป็นการฉีดวิตามินเข้าสู่ร่างกายโดยตรงผ่านทางเส้นเลือด ทำให้ได้รับวิตามินที่เข้มข้น จึงเห็นผลลัพธ์ที่เร็วกว่าการรับประทานวิตามินเม็ด การให้วิตามินทางหลอดเลือดสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ต้านอนุมูลอิสระที่เข้ามาทำร้ายผิวและอวัยวะต่างๆ เป็นการบำรุงรักษาทั้งอวัยวะภายในและผิวพรรณภายนอก กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ปรับสมดุลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย เหมาะกับคนทั่วไปที่อยากเสริมภูมิคุ้มกันให้ตนเองและผู้ที่อ่อนเพลีย ป่วยบ่อย หรือป่วยง่ายอยู่เป็นประจำให้แข็งแรงขึ้น
วิตามิน ถือเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมากในทุกช่วงอายุ และไม่ว่าจะตอนที่ร่างกายเป็นปกติ หรือตอนที่กำลังป่วย วิตามินมีหน้าที่สำคัญโดยตรงต่อการทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งหากปล่อยให้ร่างกายขาดวิตามิน ภูมิคุ้มกันก็จะต่ำ ร่างกายจะอ่อนแอลง เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญในการรับวิตามินในแต่ละช่องทาง และไม่ควรละเลยที่จะดูแลตัวเองในการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
อาหาร 8 อย่าง เสี่ยงทำภูมิคุ้มกันตก
อาหาร เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตอยู่ และเป็นตัวกำหนดอนาคตของร่างกาย ยิ่งในเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน อาหารยิ่งมีบทบาทในการช่วยเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย อะไรที่หนักก็กลายเป็นเบา ถ้าร่างกายเราแข็งแรง แล้วอาหารแบบไหนล่ะ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันเราตก
1.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในความจริงแล้วเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ หากดื่มนานๆครั้ง ผลเสียอาจจะไม่เยอะ แต่ถ้าดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อ หัวใจ สมอง ระบบประสาท กระเพาะอาหาร และตับ ซึ่งส่งผลอันร้ายแรงให้แก่ชีวิต แพทย์ได้ออกมาแนะนำว่า หากต้องการดื่มควรดื่ม ไวน์แดง เพราะ มีสารพฤกษาเคมี และห้ามดื่มก่อนนอน เพราะจะทำให้นอนหลับไม่สนิท
2.น้ำผลไม้สังเคราะห์
น้ำผลไม้สังเคราะห์ มีน้ำตาลฟรุกโตสสูงมาก ซึ่งร่างกายใช้เป็นพลังงานไม่ได้ ทำให้เมื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว ตับจะเปลี่ยนไปเป็นไตกีเซอราย ส่งผลให้เป็น ไขมันพอกตับ หากต้องการ วิตามินซี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ควรกินผลไม้จริงๆ
3.มันฝรั่งทอด
เดิม มันฝรั่งเป็นพืชที่มีแป้งเยอะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากนำไปแปรรูป ด้วยการทอดยิ่งจะทำให้เพิ่มผลเสียต่อสุขภาพ และเป็นสิ่งที่ไม่ควรกินเป็นประจำ
4.น้ำมันทุกชนิดที่ผ่านกรรมวิธี
เป็นที่ทราบกันดีกว่า การทอด เป็นกรรมวิธีที่ทำให้ร่างกายได้รับไขมันเป็นจำนวนมาก สาเหตุก็มาจากน้ำมันที่ใช้ หากบริโภคน้ำมันมากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
5.ครีมเทียม
พบมากในกาแฟสำเร็จรูป ซึ่งทำให้น้ำหนักและไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น มีภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ไขมันพอกตับ พอกช่องท้อง
6.อาหารปิ้งย่าง
การบริภาคอาหารประเภทดังกล่าว เสี่ยงต่อการรับสารก่อมะเร็งอย่างมาก โดยเฉพาะสารพีเอเอช หรือ สารกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAH : Polycyclic aromatic hydrocarbon) ซึ่งพบในเขม่าควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ น้ำมันดิบ และยังทำให้แก่เร็วอีกด้วย
7.ของทอดซ้ำ
หากเรารับประทานอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำมาก ๆ จะทำให้การเจริญเติบโตลดลง มีไขมันสะสมที่ตับ
เซลล์ตับและไตถูกทำลาย ไขมันเหล่านี้เมื่อถูกความร้อนสูงจะเกิดการ oxidized ทำให้เกิดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดได้
8.แป้งขัดขาว
คือ แป้งที่ไม่มีกากใยทุกชนิด ขนมปัง เส้น หากกินแป้งขัดขาวเข้าไป มันจะเปลี่ยนน้ำตาลภายใน 3 นาที และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ไปจับโปรตีนและทำลายโปรตีนตั้งแต่หัวจรดเท้า ทำให้ร่างกายแก่ลงนั่นเอง
ซึ่งอาหารที่กล่าวมาทั้งหมด จะกระตุ้นให้เกิดความอ้วน การดูดซึมวิตามินน้อยลง ฮอร์โมนสำคัญที่จะลดลง คือ วิตามินดี 3 ซึ่งหากน้อยจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากทุกอย่าง แพทย์ยังได้ออกมาแนะนำว่า ควรกินเห็ดขาว ในมื้อเย็น ให้ลดข้าวขาว ควรทานข้าวที่ไม่ขัดสี และกินผักให้มากกว่าข้าว กินอาหารเพิ่มโพรไบโอติก ช่วยเพิ่มเชื้อดีในลำไส้ เช่น ถั่วเน่า นัตโตะ จะช่วยลดกระดูกพรุน ลดอาการไขมันในเลือดสูง หรือโยเกิร์ตไม่หวาน ชาหมักคอมมูจิ กิมจิ บำรุงลำไส้ได้ดี เป็นต้น
โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นโรคร้ายที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ แต่มีข้อบ่งชี้แสดงอาการป่วยในหลาย ๆ อวัยวะร่วมกันโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันหรือต่างช่วงเวลาก็ได้ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ของแต่ละอาการเป็นระยะ และอาการรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน อาจมีข้อบ่งชี้โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE ได้
5 วิธีดูแลตัวเองเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี
การป้องกันไม่ให้เกิดอาการภูมิตก คือ การดูแลสุขภาพให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการลดพฤติกรรมเสี่ยง การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การพักผ่อนที่เพียงพอ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ รวมทั้งการเสริมสุขภาพด้วยตัวช่วยต่าง ๆ เช่น การทานวิตามินเสริมก็จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการ ภูมิคุ้มกันต่ำได้เช่นกัน ซึ่งเรามีวิธีดูแลสุขภาพให้แข็งแรงแบบง่าย ๆ มาแนะนำกัน สามารถทำตามได้ไม่ยากด้วยการปรับพฤติกรรม ดังนี้
1. สารอาหารที่เพียงพอ
การได้รับสารอาหารที่เพียงพอจากการเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การเลือกทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งทานวิตามินซีเพิ่มภูมิคุ้มกัน และแร่ธาตุต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ลดทานอาหารขยะและฟาสต์ฟูดที่มีสารอาหารต่อร่างกายน้อยและยังเสี่ยงกับการเกิดโรคต่าง ๆ การปรับพฤติกรรมเหล่านี้คือสิ่งที่จะช่วยป้องกันการเกิดภูมิตกได้ในระยะยาว
2. ดื่มน้ำสม่ำเสมอ
อีกวิธีที่ช่วยป้องกันอาการภูมิตกได้ดีนั้นก็คือการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน และต้องอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับแต่ละคนด้วย สามารถคำนวณหาปริมาณน้ำที่ต้องดื่มในแต่ละวันด้วยวิธีดังนี้
ค่าน้ำหนักตัว x 2.2 ได้ผลลัพธ์เท่าไหร่ให้ x 30 แล้วนำผลลัพธ์หารด้วย 2
จะได้เป็นปริมาณน้ำเป็นมิลลิลิตรที่เราควรดื่มใน 1 วัน
ตัวอย่าง ถ้าน้ำหนักตัว 55 กิโลกรัม จะมีวิธีคำนวณดังนี้ 55 x 2.2 = 121 x 30 = 3630/2 =1815 มิลลิลิตรหรือ 1.8 ลิตร เท่ากับว่า 1 วันควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1.8 ลิตร การดื่มน้ำสะอาดจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเลือด ระบบขับถ่าย และช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้นขึ้นด้วย แนะนำเลยว่าควรฝึกให้เป็นนิสัยตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะไม่ว่าวัยไหนก็ตามการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอนั้น คือสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายมากที่สุด
3. จัดการความเครียด
การบังคับจิตใจไม่ให้เกิดความเครียด เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะปัจจัยแวดล้อมมากมายล้วนมีผลกระทบค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องความรัก เศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม และอีกมากมายล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจอาจทำให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว การมีแนวทางในการจัดการกับความเครียดของแต่ละคนอย่างเหมาะสม จะช่วยบรรเทาความเครียดเหล่านี้ได้ ซึ่งจะผลดีกับสุขภาพในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันด้วยเช่นกัน
4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ แต่ต้องเลือกวิธีที่เหมาะกับแต่ละบุคคลด้วย เพราะการออกกำลังกายแบบผิดวิธี หรือหนักเกินกว่าสภาพร่างกายรับได้ ก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีได้
ซึ่งการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงในเรื่องของภูมิตกได้เป็นอย่างดี หากเป็นผู้สูงวัยยิ่งสามารถพบการเกิดภูมิตกได้มากกว่าคนอายุน้อย จึงควรออกกำลังกายอย่างเป็นประจำด้วยกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายด้วยเช่นกัน
5. พักผ่อนให้เพียงพอ
สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างสำหรับการป้องกันภูมิตก คือ การนอนหลังพักผ่อนให้เพียงพอ ในทุก ๆ วันควรนอนให้ได้อย่างน้อย 6-10 ชั่วโมง โดยขึ้นอยู่กับสภาพการทำงาน การใช้ชีวิตของแต่ละคนด้วยว่าต้องการการพักผ่อนมากน้อยเพียงได้ หากเมื่อไรที่เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าให้ผ่อนคลายร่างกายด้วยการนอนเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ พร้อมกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
หรือหากเมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายใจ ก็ให้ผ่อนคลายความตึงเครียดในจิตใจด้วยการออกไปท่องเที่ยว หาสถานที่หย่อนใจคลายความเครียด ทำกิจกรรมที่ชอบและมีความสุขที่จะทำ รับประทานอาหารอร่อย ๆ ให้รางวัลกับตนเอง ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอาการภูมิตกได้เช่นกัน
รู้จักโรคแพ้ภูมิตัวเอง ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
พญ.กัลยกร เชาว์วิศิษฐ อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซัม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภูมิคุ้มกันของคน ๆ นั้นทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองจนเกิดการอักเสบและสามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคได้ เช่น กรรมพันธุ์ (อาจจะมีสารพันธุกรรมบางชนิดที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง) ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อภายในร่างกาย แสงแดด เป็นต้น หากป่วยเป็นโรคนี้ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Antinuclear Antibody ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน
อาการบอกโรค
อาการของโรคนี้จะแสดงความผิดปกติในร่างกายในหนึ่งอวัยวะหรือหลายอวัยวะ ที่พบได้บ่อยคือ
- ปวดข้อ
- เป็นไข้ตั้งแต่ไข้ต่ำ ๆ จนถึงไข้สูง
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- เกิดผื่นผิวหนังตามใบหน้า แขน ขา ที่อยู่บริเวณนอกเสื้อผ้า
- ผมร่วง
- มีสภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ ถ้าโรครุนแรงอาจมีเม็ดเลือดแดงแตก ปอดอักเสบ ไตอักเสบ
- แพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคร้ายจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ
ตรวจวินิจฉัยโรค
การตรวจวินิจฉัยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ที่ทำการรักษาเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติของผู้ป่วย การตรวจร่างกายพบรอยโรคร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์หัวใจและปอด ฯลฯ
แนวทางการรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง
โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรักษาที่สม่ำเสมอช่วยทำให้โรคสงบได้ โดยแพทย์จะเริ่มทำการรักษาจากการประเมินความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยเป็นว่ามากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละคนอาการจะมีความรุนแรงของโรคไม่เท่ากัน
หลังจากนั้นจึงวางแผนการรักษาและการให้ยา ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก เกิดการอักเสบของร่างกายในหลายระบบ แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิเพื่อคุมโรค ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละคนจึงได้ยาแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรค
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรค SLE
ข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) คือ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการออกแดด
- ลดและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อด้วยการทานอาหารที่สะอาด
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลดหรือเพิ่มยาเอง
- มาตรวจหรือพบแพทย์ตามนัดอย่าให้ขาด เพราะการพบแพทย์และได้รับรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
อ้างอิง : โรงพยาบาลกรุงเทพ ,โรงพยาบาลพญาไท1 ,สมาพันธ์ เฮลธ์