MIDL Week 2024 ผนึกพลังพร้อมบวกสื่อลวง ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกัน
โลกออนไลน์มีทั้งด้านบวกและด้านลบ การรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สูงอายุยังน่าเป็นห่วง นำมาสู่งาน "MIDL Week 2024" ที่ผนึกพลังพร้อมบวกสื่อลวง เพื่อเสริมสร้างความเป็น "พลเมืองรู้เท่าทันสื่อ" ให้คนไทยในการต่อสู้กับสื่อที่ไม่ปลอดภัย
ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตมีบทบาทและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเราอย่างไม่อาจทัดทานได้ เราต้องใช้อินเตอร์เน็ตเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อการทำงาน สื่อสารกับคนอื่น หรือเพื่อเสพความบันเทิง
ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่นิยมและมีการเข้าถึงใช้งานอินเตอร์เน็ตอันดับต้น ๆ ของโลก จากการสำรวจพฤติกรรม 3-4 ปีล่าสุด หลายสำนักยังคอนเฟิร์มว่า คนไทยใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูง ถึง 8 ชั่วโมง เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน โดยเฉพาะในโซเชียลฯ และช้อปปิ้งออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งการใช้สื่อออนไลน์ต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่เป็นเรื่องน่ากังวล หากการนำไปใช้มุ่งไปเพื่อสร้างประโยชน์เชิงบวกอย่างเดียว แต่ต้องยอมรับว่า "ภัย" ในโซเชียลออนไลน์ที่แฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ คืออีกประเด็นร้อนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสังคมไทยวันนี้ และจะไม่น่ากังวลยิ่งกว่า หากเรา "ทุกคน" สามารถรู้เท่าทันกลเกมของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียม
เปราะบางทางโซเชียลฯ
ปัจจุบันภัย สื่อออนไลน์ ยิ่งทวีกลเกมในหลายรูปแบบมากขึ้น และรุนแรงขึ้น จนยากที่ใครจะไม่เพลี่ยงพล้ำ ลำพังคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับการใช้สื่อออนไลน์ ยังพอมีไหวพริบเพียงพอที่จะ "รับมือ" กับภัยสื่อเหล่านี้ได้
หากแต่สำหรับ "กลุ่มเปราะบาง" บางกลุ่ม อย่างเช่น เด็ก และผู้สูงอายุ อาจมีทักษะในการรับมือกับสื่อออนไลน์ได้น้อยกว่า ด้วยขาดประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจ จึงกลายเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ "ผู้ร้ายในโลกออนไลน์" ทั้งหลายพยายามฉกฉวยโอกาสล่อลวง จนทำให้มีข่าวที่เห็นบนสื่ออยู่ทุกวัน
ฟังประเด็นเรื่อง ภัยออนไลน์ จากคำบอกเล่าของ เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน ที่เปิดเผยข้อมูลใน กิจกรรมการจัดงาน "สัปดาห์การรู้เท่าสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2567" หรือ "MIDL Week 2024" ภายใต้แนวคิด "A(m)I Connext? พลเมืองสื่อ: เชื่อมโยงสู่โลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลง" ว่า ปัญหาใหญ่ของ ภัยออนไลน์ ที่กระทบต่อเด็กและเยาวชน คือการพนันและการล่อลวง ซึ่งการสร้างทักษะด้านการ รู้เท่าทันสื่อ ของเด็กและเยาวชนในหลักสูตรการศึกษายังไม่เป็นไปตามแผนการปฏิรูป ขณะที่ผู้สูงอายุเองก็เป็นกลุ่มที่มีความไม่เท่าทันสื่อออนไลน์สูงเช่นกัน
"สื่อยุคปัจจุบันมีมิติที่ซับซ้อน ถามว่ากลุ่มไหนน่าเป็นห่วงมากที่สุด จะบอกว่าน่ากังวลทุกกลุ่ม เพียงแต่กลุ่มที่ควรเข้าไปหนุนเสริมเร่งด่วน เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่โดนหลอกลวงมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงวัย เพราะเขาไม่ได้เติบโตมากับยุคดิจิทัล ฉะนั้นเรื่องการใช้เครื่องมือก็เรื่องหนึ่ง เรื่องข้อมูลก็เรื่องหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องการรู้เท่าทันกับโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ถือเป็นอีกเรื่องใหญ่ของผู้สูงวัยที่ต้องใส่ใจเช่นกัน"
ปั้นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ
สัปดาห์การรู้เท่าสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2567 เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย โดยมีที่มาจากการผลักดันของยูเนสโก ที่กำหนดให้มีการจัดงาน Global Media Information Literacy Week ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี รวมถึงเป้าหมายที่ต้องการขับเคลื่อน "ความร่วมมือร่วมใจ" ในประเด็นการรู้เท่าทันสื่ออย่างเป็นรูปธรรมของเหล่าภาคีด้านสื่อสร้างสรรค์
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากสถิติปี 2567 ยังคงพบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต
เมื่อดูมิติด้านการรู้เท่าทันสื่อจากผลการสำรวจสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและการเข้าใจดิจิทัลของประเทศไทย พบว่า คนไทยมีสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อ ในระดับดี โดยสมรรถนะที่ควรส่งเสริมพัฒนาคือ การเข้าถึงดิจิทัล และเมื่อเจาะลึกทักษะด้านดิจิทัล พบว่า คนไทยกว่า 60% อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชน และผู้สูงอายุ ดังนั้น สสส. จึงต้องสานพลังภาคีทุกภาคส่วนเร่งสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล พร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกยุคใหม่
"ปัจจุบันปัญหาเรื่องสื่อไม่ปลอดภัย การหลอกลวงทางออนไลน์ มิจฉาชีพ ข่าวลวง ข่าวปลอมเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน ทั้งความเครียด จากการถูกหลอกลวง ผลกระทบทางเศรษฐกิจไปถึงการเสียค่ารักษาพยาบาลจากปัญหาสุขภาพจิตและกาย จึงทำให้ สสส. ให้ความสำคัญ"
สำหรับไฮไลต์ของ MIDL Week 2024 ปีนี้ คือการเชื่อมร้อยการขับเคลื่อนไปกับประเด็นการ รู้เท่าทันสื่อ ในระดับสากล มุ่งสร้างความตระหนักและส่งเสริมความสามารถของคนทุกกลุ่มวัย ให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์และการสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ที่นอกจากจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยสถานการณ์การทำงานด้านการขับเคลื่อนประเด็นการรู้เท่าทันสื่อ ยังมุ่งเน้นการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะ
นอกจากมีการประชุมวิชาการ ซึ่งมีแกนนำภาคประชาสังคมต่าง ๆ ด้านสื่อสร้างสรรค์กว่า 30 หน่วยงานที่มาจับมือสร้างแนวร่วมในการทำให้สื่อปลอดภัยจากทั่วประเทศ ร่วมหารือในการที่จะสร้างแรงบันดาลใจ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในการทำงาน สามารถวางยุทธศาสตร์ร่วมกันผ่านสื่อต่าง ๆ
ผู้จัดการ สสส. ยังย้ำต่อว่า กิจกรรมครั้งนี้จะช่วยสร้างเสริมสร้างความเป็น "พลเมืองรู้เท่าทันสื่อ" ให้คนไทย เพราะต้องเป็นพละกำลังสำคัญในการต่อสู้ปัญหาสื่อที่ไม่ปลอดภัย โดย สสส. มุ่งสร้างระบบนิเวศสื่อที่เอื้อต่อการสร้างวิถีสุขภาวะ 4 มิติ ด้วยการพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองที่รู้เท่าทันสื่อ เป็นผู้ใช้ ผู้ผลิต และผู้เผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่จะช่วยผลักดันให้เกิดเป็นระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ เช่น การพัฒนากลไกสื่อสารสุขภาวะและเฝ้าระวังตรวจสอบสื่ออย่างมีส่วนร่วม การจัดการความรู้ การขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายระดับชุมชนและสังคมที่เอื้อต่อวิถีชีวิตสุขภาวะ การจัดงานครั้งนี้ มีหมุดหมายสำคัญ คือ การแสดงพลังที่เข้มแข็งของเครือข่ายที่ทำงานด้านการรู้เท่าทันสื่อ เป็นพื้นที่ในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน
"การเชื่อมโยงมีความสำคัญ นอกจากองค์ความรู้ที่เรามีให้ ยังมีองค์ความรู้จากภาคีเครือข่ายที่มาแลกเปลี่ยนกันได้ หลายเครือข่ายสามารถหนุนเสริมกันได้ บางส่วนอาจเข้มแข็งในเรื่องของการพัฒนากิจกรรม เกม บางส่วนอาจเข้มแข็งในเรื่องเกมนิทาน การจัดการ หรือบางส่วนเข้มแข็งเรื่องการเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ จะเป็นโอกาสดีที่ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เพราะสื่อทุนนิยมมันมีพลังมากกว่า ดังนั้นเราต้องนำความเชื่อมโยง และเครือข่ายที่เข้มแข็งมาสู้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยนำพาสังคมไทยไปสู่นิเวศสื่อสุขภาวะ ที่พลเมืองทุกคนอยู่ร่วมกับโลกของการสื่อสารและความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งได้อย่างปลอดภัย" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ผนึกพลังเครือข่าย สร้างนิเวศสื่อน้ำดี
รศ.ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้สนับสนุนและดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ด้านการเท่าทันสื่อในภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มของอาจารย์และนักศึกษาทุกชั้นปี รวมถึงยังได้พัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หรือกิจกรรมใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ด้านการเท่าทันสื่อให้กับสังคม สำหรับงาน MIDL Week 2024 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ร่วมกับ สสส. จัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาจะมีโอกาสสร้างความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพในระดับประเทศและนานาชาติ นำไปสู่ความร่วมมือในการทำวิจัยและบริการวิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อที่ส่งผลต่อสังคมและความต้องการของชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป
"ในฐานะที่เรามีองค์ความรู้เรื่องการผลิตสื่อ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เราจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีสรรค์สร้างสังคม ทำให้มีภูมิคุ้มกันด้านการใช้สื่อ เนื่องจากประสบการณ์ของเรา ถ้าเราใช้ความรู้ที่เรามี การร่วมกับภาคีเครือข่ายเหล่านี้ จะสามารถขยับขยายบทเรียนต่าง ๆ ไปสู่เยาวชน สังคมเครือข่ายเป็นอย่างดี"
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า งานครั้งนี้เป็นการนำจุดแข็งของแต่ละภาคีมาร่วมรณรงค์ให้ไทยเป็นสังคมของการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการหาแนวทางเพื่อให้การรู้เท่าทันสื่อสอดคล้องกับสถานการณ์สังคมและโลก
"ปีที่แล้วเราลงพื้นที่ ในนามอนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อไม่สร้างสรรค์ ใน 5 ภูมิภาค ร่วมกับแกนนำเครือข่าย เราได้ดีไซน์กิจกรรม ภายใต้หัว รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ ขึ้น โดยเป็นเวิร์กช็อปที่คัดเลือกประเด็นที่อยู่ในกระแสตอนนั้น เช่น เรื่องของ cyber bullying มิจฉาชีพ Fake News และ cyber crime ซึ่งเราได้ถอดบทเรียนแต่ละภูมิภาคเขาประสบปัญหาอะไรในแต่ละประเด็น เพราะมีความแตกต่างกัน เราพบว่าบางพื้นที่เจอเรื่อง cyber bulling แต่เขารับมือไม่ได้ เราก็จะมีเครือข่ายอื่นที่แข็งแรงหรือเคยมีโมเดลในเรื่องนี้ ก็จะเข้าไปแนะนำว่าควรทำอย่างไร สำหรับปีต่อไป จากการที่เราได้เห็นปัญหาแล้ว เราจะทำต่อยอด โดยกองทุนสื่อฯ วางโมเดลไว้ว่า เราขอทำกับภูมิภาค เพราะขาต้องการความช่วยเหลือไม่ต่างกัน เขาก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน แต่องค์ความรู้มันอยู่แต่ในกรุงเทพฯ" ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว
โดยในงานทางคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยฯ ยังได้นำประเด็นเรื่อง "รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ เพื่อขับเคลื่อนสังคม" ที่ทำงานร่วมกับภูมิภาคมาถอดบทเรียน พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนงานรู้เท่าทันสื่อร่วมกัน และสังเคราะห์ข้อมูล นำไปเป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนต่อไป