ปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน กับต้นทุนทางเศรษฐกิจ
ปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน นับเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของสังคมไทย ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯกว่า 2 หมื่นคน ที่ต้องเสียโอกาสทางการศึกษา ดังนั้นรัฐควรมีมาตรการฟื้นฟู ทั้งระหว่างอยู่ในสถานพินิจฯและติดตามหลังพ้นโทษไป
จากข้อมูลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในปี 2562 มีจำนวนเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ 20,842 คน ทั้งนี้หากเทียบกับ 5 ปีก่อน นับว่าดีขึ้นมาก ในปี 2557 มีเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ ถึง 36,467 คน เรียกว่าลดลงมา 40%
อย่างไรก็ตาม การมีเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ มากถึงสองหมื่นคน นับเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของสังคมไทย ทั้งตัวเยาวชนที่เสียโอกาสเล่าเรียนในวัยที่พึงหาความรู้ โตไปเมื่อไม่มีความรู้ก็ไม่สามารถหางานที่ดี มีรายได้สูง เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจยังสูญเสียแรงงานที่มีศักยภาพสูงหรือขาดการบ่มเพาะทักษะวิชาชีพในอนาคตไปด้วย นี่ยังไม่นับงบประมาณที่กรมพินิจฯ ต้องใช้ในการบริหารจัดการกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท
คำถามน่าสนใจคือ เราจะช่วยกันลดการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนได้อย่างไร?
เมื่อไปดูสถิติพบว่าความผิดในคดีของเด็กและเยาวชนมาจาก 3 องค์ประกอบหลัก หนึ่ง สำคัญสุดคือครอบครัวและความอบอุ่นจากครอบครัว ในปี 2562 มากกว่า 60% ของผู้ทำผิดมาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง สอง จากปัญหายาเสพติด มากกว่า 50% ของผู้ทำผิดเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด โทษยาเสพติดในกฎหมายไทยระบุไว้ค่อนข้างสูง สาม จากปัญหาการทำผิดซ้ำ โดยสัดส่วนเยาวชนที่ออกจากสถานพินิจฯ กระทำผิดซ้ำมากถึง 40% ซึ่งนับว่าสูงทีเดียว
ดังนั้น สำหรับแนวทางป้องกันปัญหา ความอบอุ่นจากครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญสุด หลายคนอาจสงสัยว่าฐานะครอบครัวสำคัญไหม จากการให้ข้อมูลของอธิบดีกรมพินิจฯ พบว่า ฐานะครอบครัวไม่ใช่ปัจจัยทางตรง แม้ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี แต่หากผู้ปกครองเลี้ยงดูด้วยความรัก เป็นที่พึ่งพิงให้เด็กได้ ฐานะก็ไม่ใช่ปัจจัยให้เด็กกระทำผิด อย่างไรก็ตาม ฐานะอาจเป็นปัจจัยทางอ้อม เช่น หากครอบครัวยากจน พ่อแม่ต้องทำงานจนไม่มีเวลาดูแล ก็เพิ่มความเสี่ยงให้เด็กทำผิดได้
ดังนั้นในฐานะรัฐบาลและประชาสังคม ถ้ามีกลไกช่วยให้ทราบว่าครอบครัวใดมีฐานะยากจน มีความเสี่ยงที่ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเด็กได้ ภาครัฐและประชาสังคมควรเข้าไปช่วยดูแล เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ขณะเมื่อเด็กทำผิดและเข้าสู่สถานพินิจฯ รัฐควรมีมาตรการฟื้นฟูทั้งระหว่างอยู่ในสถานพินิจฯ และติดตามหลังพ้นโทษ เมื่ออยู่ในสถานพินิจฯ ควรได้รับการศึกษา ฝึกอาชีพ เพื่อจะได้มีอาชีพเมื่อพ้นโทษไป ขณะเดียวกันเมื่อพ้นโทษ รัฐควรติดตามว่าเยาวชนเหล่านั้นมีงานทำหรือไม่ สถานภาพครอบครัวเป็นอย่างไร เพราะหากไม่มีความอบอุ่นจากครอบครัว ไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ ก็มีความเสี่ยงที่จะทำผิดซ้ำ กลับเข้าสู่สถานพินิจฯ หรือทัณฑสถานอีก
สมควรที่เราทุกคนจะช่วยกันลดปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนไทยครับ