ปลดล็อกงานวิจัย 'จากหิ้งสู่ห้าง' เพิ่มศักยภาพการแข่งขันประเทศ
ต่อยอดงานวิจัย "จากหิ้งสู่ห้าง" พลิกโฉมประเทศไทยให้สามารถผลิตสินค้ามูลค่าสูงด้วยนวัตกรรม นำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง
‘งานวิจัยขึ้นหิ้ง’ คำกล่าวที่มักใช้ปรามาสผลงานวิจัยพื้นฐานว่าไม่สามารถนำมาต่อยอดให้ใช้จริงได้ ทว่าปัญหาที่แท้จริงใช่ว่างานวิจัยไทยไร้ศักยภาพ แต่ส่วนหนึ่งมาจากการขาดการต่อยอดงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการสู่การทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้แก่ภาคเอกชน
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า คนมองว่างานวิจัยไทยอยู่บนหิ้ง เพราะว่าส่วนใหญ่ให้ทุนวิจัยลักษณะนั้นเป็นแบบเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ รัฐบาลทั่วโลกต่างให้ทุนมหาวิทยาลัยทำวิจัยในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือภาคเอกชนในแต่ละประเทศมีความพร้อมหรือกล้าเผชิญความเสี่ยงในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับที่ต่างกัน
“ในการทำงานวิจัยหรือพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จะมีขั้นตอนหรือระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม (Technology Readiness Levels : TRL) ที่แตกต่างกันแบ่งออกได้เป็น 9 ระดับ ถ้าเป็นประเทศในโลกตะวันตก เช่น อเมริกา ยุโรป ภาคเอกชนจะกล้าเสี่ยงลงมารับถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับ TRL3 ซึ่งเป็นผลงานวิจัยอยู่ในระดับพร้อมประยุกต์ใช้ แต่ยังไม่มีการทดลองขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเขาพร้อมที่จะไปทดลองต่อเอง
ขณะที่ซีกโลกตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน วัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ภาคเอกชนไม่กล้าลงมารับถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับต้นๆ เพราะมองว่ายังมีความเสี่ยง แต่รัฐบาลก็สนับสนุนออกเงินทุนให้มีการทดสอบต่อในระดับ TRL4-9 เป็นการทดลองขยายขนาดการผลิตในโรงงานนำร่อง (Pilot Plant) เพื่อให้เอกชนกล้าตัดสินใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนั้นงานวิจัยไม่อยู่บนหิ้งแล้ว เพราะถูกกรองมาแล้วว่าคุ้มที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ แต่สำหรับประเทศไทยการทดลองผลิตต้นแบบในระดับอุตสาหกรรมยังถูกปล่อยว่างไว้ ทั้งเอกชนและรัฐบาลไม่มีใครสนใจ เราขาดตรงนี้ ทำให้เอกชนไม่กล้าเสี่ยงลงทุน”
- สร้างสะพานเชื่อมงานวิจัยสู่ภาคธุรกิจ
เพื่อผลักดันงานวิจัยให้ก้าวข้ามผ่าน ‘หุบเหวมรณะ’ นำไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้จัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้าน 3 หน่วยงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)’
รศ.ดร.สิรี กล่าวว่า บพข. ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปิดช่องว่าง ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ได้ กลไกการทำงานจะมีการจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ โดยจะเน้นให้ทุนงานวิจัยที่เอกชนต้องการ หรือมีการกลั่นกรองมาแล้วว่ามีศักยภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจพัฒนาประเทศได้
“บพข. ยังสนับสนุนทุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น การสร้าง Pilot Plant ให้มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานวิจัยสามารถทดลองขยายผลผลิตของตนเองขึ้นสู่ระดับอุตสาหกรรม ที่สำคัญยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI) เพื่อส่งเสริมรับรองสินค้านวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและปลอดภัย”
นอกจากการสร้างความน่าเชื่อถือให้นานาชาติยอมรับในคุณภาพสินค้าไทยแล้ว รศ.ดร.สิรี บอกว่า ยังต้องมีการสร้างระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ตลอดกระบวนการผลิตได้ด้วย โดยยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยด ผู้บริโภคต้องตรวจสอบได้ว่าเป็นข้าวที่ผลิตจากจังหวัดพัทลุงจริงหรือไม่ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ด้วยสินค้านวัตกรรมหรือสินค้ามูลค่าสูงเหล่านี้ล้วนเป็นตลาดใหม่ จึงต้องมีการศึกษาวิจัยตลาดนวัตกรรมไปควบคู่กัน ซึ่งกลไกการทำงานทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนผลักดัน
“การทำงานจะเน้นรูปแบบจตุภาค (quadruple helix) เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐเอกชน ชุมชน สังคม มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย รวมถึงเครือข่ายต่างประเทศ เพราะถ้าจะให้งานวิจัยไปถึงปลายทางคงไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย ต้องมีการปรับกฎหมายให้ทันสมัย เช่น บอกว่าต้องการขายของให้มีราคาสูงขึ้น ภาครัฐจะต้องสนับสนุนในการผลิต การรับรองมาตรฐาน เช่นเดียวกัน บพข. หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นการให้ทุนวิจัยจะไม่ใช่แบบเดิมที่มีแค่นักวิจัย แต่จะสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม ถึงจะเห็นทางว่าในที่สุดจะสำเร็จไปสู่เชิงพาณิชย์ได้”
- หนุนวิจัย BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ
นอกจากการส่งเสริมเพิ่มความสามารถในการแข่งขันแก่ภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนแล้ว บพข. ยังมุ่งเป้าขานรับนโยบาย ‘BCG Economy Model’ กลไกการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เน้น 3 เศรษฐกิจหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ด้วยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิตและบริการที่สำคัญของไทยใน 4 สาขา ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและวัสดุชีวภาพ และท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งตอบโจทย์ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ของประเทศ
รศ.ดร.สิรี กล่าวว่า แนวคิดของ BCG Economy Model คือการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูง โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศไทย ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ บพข. ที่ต้องสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประเทศ จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่ต้องสนับสนุนและดำเนินการ โดยพยายามเปลี่ยนโมเดลการผลิตของประเทศจากการผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย ไปสู่การผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก
“ยกตัวอย่าง ด้านเกษตรและอาหาร ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกผลิตผลทางการเกษตรและอาหารจำนวนมาก แต่ไม่รวยสักที เพราะว่าเรานิยมขายของปริมาณมาก ราคาถูก ขณะที่ประเทศอื่นใช้วิธีแบ่งทรัพยากรธรรมชาติส่วนหนึ่งมาผลิตของที่มีมูลค่าสูง เช่น มีผลผลิตทางการเกษตรอยู่ 100% จะแบ่ง 70% ทำผลผลิตแบบเดิม แต่อีก 30% นำมาพัฒนาเป็นสินค้ามูลค่าสูง ดังนั้นแทนที่เกษตรกรจะปลูกข้าวขายอย่างเดียว อาจจะแบ่งผลผลิตส่วนหนึ่งมาพัฒนาสารสกัดจากข้าวที่มีมูลค่าสูงกว่า เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอาหาร ที่อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยนมาผลิตสารสำคัญ และกลุ่มอาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) มากขึ้น ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด”
สำหรับด้านสุขภาพและการแพทย์นั้น ในแต่ละปีประเทศไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท หากสามารถวิจัยพัฒนาผลิตยา วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยตนเอง ไม่เพียงช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แต่ยังสร้างความมั่นคงแก่ประเทศชาติด้วย
รศ.ดร.สิรี กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 จะเห็นว่า ประเทศไทยไม่มีความมั่นคงปลอดภัยในด้านการแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์หลายอย่าง เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ชุดตรวจโรค มีภาวะขาดแคลน จึงต้องกลับมาทบทวน เพราะความจริงแล้วประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตได้
โดยในช่วงโควิด-19 บพข. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR และได้ส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ อีกทั้งยังให้ทุนสนับสนุน บริษัท เซโนสติกส์ จำกัด ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 แบบใหม่ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสี ซึ่งให้ผลแม่นยำใกล้เคียง RT-PCR เพื่อใช้รับมือคัดกรองผู้ป่วย และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศ
“บพข. ยังมุ่งส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง Clinical Research Organization : CRO ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารการทำวิจัยทางคลินิก สำหรับทดสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และรับรองได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมีคุณภาพต่อการนำไปใช้งานตามสรรพคุณที่ระบุไว้จริง ซึ่งขณะนี้ บพข. ได้ให้การสนับสนุนบริษัท clinixir ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารกรุงเทพ และคณะแพทยศาสตร์ที่มีโรงพยาบาลทั้งหมด 8 แห่ง เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรมอาหารให้สามารถผลิตสินค้านวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม”
นอกจากนี้ ในส่วนของพลังงานและวัสดุชีวภาพจะเน้นเรื่องของการพัฒนาพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน ขณะที่สาขาท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มุ่งให้ทุนวิจัยในการจัดการการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพทั้งระบบด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อรายให้สูงขึ้น รวมถึงการกระจายรายได้ไปสู่ทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังมีเรื่องของการพัฒนา Digital for BCG ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นส่วนสนับสนุนการพัฒนาทั้ง 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
- วิจัยโจทย์ยาก สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ประเทศ
การพลิกโฉมประเทศไทยให้สามารถผลิตสินค้ามูลค่าสูงด้วยนวัตกรรม เพื่อนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย รวมถึงการพัฒนาโจทย์วิจัยที่ยากและเป็นความต้องการของประเทศมากขึ้น
รศ.ดร.สิรี กล่าวว่า อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนจากที่เคยทำของง่ายๆ สำเร็จรูป หันมาทำของที่ยาก และมีมูลค่าสูง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น และสิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดตอนนี้ คือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งไม่ใช่แค่เอกชนรายใหญ่ แต่หมายถึง SMEs ที่ต้องมาร่วมกันวางเป้าหมายการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความเชื่อมโยงกัน
ปัจจุบันภาคเอกชนเริ่มให้ความสำคัญ เพราะหลายอุตสาหกรรมกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเร่งปรับตัว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร ที่เทคโนโลยีแบบเดิมเริ่มมาถึงทางตัน ถ้าไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูงอีกระดับขั้นอาจจะประสบปัญหาได้
ไม่เพียงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยใหม่ให้ทุกภาคส่วนหันมาสร้างโจทย์วิจัยร่วมกัน ภาครัฐยังเดินหน้าปฏิรูประบบวิจัยครั้งใหญ่ โดยให้มีการจัดสรรงบประมาณวิจัยผ่าน ‘กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม’ เพื่อให้เกิดศักยภาพในการทำวิจัยมากขึ้น รศ.ดร.สิรี มองว่า เป็นข้อดีที่จะช่วยลดปัญหาการวิจัยซ้ำซ้อน ทำให้มีงบประมาณเหลือ และสามารถทำงานได้มากขึ้น
“ส่วนการให้ทุนระยะยาวนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือบางงานวิจัยที่ต้องใช้เวลาจะสามารถพัฒนาได้ต่อเนื่องมีผลงานออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ข้อเสียคืออย่าลืมว่าปัจจุบันโลกหมุนเร็ว บางงานวิจัยใช้เวลามากเกินไป กว่าผลงานจะออกมาอาจล้าสมัยไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่ความผิดของนักวิจัย เพียงแต่หน่วยงานให้ทุนต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน ขณะเดียวกันก็ต้องกลับมาคิดว่าจะมีกลยุทธอย่างไรให้นักวิจัยทำงานวิจัยได้เร็วขึ้น นับเป็นความท้าทายของหน่วยงานให้ทุนในอนาคต”
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สิรี หวังไว้ว่า สุดท้ายปลายทางกลไกการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐจะสามารถขับเคลื่อนงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศได้สำเร็จ
“เราพยายามให้นักวิจัยมองเห็นว่าสุดท้ายผลวิจัยจะต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง ไม่ใช่วิจัยเสร็จ เอกชนในประเทศใช้ไม่ได้ แต่ต่างประเทศมาเอาไปใช้แทน กลายเป็นเราลงทุนวิจัยแทบตาย สุดท้ายไปออกดอกออกผลให้คนอื่น เพราะฉะนั้นภาครัฐก็ต้องพยายามดูแลตั้งแต่ต้นจนจบว่าเมื่อวิจัยเสร็จแล้วจะต้องสามารถต่อยอดให้เกิดดอกออกผลในประเทศให้ได้”