'New Normal' มนุษย์เงินเดือน ปรับชีวิตรับ 'โควิด' รอบใหม่

'New Normal' มนุษย์เงินเดือน ปรับชีวิตรับ 'โควิด' รอบใหม่

สำรวจการทำงานแบบ "New Normal" ของมนุษย์เงินดือนยุค "โควิด-19" เมื่อการทำงานที่บ้าน "Work from Home" กำลังจะกลายเป็นความปกติใหม่ที่ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม

ทันทีที่มีข่าวว่าพบผู้ติดเชื้อ ‘โควิด-19’ ภายในประเทศอีกครั้ง ความกังวลว่าจะเกิดการระบาดระลอกสองก็เริ่มเห็นเค้าลาง ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข่าวคราวการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านและความพยายามหนีข้ามพรมแดนมาประเทศไทยแบบรายวัน นอกจากจะต้องตั้งการ์ดสูง ทั้งเรื่องระยะห่างทางสังคม หน้ากากอนามัย การล้างมือ ฯลฯ ยังรวมไปถึงการกลับมาจริงจังกับรูปแบบการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home

และนั่นทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตการทำงานแบบ 'มนุษย์เงินเดือน' ที่ต้องเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 5 วัน อาจไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นการปรับตัวและปรับองค์กรเพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานวิถีใหม่ ‘New Normal’ จึงจำเป็นอย่างมาก เพื่อการอยู่รอดในยุควิกฤติเช่นนี้

  • 'WFH' ความปกติใหม่หรือตลอดไป

​​หลังจากที่หลายประเทศได้ผ่านการใช้มาตรการล็อกดาวน์กันมาแล้ว มนุษย์ออฟฟิศหลายคนก็ได้ทดลอง Work From Home กันไปบ้างแล้ว ผลการสำรวจผลกระทบโควิด-19 จากทั่วโลกของซิกน่า อินเตอร์เนชันแนล มาร์เกตส์ ร่วมกับกันตาร์ (Cigna COVID-19 Global Impact Study) พบว่าผู้คนจำนวนไม่น้อย หรือร้อยละ 18  รู้สึกว่าชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดย 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจ สามารถทำงานที่บ้านได้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อทัศนคติของผู้คนที่มีต่อวัฒนธรรมการทำงานในอนาคต

ที่น่าสนใจคือมากกว่าครึ่งระบุว่า

"ในอนาคตพวกเขาต้องการทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเวลางานและเป็นไปได้อาจมากกว่านั้น"

โดยประเทศไทยมีความต้องการถึง 56 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าความต้องการทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลาอยู่ในระดับต่ำมาก เนื่องจากผู้คนกลัวติดเชื้อจึงเลี่ยงการทำงานท่ามกลางคนหมู่มาก รวมไปถึงการเดินทางในชีวิตประจำวัน

ผลการสำรวจชิ้นเดียวกันยังระบุว่า การที่หลายบริษัทเริ่มกลับมาทำงานที่ออฟฟิศหลังผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ได้สร้างความวิตกกังวลครั้งใหม่ในหมู่พนักงาน โดย 42 เปอร์เซ็นต์ กังวลว่าจะติดเชื้อโควิด-19 จากการเดินทาง การประชุมต่อหน้า หรือการอยู่ในออฟฟิศร่วมกัน ความกังวลนี้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54 เปอร์เซ็นต์ในสิงคโปร์ และ 51 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

จะเห็นว่าพฤติกรรมของคนทำงานรวมไปถึงการดำเนินธุรกิจกำลังเปลี่ยนไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ หรือ ‘New Normal’ ข้อมูลจากเว็บไซต์ TOT ระบุว่า จากที่เคยต้องทำงานในออฟฟิศพร้อมตอกบัตรเช้า-เย็น เปลี่ยนเป็น Work From Home ซึ่งพนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ นอกจากจะเป็นมาตรการป้องกันการติดเชื้อเบื้องต้นแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงลดปัญหาการเข้างานไม่ตรงเวลาด้วย

159956419719

ภาพโดย Steve Cliff จาก Pixabay 

เป็นไปได้ว่าเมื่อวิกฤตินี้จบลง เจ้าของธุรกิจบางรายน่าจะประเมินได้แล้วว่า การทำงานที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพนั้นไม่จำเป็นต้องให้พนักงานมารวมกันอยู่ที่บริษัทเสมอไป ซึ่งในที่สุดอาจนำมาซึ่งปรับรูปแบบการทำงานใหม่ด้วยการให้พนักงานทำงานจากที่บ้านเป็นหลัก หรือสามารถทำงานที่ไหนก็ได้มากกว่าการเดินทางเข้าบริษัท

และนั่นก็ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานมากกว่าเดิม ระบบออนไลน์หรือแอพพลิเคชันต่างๆ จำเป็นมากในการทำงานยุคนี้ หลายกิจกรรมถูกจัดขึ้นผ่านออนไลน์ทั้งนั้น เช่น การประชุมภายในบริษัท การทำธุรกรรม แม้แต่ธุรกิจที่เคยเป็นแบบออฟไลน์มาก่อนก็ต้องปรับตัวใช้ออนไลน์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ช่วยในการขายมากขึ้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค New Normal ด้วย

เว็บไซต์ JobDB.com อธิบายถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในวิถีชีวิตของคนทำงานไว้อย่างน่าสนใจว่า นอกจาก Work From Home และเทคโนโลยีจะช่วยในการทำงานมากขึ้นแล้ว การประชุมผ่านวิดีโอคอลก็กลายเป็นความคุ้นชินมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสของคนทำงานที่จะพัฒนาทักษะต่างๆ ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ที่ไหนเมื่อไรก็ได้ และเมื่อเรียนจบยังได้ใบประกาศนียบัตรอีกต่างหาก

ทว่า ในข้อดีหลายๆ อย่าง สิ่งหนึ่งที่โลกออนไลน์ไม่อาจทดแทนก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานและองค์กร เพราะความห่างเหินทางกายภาพและทางสังคม อาจส่งผลต่อการสร้างความผูกพันในองค์กรได้

159956341087

ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay 

  • ‘New Normal’ ปรับโหมดการทำงาน

​ก่อนหน้านี้หลายคนอาจกำลังรอคอยให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาวะปกติ รวมไปถึงรูปแบบการทำงาน แต่ในความเป็นจริงดูเหมือนว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตที่ต่างไปจากเดิม กัญญาวีร์ ศรีโยธิน นักธุรกิจ Online Platform บอกว่าแม้โดยลักษณะงานอาจทำให้เธอได้เปรียบในยุคนี้ แต่การทำงานแบบออฟไลน์ เช่น การต้องเข้ามาประชุม การพบปะลูกค้า ยังคงจำเป็นและใช้วิธีเดิมๆ จนเคยชินแล้ว ซึ่งหลังจากนี้คงต้องใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการทำงานแบบเต็มตัว

เธอเล่าว่าในช่วงล็อกดาวน์เป็นจุดเปลี่ยนของรูปแบบการทำงานเลยก็ว่าได้ แม้จะไม่ได้ยึดการทำงานออฟไลน์เป็นหลัก ไม่ได้ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน แต่ยังอาศัยร้านกาแฟหรือคาเฟ่ในการทำงานอยู่บ้าง พอช่วงล็อคดาวน์ต้องกลับมาใช้เครื่องมือออนไลน์แบบจริงจังมากขึ้น ซึ่งจุดเปลี่ยนนี้ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานที่ต้องทรานฟอร์มในรูปแบบออนไลน์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ให้ได้จริงๆ และนั่นทำให้ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจและใช้เครื่องมืออย่างมีประสิทธิภาพ

"การทรานฟอร์มสู่โลกออนไลน์เป็นเรื่องปกติที่สักวันก็ต้องเกิดขึ้นและมีทางให้ไปต่อได้อีกไกล แต่ถ้าวันนี้ไม่มีสถานการณ์มากระทบที่กระตุ้นให้ต้องปรับตัว หลายคนก็จะไม่ยอมก้าวข้ามบันไดนี้ไป เพราะเรายังคงอยากอยู่ในเซฟโซน อยากทำอะไรที่เคยชินและคิดว่าเป็นแบบนั้นก็ดีอยู่แล้ว จึงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง โควิด-19 บังคับให้ทุกคนต้องฝึกใช้เครื่องมือออนไลน์ทุกอย่างให้ได้"

159956340818

ภาพโดย Lynette Coulston จาก Pixabay 

เมื่อหลุดจากเซฟโซนของตัวเองได้แล้ว ต่อไปคือต้องฝึกฝนการทำงานออนไลน์ให้ชำนาญ ซึ่งทุกคนสามารถพัฒนาได้ แต่สิ่งที่จะทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ นั่นคือการยึดติดกับสิ่งเดิมๆ และคิดว่าช่วงวัยเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลง วิธีคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญในการปรับตัว

“ก่อนหน้านี้สัก 2 ปีที่แล้ว เคยทำยูทูบสอนการใช้งาน Zoom ซึ่งตอนนั้นยอดก็ไม่ได้มากแค่หลักร้อย เพราะคนก็ยังไม่ได้สนใจมาก แต่พอต้องทำงานออนไลน์กันมากขึ้นยอดขึ้นมาเป็นหลักพัน มีคนติดตามเพิ่มขึ้น ทำให้เรามีรายได้เสริมอีกทาง และอย่างที่บอก สิ่งๆ นี้มันอยู่กับเรามาตลอด แต่เราแค่ไม่เคยฝึกใช้มัน”

กัญญาวีร์ มองว่า การเปิดรับทักษะใหม่ที่ตัวเองได้เรียนรู้ ไม่ใช่แค่ในเรื่องของงานแต่เป็นเรื่องของการพัฒนาตนเอง ซึ่งจัดอยู่ใน soft skill หรือทักษะด้านอารมณ์ และขีดความสามารถด้านสังคม การใช้ภาษา, การติดต่อสื่อสาร, ความเป็นมิตร, การมองโลกในแง่ดี, การแสดงออกทางสังคม รวมถึงบุคลิก ซึ่งถือว่าสำคัญมากต่อชีวิตการทำงาน และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานโลก

บางคนบอกว่าไม่เก่งเทคโนโลยี เหมือนเขาปิดบล็อคตัวเองไปแล้วมันก็ทำให้เขาพลาดอะไรหลายๆ อย่าง แต่นั่นคือทางรอดที่เราต้องเรียนรู้ให้ได้ อย่างเพื่อนที่เป็นแอร์ช่วงที่ผ่านมาก็ขายขนม ขายออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยคิดจะทำ แต่สถานการณ์ก็บีบบังคับให้ต้องทำเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตินี้

เช่นกันกับ สรศักดิ์ มาแก้ว พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่มีหน้าที่ดูแลระบบเน็ตเวิร์คของบริษัท ช่วงที่ผ่านมาชีวิตการทำงานของเขาได้เปลี่ยนไปเป็น Work From Home ตามมาตรการของรัฐและต้นสังกัดเพื่อแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

ตอนนี้ก็ทำงานอยู่ที่บ้าน แต่บริษัทจะมีระบบ BBN ของบริษัทในการแอสเซตเน็ตเวิร์คจากข้างนอกเข้าข้างใน ตอนแรกไม่ได้เป็นการ work from home เต็มตัว แต่หลังจากที่ระบาดหนักๆ ก็เต็มตัวเลย

ซึ่งหลังจากการปรับรูปแบบการทำงานในครั้งนี้ ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า การเตรียมพร้อมอยู่เสมอเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของอุปกรณ์ที่แตกต่างไปจากการทำงานในออฟฟิศ หรือความพร้อมของตัวเอง  ซึ่งจะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีมากขึ้น ฝึกการใช้งานโปรแกรมที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้ในการประชุมอย่าง Zoom, LINE video call และแม้การทำงานที่บ้านจะมีอิสระมากขึ้น แต่นั่นก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากต้องคอยซัพพอร์ทงานตลอด 24 ชั่วโมง

159956340944

ภาพโดย William Iven จาก Pixabay 

  • 'Work From Home' อย่างมืออาชีพ

ใครที่มีประสบการณ์ Work From Home หรือยังคงทำงานจากที่บ้านอยู่คงจะรู้ดีว่าในจำนวนข้อดีหลายๆ อย่าง ข้อเสียก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะปัจจัยสารพัดที่ชวนให้หันเหออกจากการทำงานหลักได้ง่ายๆ ซึ่งสรศักดิ์บอกว่า เขามีคาถาที่ต้องจำให้ขึ้นใจและทำให้ได้สม่ำเสมอคือ ความรับผิดชอบขณะที่ กัญญาวีร์ แชร์วิถีการทำงานยุคใหม่ในแบบฉบับของตนเองว่า

ที่ผ่านมาเราว่าประสิทธิภาพในการทำงานมันไม่ได้อยู่ที่ชั่วโมงงาน คนทำงานที่บ้านหลายๆ คนก็สามารถทำงานได้ดี และอาจดีกว่าการต้องเข้ามาทำที่ออฟฟิศด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ต้องมาเจอรถติด ไม่ต้องเสียค่ารถในการเดินทาง และยิ่งกรุงเทพฯ คิดว่ารูปแบบการทำงานในออฟฟิศต้องเปลี่ยนไปแน่นอน

การจัดระเบียบตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานที่บ้าน สิ่งที่น่ากลัวของการ work from home คือความรู้สึกอิสระและความสบายเมื่ออยู่บ้าน เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดลำดับชีวิตที่ผิดเพี้ยนไป อาจจะเริ่มจากการจัดมุมทำงาน และกำหนดชั่วโมงทำงานที่ชัดเจน สิ่งสำคัญคือต้องรู้ก่อนว่าเราจะทำอะไร และต้องมีความรับผิดชอบ

อย่างเราจะตื่นเช้ามากินกาแฟ และเริ่มงานสัก 9 โมง ไปจนถึงเที่ยง จากนั้นสักบ่ายสองก็จะเริ่มสตาร์ททำงานจน 6 โมงเย็น จัดสรรเวลาให้ชัดเจน ความอยู่ที่บ้านแล้วมันสบายๆ บรรยากาศมันทำให้เราชิน แต่ถ้าเราสามารถจัดลำดับได้มันจะช่วยเราได้มากขึ้น และในอนาคตคนจะมองเรื่องของการทำอาชีพที่ 2 ที่ 3 มากขึ้น เพราะการที่จะกลับมาทำรายได้เท่าเดิมในการทำงานอย่างเดียวเป็นเรื่องยากในปัจจุบัน

แน่นอนว่าต่อจากนี้ไปชีวิตการทำงานไม่เหมือนเดิมแล้ว แม้วันที่โควิดจบลง มันคงไม่เหมือนตอนต้มยำกุ้งที่พอจบแล้วก็ฟื้นฟูจนกลับมาได้อีกครั้ง ต่อไปมนุษย์เงินเดือนเข้างาน 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น จะไม่มีอีกแล้ว ถ้าคนคิดได้ก่อนปรับก่อนก็จะไปต่อได้เร็วขึ้นนักธุรกิจสาวกล่าวทิ้งท้าย

ใครที่นับวันรอคอยให้ทุกอย่างกลับไปสู่ ภาวะปกติคงต้องคิดใหม่ โลกหลังโควิดคือชีวิตและการทำงานภายใต้ ความปกติใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป