นิทรรศการล้ำค่าจากจดหมายโต้ตอบ'สาส์นสมเด็จ'สองปราชญ์ของแผ่นดิน
แม้ใครก็ตามจะไม่สนใจเรื่องศิลปะวิทยาการเลย แต่อย่างน้อยๆ คงเคยได้ยินชื่อของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งงานนี้มีไฮไล์ทสำคัญๆ ให้ชม
สำหรับคนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี ดนตรีและนาฏกรรม ศิลปกรรม ภาษาและหนังสือ ต่างรู้ดีว่า รากฐานสำคัญของเรื่องเหล่านี้ในสังคมไทยมาจากการทำงาน การคิดวิเคราะห์และรวบรวมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2406) ได้รับการยกย่องให้เป็นนายช่างใหญ่ของกรุงสยามส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2405) ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในเรื่องประวัติศาสตร์ไทย ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชโอรสต่างพระมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นปราชญ์ของแผ่นดินไทย
กรมศิลปากรจึงได้รวบรวมผลงานทั้งสองพระองค์ที่ปรากฏในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” มานำเสนอในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง“ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ”โดยคัดเลือกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุสำคัญกว่า 300 รายการ และสื่อมัลติมีเดียมาจัดแสดง แบ่งการจัดแสดงที่น่าสนใจเป็น 6 หัวข้อ
เหตุใดจึงต้องอ้างอิงจากสาส์นสมเด็จ
เนื่องจากเป็นหนังสือที่รวบรวมจดหมายส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระหว่าง พ.ศ. 2457-2486 ทั้งสองพระองค์ทรงเขียนจดหมายโต้ตอบกัน เกี่ยวกับศิลปวิทยาการด้านต่าง ๆ
รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และภาคีสมาชิก ราชบัณฑิต กล่าวในงานเสวนาเรื่อง:ภาษาและวรรณกรรมในสาส์นสมเด็จว่ากระบวนการทำงานและการคิดของทั้งสองพระองค์ ไม่ใช่แค่ความรู้ที่แลกเปลี่ยนกัน ยังมีมิติแง่มุมที่ได้เห็นความเป็นนักปราชญ์ทั้งสองพระองค์ทรงงานอย่างไร ตกผลึกความรู้ออกมาเป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้อย่างไร
"ในสาส์นสมเด็จที่ได้อ่านตั้งแต่ปี 2457 ซึ่งตอนนั้นมีพระชนมายุ 50 พรรษา คงผ่านกระบวนการเรียนรู้อะไรมากมาย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเรียนจากช่าง บางทีก็ไปทอดพระเนตรการซ่อมแซมพระระเบียงวัดพระแก้ว ช่วงที่รัชกาลที่ 5 ทรงให้มีการฉลองพระนคร 100 ปี ปีนั้นมีการบูรณะวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังครั้งใหญ่ มีการรื้อฟื้นศิลปกรรมหลายๆ เรื่องในช่วงนั้น
ตอนที่สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระเยาว์ ทรงเรียนรู้แบบครูพักลักจำรวมทั้งศึกษาจากเอกสารโบราณ และฝีพระหัตถ์อันเป็นเลิศด้านงานช่างของพระองค์ เกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ และทรงสามารถชี้แจงเหตุผล ความเป็นมาของความคิด รูปแบบ ตลอดจนภูมิปัญญาเชิงช่างเหล่านั้นได้ด้วย ด้วยลายพระหัตถ์ที่สื่ออย่างกระชับ กระจ่าง บางครั้งทรงวาดภาพประกอบคำอธิบาย"
ในนิทรรศการศิลปวิทยากรจากสาส์นสมเด็จมีเรื่องเด่นๆ ดังนี้
1. พระรูปสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ในอดีตคนไทยไม่นิยมสร้างรูปเหมือนบุคคลที่ยังมีชีวิต เพราะเชื่อว่าจะทำให้อายุสั้น แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นพระราชวงศ์องค์แรกๆ ที่ยอมรับแนวคิดตะวันตก และยินดีให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีปั้นหุ่นพระองค์เป็นต้นแบบเมื่อปี พ.ศ. 2466 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างงานประติมากรรมรูปเหมือนบุคคลจริง ทำให้เกิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมรูปและพระรูปในเวลาต่อมา
2.โต๊ะทรงอักษร
โต๊ะสำหรับทรงพระอักษรของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมเครื่องเขียนและของใช้ส่วนพระองค์ และที่สำคัญบนโต๊ะมีร่างจดหมายฉบับสุดท้ายที่ทรงมีถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และปฏิทินที่เปิดหน้าสุดท้ายไว้คือ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2486 ก่อนสิ้นพระชนม์
3.ลับแลอิเหนา
ลับแลคือ เครื่องกั้นใช้สำหรับบังตา กั้นห้อง แบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน โดยลับแลบานนี้ตกแต่งด้วยการเขียนลายกำมะลอ ซึ่งนอกจากปิดทองคำเปลวแล้ว ยังมีการผสมสีฝุ่นกับน้ำรัก ระบายให้มีสีสันบนพื้นผิวด้วย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า วิธีการเขียนลายแบบนี้มาจากช่างจีนที่อยู่ในเมืองไทย และเรื่องราวที่นำมาเป็นเรื่องอิเหนา มิใช่รามเกียรติ์ชาดก หรือพุทธประวัติเหมือนงานจิตรกรรมทั่วไป
4.สมุดภาพตำรารำ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างวาดจัดทำ“ตำรารำ” โดยรวบรวมท่าฟ้อนรำที่สืบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา 36 ท่าให้จิตรกรเขียนภาพลงบนสมุดไทยขาว นับเป็นตำราท่ารำเก่าแก่ ที่ใช้เป็นต้นแบบของการแสดงนาฏศิลป์ของไทย ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรียบเรียงหนังสือตำราฟ้อนรำขึ้นใหม่ให้มีความสมบูรณ์ โดยใช้สมุดภาพตำรารำรัชกาลที่ 1 เป็นต้นแบบ
5.ศิลาจารึกวัดพระงาม
ศิลาจารึกจากเนินสถูปวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม เมื่อพ.ศ. 2562 จารึกหลักนี้จารด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เนื้อความกล่าวถึงการสรรเสริญพระราชา เมืองทวารวดีและการอุทิศสิ่งของถวายเทพเจ้า ในการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าจารึกหลักนี้เป็นหลักฐานสำคัญสนับสนุนแนวคิดเรื่อง การมีอยู่ของ "ทวารวดี” เมืองในยุคสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย เมื่อกว่า 1,500 ปีมาแล้ว
6. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นสัญลักษณ์ของปัญญาและโพธิญาณตามคติพุทธศาสนามหายาน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบรูปนี้ขณะเสด็จตรวจราชการทางภาคใต้ บริเวณวัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้ประติมากรรมชิ้นนี้จะชำรุด แต่ได้ชื่อว่า งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งในสยามประเทศ
7. จินดามณี ฉบับจุลศักราช 1144
หนังสือสมุดไทย “จินดามณี” ฉบับนี้คัดลอกมาจากจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือว่าเป็นจินดามณีฉบับลายมือเขียนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ภายในมีเนื้อหาอธิบายการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน การจำแนกอักษร 44 ตัว รวมถึงการผันวรรณยุกต์และมาตราตัวสะกดต่างๆ ซึ่งสองสมเด็จได้ยกเอกสารชิ้้นนี้เป็นตัวอย่างสำหรับมีพระวินิจฉัยเรื่องสระ วรรณยุกต์ นำไปสู่การพัฒนาตำราเรียน
8.ประติมากรรมสากล
สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงที่สยามประเทศติดต่อกับโลกตะวันตก เปิดรับวิทยาการใหม่ๆ ในด้านต่างๆ รวมถึงศิลปกรรม ในปีพ.ศ.2406 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้ส่งพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 ปั้นหล่อโดยประติมากรชาวฝรั่งเศสมาถวาย นับตั้งแต่นั้นมาการปั้นพระบรมรูปที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกก็เกิดขึ้นในเมืองไทย
ฯลฯ
นิทรรศการ “ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ” จัดแสดงที่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้- 19 พฤศจิกายน 2563 เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)