นั่งรถไฟสายน้ำตก...ไปหลงรัก ‘กาญจนบุรี’
แบกเป้ขึ้นรถไฟสายน้ำตกไปเที่ยว “กาญจนบุรี” ย้อนรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ แล้วไปล่องแพเปียกแม่น้ำแควน้อยให้หายคิดถึง
ราวๆ 6 โมงเช้า พร้อมๆ กับแสงแรกของวันใหม่ โบกี้หนึ่งของรถไฟขบวนพิเศษ ที่ชื่อว่า ‘เที่ยวรถไฟสายน้ำตก-กาญจนบุรี’ ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากต้นทางสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่เส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ฉากหลังนวนิยายสุดเศร้า ‘คู่กรรม’ ที่เมื่อพูดถึงชื่อของตัวเอกอย่าง ‘โกโบริ-อังศุมาริน’ น้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยินและรู้จักเรื่องราวความรักของพวกเขา
วันนี้นอกจากจะพาทุกคนมาย้อนรอยประวัติศาสตร์แล้ว ยังได้ย้อนความหลังเมื่อครั้งแบกเป้หนึ่งใบกับก๊วนเพื่อนซี้ นั่งรถไฟชิลๆ เที่ยวตามวิถีสโลว์ไลฟ์ และทริปนี้ยังเป็นหนึ่งในแคมเปญ ‘คิด..แล้วไปให้ถึง’ ของททท. ซึ่งออกแบบ 5 เส้นทาง จาก 5 ภูมิภาค โดยพระเอกมาดเข้ม ‘เวียร์ ศุกลวัฒน์ ’ ชวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
นั่งมาสักพักบรรยากาศและโทนสีของภาพจากข้างหน้าต่างเริ่มเปลี่ยนไป จากสีสันตึกสูงของเมืองเริ่มถูกแต้มด้วยสีเขียวของต้นไม้และทุ่งนา สลับกับบ้านคนริมทางรถไฟ เป็นป้ายบอกทางว่าเราได้ออกจากเมืองใหญ่มาสู่เมืองปฐมบทของการเดินทางครั้งนี้
“อีกสักครู่เราก็จะถึงสถานีนครปฐม รถไฟจะจอดให้ทุกท่านได้แวะไหว้องค์พระปฐมเจดีย์และเที่ยวชมตลาดเช้าของที่นั่นโดยมีเวลาให้ประมาณ 40 นาทีนะครับ” สิ้นเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่บนรถไฟเป็นสัญญาณให้ทุกคนบนขบวนได้เตรียมตัวกัน และถ้าพร้อมแล้วก็หยิบกล้องคู่ใจกับหมวกใบโปรดตะลุยทริปนี้ไปพร้อมๆ กันเลย
- ระหว่างทาง… ‘นครปฐม’
แม้จะเพิ่ง 7 โมงกว่าๆ แต่แดดก็เริ่มจะแรงพอๆ กับช่วงสายของวัน จากสถานีรถไฟนครปฐมไปยัง องค์พระปฐมเจดีย์ ระยะทางราวๆ 800 เมตร เดินผ่านตลาดเช้าที่คึกคักไปด้วยผู้คนและรถที่สัญจรไปมา สองข้างทางเต็มไปด้วยของกินยอดนิยมประจำตลาดเช้าทุกๆ ที่ อย่างน้ำเต้าหู้ โจ๊ก ลูกชิ้น ไส้กรอก ขนมครก และที่น่าจะเป็นไฮไลท์ของที่นี่คือ 'ข้าวหลาม'
เราเดินไปไม่ถึงองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งอยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร แลนด์มาร์กของจังหวัดนครปฐม เพราะคำนวนเวลาแล้วคงจะเดินกลับมาไม่ทันขบวนรถไฟแน่ๆ เลยหยุดถ่ายรูปเป็นที่ระลึกจากระยะไกล แต่ก็ยังพอเห็นความงามของสถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงกลม รูประฆังคว่ำแบบลังกา ที่มีความสูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ 3 เส้น 1 คืบ 10 นิ้ว หรือประมาณ 120.5 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
...ปู๊นๆๆๆๆ... เสียงหวูดรถไฟเป็นสัญญาณพร้อมออกตัวสู่สถานีถัดไป 'สะพานข้ามแม่น้ำแคว' ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี หมดเวลายืดเส้นยืดสายกันที่นครปฐมแล้ว ถ้าใครที่กลัวว่าจะซื้อของกินไม่ทันนั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะเสน่ห์ที่มาคู่กับการนั่งรถไฟเช่นนี้ก็คือ คนแปลกหน้าที่มาพร้อมกับสารพัดของกินเด่นๆ ประจำจังหวัดและบรรดาน้ำดื่มมากมาย เสิร์ฟให้ถึงที่นั่งดั่งราชรถมาเกยนั่นเอง เลือกช้อปกันได้เลยตามสะดวก
การเคลื่อนตัวช้าๆ อย่างเป็นจังหวะของรถไฟ นอกจากจะทำให้เราได้เพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์สองข้างทางและเป็นช่วงเวลาให้ได้พักสายตา ยังทำให้เพื่อนร่วมทริปคนหนึ่งนึกถึงบทเพลงหนึ่งของดิอินโนเซ้นท์ วงดนตรียุค 1980 โดยมีคีย์เวิร์ดว่า ‘ไทรโยค’ นั่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง ก็ถูกเฉลยโดยกูเกิลซึ่งคือเพลง ‘มนต์รักไทรโยค’ ก่อนที่เราจะลองเปิดฟังดูเผื่อว่าจะคุ้นหูบ้าง
“...เสียงรถไฟวิ่งไปฤทัยครื้นเครง เรามันคนกันเองไม่ต้องเกรงใจใคร พวกเราเพลิน ชม ไพร นั่งรถไฟ ถึงในไทรโยค…” แต่ถึงจะฟังครั้งแรก เพลงนี้กับบรรยากาศเช่นนี้ช่างเข้ากันดีอย่างบอกไม่ถูก
- เส้นทางรถไฟสายมรณะ
รถไฟวิ่งตามเส้นทางร่วมชั่วโมงได้ เราก็มาถึงอีกหนึ่งสถานีที่เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของเมืองกาญจน์ นั่นคือ สะพานข้ามแม่น้ำแคว ทางรถไฟที่ทอดยาวข้ามแม่น้ำแควระยะทางราว 300 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ที่สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยหยาดเหงื่อของเชลยศึกพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียที่ญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างกว่าครึ่งแสนคน
ทางรถไฟแห่งนี้มีความยาวถึง 415 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สถานีชุมทางหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ สู่ปลายทางเมืองตาน-พยูซะยะ ประเทศเมียนมา เพื่อลำเลียงอาวุธและกำลังพลของญี่ปุ่นไปโจมตีเมียนมาและอินเดีย
มีเรื่องเล่าและเปรียบเปรยกันว่า “หนึ่งไม้หมอนของทางรถไฟสายนี้เท่ากับชีวิตหนึ่งชีวิตแรงงานและเชลยศึก” ด้วยการสร้างที่ถือว่าหินที่สุด เพราะเป็นบริเวณที่มีฐานดินหนาแน่นที่สุด และเป็นทางโค้งเลียบหน้าผา น่าจะหลบศัตรูได้ ทำให้หลายชีวิตต้องมาทิ้งไว้ที่นี่จากโรคร้าย ไข้ป่า ขาดสารอาหาร ถูกสัตว์ทำร้ายและถูกทารุณอย่างแสนสาหัส เพื่อให้ได้มาซึ่งทางรถไฟสายนี้
ขบวนรถไฟแวะให้ได้เดินถ่ายรูป ชอปปิงสินค้าได้ประมาณ 30 นาที หลังจากขบวนรถจอดได้ไม่กี่นาทีที่นี่ก็เนื่องแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งจากที่มากับทริปรถไฟและที่มากันเองแบบครอบครัว น่าจะเพราะเป็นแลนด์มาร์กด้วยและตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์พอดี แต่ก็ได้บรรยากาศการท่องเที่ยวที่ครึกครื้นไปอีกแบบ และถ้าใครมีเวลามากพอแนะนำว่าให้เดินข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแควไปอีกสักหน่อยจะมีตลาดเล็กๆ ชื่อว่า ‘ตลาดค่ายเชลยศึก’ จำลองหมู่บ้านเชลยศึกในสมัยสงคราม มีของให้ได้เดินช้อปหลากหลาย
และทุกๆ ปีของปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควแห่งนี้ จะมีงานรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบได้ด้วยการแสดงนิทรรศการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี การแสดงพื้นบ้าน การออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ และการจำลองเหตุการณ์ทิ้งระเบิดเมื่อครั้งสงคราม ต้องมารอลุ้นว่าปีนี้จะสามารถจัดได้หรือไม่
ถัดจากสะพานข้ามแม่น้ำแควมาตามเส้นทางรถไฟประมาณ 48 กิโลเมตร เราก็จะถึงอีกหนึ่งจุดไฮไลท์กับวิวหลักล้านที่จ่ายค่าตั๋วรถไฟเพียงหลักร้อย นั่นคือ ‘ถ้ำกระแซ’ ในตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค ทางผ่านที่น่าตื่นเต้นที่สุดของเส้นทางนี้ โดยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้ำแห่งนี้ถูกใช้เป็นที่พักของเชลยศึกเมื่อครั้งสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะจากไทยไปยังเมียนมา บริเวณนี้เองถือเป็นจุดที่ยากที่สุดในการสร้างทางรถไฟสายนี้ด้วย
ระหว่างทางก่อนถึงถ้ำกระแซ เต็มไปด้วยพงไพรราวกับหลุดมาอยู่ในภาพยนตร์เรื่องจูราสสิค เวิลด์ ยิ่งเข้าใกล้จุดหมาย รถไฟก็จะค่อยๆ ชะลอตัว ลัดเลาะไปตามเชิงผาเลียบไปกับแม่น้ำแควน้อยเส้นทางยาวราว 400 เมตร ทำให้เรามองเห็นวิวที่ชัดเจนขึ้น ตัวถ้ำกับทางรถไฟอยู่ติดกันเพียงเอื้อมมื้อ ถ้ามองจากตัวรถไฟเข้าไปยังถ้ำเป็นลักษณะโปร่ง ภายในมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ และอีกด้านเมื่อมองกลับไปจะเป็นวิวทางโค้งของรถไฟที่กำลังเคลื่อนตัวเลียบเขา โดยมีแม่น้ำแควน้อยเป็นฉากหลัง
- ล่องแพเปียก ‘แม่น้ำแควน้อย’
หลังจากสัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์สงครามโลกกันมาตลอดระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร รถไฟขบวนนำเที่ยวสายน้ำตก-กาญจนบุรี ก็เดินทางมาถึงปลายทางเสียแล้ว โดยเทียบชานชาลาที่บ้านท่าเสาหรือ ‘สถานีน้ำตก’ แต่นี่ยังไม่ใช่ปลายทางสุดท้ายของทริปนี้ เพราะอากาศร้อนๆ แบบนี้ ถ้าได้ไปน้ำตก หรือล่องแพเปียก กระโดดน้ำเย็นๆ คงดีไม่น้อย โดยจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะไปต่อก็คือ น้ำตกไทรโยคน้อย มีรถสองแถวให้ใช้บริการมากมาย ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงที่หมาย
เสียงซู่ซ่าของน้ำที่กระทบหิน เป็นแรงดึงดูดให้เราก้าวเท้าตรงไปยังที่มาของเสียงนั่น ไม่ไกลนักเราก็พบกับน้ำตกไทรโยคน้อย หรือชื่อเดิม ‘น้ำตกเขาพัง’ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค เนื่องจากตัวน้ำตกมีลักษณะเป็นหน้าผาหินปูนที่พังทลายลงมา ต้นน้ำเป็นน้ำผุดมาจากภูเขาแล้วไหลมาตามผาหินปูนชั้นต่างๆ ความสูงประมาณ 35 เมตร มีทางขึ้นไปยังด้านบนของน้ำตก ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด เพราะบนนั้นค่อนข้างลื่นต้องระวังตัวเองให้ดี
ต้นไม้ที่รายล้อมกับสายน้ำที่กระทบหินช่วยเพิ่มความสดชื่นได้ครู่หนึ่ง ที่นี่ค่อนข้างร่มรื่นและมีที่นั่งสำหรับรอลูกหลานเล่นน้ำหรือจะนั่งปิกนิกก็ได้ โดยช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมจะมีน้ำมาก
แต่ด้วยอุณหภูมิที่เข้าใกล้ 40 องศาเซลเซียสในวันนั้น น้ำตกเล็กๆ อาจยังไม่หนำใจนัก เราไปเล่นน้ำกันแบบเต็มอิ่มกับแม่น้ำสายใหญ่ที่ยาวสุดลูกหูลูกตา โดยเดินทางไปยังจุดปล่อยแพท่าเรือเขาโทน ริเวอร์วิวรีสอร์ท เพื่อล่องแพเปียกหรือแพไม่ไผ่ ซึ่งจะใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงในการดื่มด่ำบรรยากาศของการล่องแพไม้ไผ่ตามแม่น้ำแควน้อย และกระโดดน้ำดับร้อนกันอย่างสนุกสนาน ก่อนขึ้นท่าแถวๆ ท่าเรือปากแซง ในอำเภอไทรโยค
หลังจากเที่ยวตามเส้นทางสายประวติศาสตร์และธรรมชาติกันพอหอมปากหอมคอแล้ว อยากชวนทุกคนเดินเข้าป่าไปปลูกป่าสไตล์ลูกกำนันที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ แหล่งอาศัยของสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างป่าและเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำแควใหญ่ โดยเราจะนำเมล็ดพันธุ์คืนสู่ป่า ด้วยการ ‘ยิง Seed bomb’ ก้อนกลมๆ ที่ปั้นจากดินเหนียว ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ไผ่กับต้นพฤกษ์ผสมให้เข้ากันดี และตากแดดให้จนแห้งแข็งราวกับหิน หรือที่เรียกกันว่า ‘ระเบิดเมล็ดเมล็ดพันธุ์’
หลังจากฝนตกสักสามวันเมล็ดพันธุ์ก็จะค่อยเติบโตตามธรรมชาติ และมีโอกาสรอดถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และอีกหนึ่งกิจกรรมส่งท้ายคือ ‘การทำโป่งเทียม’ เพื่อเป็นอาหารให้สัตว์ป่า โดยขุดดินเป็นแอ่งสักเล็กน้อย จากนั้นใส่ดอกเกลือและผสมให้เข้ากัน เป็นการเพิ่มแร่ธาตุในดิน ซึ่งสัตว์ป่าหลายชนิดทั้งนกและสัตว์เลี้ยงลูกนมจะกินก้อนดินหรือน้ำจากโป่งโดยตรง
เพราะกิจกรรมหลากหลายที่มาคู่กับสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิต จะมากับเพื่อน ครอบครัวหรือคนรู้ใจ ก็ไม่ผิดหวัง ทำให้ ‘กาญจนบุรี’ เป็นที่ที่มากี่ครั้งก็ยังหลงรัก...
การเดินทาง
การเดินทางด้วยรถไฟมี 2 แบบ
-ขบวนธรรมดาเปิดบริการทุกวัน (นั่งจากสถานีรถไฟกรุงเทพ ธนบุรี)
-ขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ-น้ำตก ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (นั่งจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หัวลำโพง) ราคาเหมาไป-กลับ 120 บาท และปรับอากาศชั้น 2 คนละ 240 บาท โดยสามารถเช็คตารางและจองได้ที่เว็บไซต์การรถไฟแห่งประเทศไทย