สปสช.จับมือไปรษณีย์ไทย ส่งยาถึงมือผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง
“อนุทิน” เผย “โครงการพัฒนาระบบบริการจัดส่งยาฯ ทางไปรษณีย์” ถึงมือผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง พร้อมเปิดข้อมูลช่วง 5 เดือนหลังเริ่มหนุนจัดบริการช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด รพ. 209 แห่งร่วมจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยเกือบ 1.3 แสนคน หรือกว่า 1.44 แสนครั้ง
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการพัฒนาระบบบริการจัดส่งยา เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทางไปรษณีย์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ระหว่าง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นายอนุทิน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก แม้ว่าจะทำให้การพัฒนาหลายด้านในประเทศต้องชะงักลง แต่ในด้านการแพทย์กลับมีการพัฒนาการให้บริการรูปแบบใหม่ที่ไม่เพียงแต่สอดรับกับสถานการณ์ แต่ยังเป็นการรองรับระบบบริการทางการแพทย์ในอนาคต “การจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์” เป็นหนึ่งในบริการใหม่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดส่งยาให้กับโรงพยาบาลในระบบ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับผู้ป่วยและลดความแออัดในโรงพยาบาล ในการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่า เป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยความร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในอัตราเหมาจ่ายจัดส่งทั่วประเทศ 50 บาทต่อกล่อง/ซอง
เบื้องต้นการดำเนินการมีเป้าหมายสนับสนุนค่าบริการในระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แต่ด้วยโรงพยาบาลต่างๆ และผู้ป่วยที่ให้การตอบรับจำนวนมาก เพียงเดือนแรกมีจำนวนบริการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ถึงเกือบ 30,000 ครั้ง ทำให้มีการขยายระยะเวลาของการสนับสนุนค่าบริการจัดส่งยาให้กับโรงพยาบาลในระบบ ตลอดปี 2563 และเตรียมต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2564 โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากเป็นการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ยังรองรับการสนับสนุนการจัดบริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth / Telemedicine) ซึ่งขณะนี้ได้มีโรงพยาบาลหลายแห่งได้เริ่มให้บริการแล้ว โดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล
ทั้งนี้ด้วยยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นทั่วไป มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยเพื่อใช้ในการรักษาโรค ทำให้การจัดส่งต้องดำเนินการอย่างเป็นมาตรฐานและถึงมือผู้ป่วยโดยเร็ว “โครงการพัฒนาระบบบริการจัดส่งยา เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทางไปรษณีย์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ในวันนี้ โดยความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน จะนำไปสู่การพัฒนาการจัดส่งยาทางไปรษณีย์อย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น มีมาตรฐานในทุกๆ ขั้นตอนของการจัดส่ง เพื่อให้ยาคงคุณภาพจนถึงมือผู้ป่วย ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพระบบการจัดส่ง และมีการจัดส่งที่เหมาะสม เป็นต้น โดยในอนาคตคาดการณ์ว่าจำนวนของการรับบริการส่งยาทางไปรษณีย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยพร้อมสนับสนุนภารกิจด้านการขนส่งเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth / Telemedicine) โดยใช้ศักยภาพของเครือข่ายไปรษณีย์ที่เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ทั่วไทยโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล จัดส่งยา เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปยังที่อยู่ผู้รับทั่วประเทศอย่างรวดเร็วแม่นยำ ด้วยมาตรฐานบริการ EMS ส่งด่วนทั่วไทย มั่นใจได้ด้วยระบบติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งถึงที่อยู่ผู้ป่วยด้วยระบบ track&trace
ซึ่งที่ผ่านมาแม้อยู่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ไปรษณีย์ไทยยังคงเปิดให้บริการและยังจัดส่งยาให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเข้าสู่สถานการณ์ได้เข้าสู่มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ยังคงให้บริการจัดส่งยาเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงและเลี่ยงความแออัดภายในโรงพยาบาล สำหรับแนวทางความร่วมมือในระยะต่อไปได้วางแผนพัฒนาการให้บริการจัดส่งยาในกลุ่มประเภทยาที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการจัดส่ง พร้อมระบบขนส่งพิเศษแยกจากระบบการจัดส่งปกติของไปรษณีย์ไทย
โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท.ดบ.) บริษัทลูก มาบริหารจัดการเรื่องการจัดส่งโดยใช้รถควบคุมอุณหภูมิ เพื่อควบคุมให้ยายังคงคุณภาพตลอดระยะทางการจัดส่งจนถึงมือผู้ป่วย ซึ่งภายในปี 2563 จะเริ่มทดลองให้บริการจัดส่งยาที่ต้องควบคุมอุณหภูมินำร่องระยะแรกในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจะพัฒนาบริการให้สามารถเปิดให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ในปี 2564
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วง 5 เดือน ที่ผ่านมา การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างมากจากโรงพยาบาลและผู้ป่วย ข้อมูลดำเนินการล่าสุดมีโรงพยาบาลจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองแล้ว 209 แห่ง ผู้ป่วยรับบริการจัดส่งยา 128,141 คน และมีการจัดส่งยาให้ผู้ป่วย 144,306 ครั้ง รวมเบิกจ่ายสนับสนุนบริการจำนวน 7,214,352 บาท
สำหรับโครงการพัฒนาระบบบริการจัดส่งยาฯ ทางไปรษณีย์ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่าง สปสช. กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการพัฒนาระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ผ่านมา ปณท.ดบ. ได้มีบทบาทในการร่วมดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบ ในการจัดส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยที่รักษาโดยการล้างไตผ่านช่องท้องในทุกพื้นที่ ช่วยลดภาระให้กับผู้ป่วยและโรงพยาบาลในการขนส่งน้ำยาล้างไต ทั้งนี้เชื่อว่าภายใต้โครงการนี้ จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศร่วมกัน