สวัสดิการ-ภารกิจอสม. ในวิกฤติโควิด19ที่ยังไม่จบ

สวัสดิการ-ภารกิจอสม. ในวิกฤติโควิด19ที่ยังไม่จบ

เมื่อ 21 กันยายน 2563 เป็นวันที่รัฐบาลโอนเงินค่าเสี่ยงภัยเข้าบัญชีให้กับอสม. คนละ 500 บาท เป็นเวลา 7 เดือน รวมเป็นเงิน 3,500 บาทต่อคน ด้วยเห็นถึงความเสียสละและความเสี่ยงในการทำงาน ช่วงที่โรคโควิด19ระบาดระลอกแรกในประเทศไทย แต่ภารกิจยังไม่จบ!

 จะต้องเดินต่อไปเพื่อเฝ้าระวังโควิดระลอก 2 และเป้าหมายที่แท้จริง คือการสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนไทย

ช่วงโควิด 19 ระบาดระลอกแรก อสม.ได้รับมอบภารกิจแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 อสม.รณรงค์ Big Cleaning Week ป้องกันและดูแลสุขภาพตนเอง ตั้งแต่มีการระบาดถึงกุมภาพันธ์ 2563 ด้วยการให้ความรู้การป้องกันตนเองแก่ประชาชนและสอนทำหน้ากากผ้า และแอลกอฮอล์เจล ระยะที่ 2 อสม.เคาะประตูบ้าน ต้านโควิด 19 ในช่วงเดือนมีนาคม โดยการค้นหากลุ่มเสี่ยงผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และระยะที่ 3 ค้นให้พบจบใน 14 วัน ตั้งแต่27 มีนาคม 2563 ร่วมเป็นทีมโควิด19 ระดับตำบล ชุมชน ค้นหาคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาในชุมชน และติดตามเฝ้าสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการจัดงานรณรงค์เตรียมความพร้อมอสม.เฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19เมื่อเร็วๆนี้ว่า อสม.เป็นคนกลุ่มหนึ่งจำนวนกว่า 1 ล้านคนที่ร่วมกันทำประโยชน์ให้กับสังคม และในการ รวมไทยสร้างชาติ อสม.ก็จะเป็นแกนนำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางด้านสุขภาพให้มากที่สุดและตลอดไป ไม่เฉพาะสถานการณ์โควิคเท่านั้น แต่หมายถึงสถานการณ์อื่นๆด้วย เพราะประเทศไทยมีปัญหาสุขภาพอยู่พอสมควร ระบบสาธารณสุข มุ่งหวังให้เกิดการป้องกันสุขภาพของคนไทย ด้วยการสร้างการรับรู้ในการป้องกันตัวเอง เน้นที่การป้องกันมากกว่าการรักษา

160086194971

สำหรับบทบาทอสม.ในการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ระลอกที่ 2 นั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอให้อสม.อย่าท้อแท้ คงต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ ขอให้อสม.เคาะประตูทุกบ้าน เตือนประชาชนการ์ดอย่าตก ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง รวมถึง ช่วยสอดส่องโดยเฉพาะตามแนวชายแดน หากพบคนแปลกหน้าที่ไม่ผ่านมาตรการควบคุมโรค ขอให้แจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฝ่ายปกครองหรือฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้นำตัวไปสอบสวนโรคได้โดยเร็ว

“ช่วง 9 เดือนของสถานการณ์โควิด 19ที่ผ่านมา ถือว่ารัฐบาลเป็นหนี้บุญคุณอสม. เพราะลำพังการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพียงพอ แต่อสม.กว่า 1.05 ล้านคน ช่วยแบ่งเบาภารกิจอย่างมาก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีคนติดเชื้อในประเทศและเสียชีวิตต่อเนื่องมานาน”นายอนุทินกล่าว
160086198332
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ให้ข้อมูลว่า การเฝ้าระวังโควิด19 ต่อเนื่องเพื่อป้องกันการระบาดระลอก 2 กรมได้วางแนวทางขับเคลื่อนในการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว(อสต.) แบ่งเป็น 6 ข้อ ได้แก่ 1. เพิ่มปริมาณและพัฒนาคุณภาพอสต. โดยเร่งเพิ่มอสต.ในสถานประกอบการ อัตราส่วน 1 ต่อ 100 กรณีมีแรงงานน้อยกว่า 100 คน มีอสต.1 คน 2.บูรณาการความร่วมมือ 3 หน่วยงานทั้งกระทรวงแรงงาน สธ. และสภากาชาดไทย 3.พัฒนาหลักสูตรกลางทั้งอบรมมาตรฐานอสต. แกนนำต่างด้าว และคู่มือประชาชนต่างด้าว 4.ส่งเสริม สนับสนุนการฝึกอบรมอสต.และครูฝึกคุรภาพในวิถีชีวิตใหม่ ด้วยการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ 5.สนับสนุนการปฏิบัติงานของอสต.ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน โรคโควิด 19 และ6.เร่งรัดการรับรองสถานะและสร้างขวัญ กำลังใจ โดยจัดทำหลักเกณฑ์ และระเบียบเพื่อรับรองสถานะอสต. เป็นต้น

ขณะที่ จำรัส คำรอด ประธานชมรมอสม.แห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนให้คำมั่นว่า อสม.เป็นตัวแทนจิตอาสาในชุมชนเป็นเวลานานกว่า 40 ปี จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด 19 อสม.ก็มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์จนเป็นที่ยอมรับยกย่องชมเชยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาใช้ความรู้ความสามารถ ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ด้วยความเสียสละโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ในการเป็นแกนนำชักชวนให้ประชาชนและชุมชนเฝ้าระวังป้องกันโควิด 19 ภายใต้การสนับสนุนการทำงานจากรัฐบาลและสธ.

160086201861

“ขอเป็นตัวแทนอสม.ทั้งหมด จะเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19ในรอบ 2 รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเต็มความสามารถ”นายจำรัสกล่าว

ในส่วนของสวัสดิการที่อสม.ได้รับนั้น มีทั้งของเดิม และเพิ่มเติมขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคโควิด อาทิ การช่วยเหลือเยาวยากรณีที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข(ตามพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร 480,000-800,000 บาท สูญเสียอวัยวะ พิการ 200,000-480,000 บาท บาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 200,000 บาท กองทุนสนับสนุนและเยียวยาอสม. คีรี กาญจนพาสน์(เฉพาะช่วง 1พ.ค.2563-30เม.ย.2564 ) กรณีเสียชีวิต 500,000 บาท เจ็บป่วย ติดโควิด 19 10,000 บาท

เงินบริจาคธกส.(อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์)เสียชีวิต ไม่เกิน 50,000บาท ทุพพลภาพหรือสูญเสียอวัยวะ ไม่เกิน 20,000 บาท บาดเจ็บสาหัส ไม่เกิน 10,000 บาท ได้รับบาดเจ็บ ไม่เกิน 5,000 บาท เงินบริจาคและทรัพย์สินการแก้ปัญหาโรคโควิด 19 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสียชีวิต เงินทุนเลี้ยงชีพสำหรับครอบครัว 100,000 บาท ทุพพลภาพ หรือพิการ เงินทุนเลี้ยงชีพ 80,000 บาท บาดเจ็บสาหัส เจ็บป่วยรุนแรง 40,000 บาท ป่วยหรือบาดเจ็บและรักษาตัวในรพ. 30,000 บาท เป็นต้น

160086204326

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติอนุมัติเพิ่มค่าตอบแทนให้กับ อสม.อีก 3 เดือน คือ ตุลาคม-ธันวาคม อีกเดือนละ 500 บาท รวมทั้งหมดเป็น 10 เดือน
ส่วนอีกหนึ่งสวัสดิการของอสม.ที่เป็นนโยบายสำคัญของรมว.และรมช.สาธารณสุขในยุคนี้ คือ การเพิ่มค่าตอบแทนรายเดือนจาก 1,000 บาท เป็น 2,500 บาท แต่ต้องดูว่าจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางกระแส “รัฐบาลถังแตก”