โรงงานผลิตยามะเร็งทุกรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย
อภ.จับมือปตท. สร้างโรงงานผลิตยามะเร็งทุกรูปแบบแห่งแรกของไทย งบเบื้องต้น 2,500 ล้านบาท มุ่งช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น เชื่อทำราคายาต่ำลงมากกว่า 50 % ลดนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีมูลค่าปีละกว่า 21,000 ล้านบาท คาดเริ่มผลิตปี 2570 เล็งขยายตลาดสู่อาเซียน
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ที่อาคารสภาวิชาชีพ แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ระหว่างองค์การเภสัชกรรม โดยนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุข และเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องนาน 20 ปี คนไทยต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 80,000 คนต่อปี และมีค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงมาก ความร่วมมือในการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถผลิตยารักษาโรคมะเร็งที่ครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน และในทุกกลุ่มการผลิต เมื่อประเทศไทยผลิตได้สำเร็จคาดว่าจะช่วยลดราคายาลงได้มากกว่า 50 % และลดภาระการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 21,000 ล้านบาทต่อปี
“โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น เป็นการพึ่งพาตนเอง และยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยาของไทยให้ทัดเทียมสากล สร้างความมั่นคงทางยา ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยปตท.จะลงทุนในการวางกรอบ ออกแบบ ก่อสร้าง กำกับควบคุม และอภ.จะใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้าไปดำเนินการ และทยอยจ่ายเป็นค่าเช่า”นายอนุทินกล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การส่งเสริมการวิจัยและการผลิตยาที่ทันสมัยเป็นสิ่งจำเป็น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ในการมุ่งเน้น เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ซึ่งเป็น New S-Curve ของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Comprehensive Medical Industry) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น (Life Science) ซึ่งเป็นยอดปิรามิดสูงสุดในอุตสาหกรรมชีวภาพ
โครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งนี้ จะเป็นอีกก้าวที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายการยกระดับสาธารณสุข วิทยาศาตร์เทคโนโลยี และการแพทย์ของไทย ส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยทางการแพทย์ของประเทศให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการจ้างงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
“อภ.เป็นความภาคภูมิใจของประเทศในด้านการผลิตยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ แต่สิ่งที่ยังขาดคืองบประมาณ ซึ่งการดำเนินการที่ล่าช้าไป 1 ปี วิทยาการก็ช้าไป 1 ปี ถ้าหาเร่งและเริ่มทำได้เร็วขึ้นก็จะช่วยคนไทยมากขึ้น ดังนั้น เมื่อปตท.ที่เดิมมุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญจนสำเร็จ สามารถเข้ามาแบ่งเบาและสนับสนุนช่วยเหลือเติมเต็มสิ่งที่ดีเข้มแข็งในประเทศไทย ซึ่งเดิมนึกว่าจะเป็นการผลิตยาพื้นๆทั่วไป แต่อภ.และปตท.คิดไกลมากขึ้น ในการผลิตยามะเร็งที่เหมาะสมกับการรักษามะเร็งในอนาคต ที่ต่อไปมะเร็งจะกลายเป็นเหมือนโรคเรื้อรังที่กินยาทุกวันก็มีชีวิตต่อไปได้”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งนี้ ปตท. จะใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโครงการ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานให้สามารถแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงการร่วมมือกับออภ.ในการนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดที่ทั้งสององค์กรมีมาใช้เพื่อให้โรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งของไทยแห่งนี้เกิดการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้คนไทยได้ใช้ยาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจไทย ที่ร่วมกันเดินหน้าเพื่อพัฒนาประเทศไทย ตามแนวทาง “Restart Thailand”
โรงงานผลิตยารักษามะเร็งนี้ จะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. หรือ PTT WEcoZi อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เบื้องต้นใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไปจะศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขั้นละเอียด (Detailed Feasibility Study) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 ใช้เวลาประมาณ 14 เดือนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะทำการสรุปผลการศึกษาและประเมินแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อไป โดยมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในปี 2565 เพื่อให้สามารถทำการวิจัยพัฒนาและผลิตยารักษาโรคมะเร็งเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570 นอกจากนี้ หากการผลิตเพียงพอจต่อการเข้าถึงยาของคนไทยแล้ว อาจจะมีการต่อยอดด้วยการส่งออกไปในตลาดอาเซียน
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้ายารักษามะเร็ง 100 % ไม่มีโรงงานในประเทศผลิต อภ.จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง ทั้งการวิจัย พัฒนา และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตยารักษาโรคมะเร็งชั้นนำของโลก พร้อมทั้งมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง โดยมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ทั้งยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) และกลุ่มยารักษาแบบจำเพาะเจาะจง (Targeted Therapy) ประกอบด้วย ยาชนิดเม็ดประเภท Tyrosine Kinase Inhibitors (TKIs) ซึ่งเป็นยาชนิด small molecule สามารถแพร่เข้าเซลล์และจับกับเป้าหมายภายในเซลล์ได้โดยตรง และยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) ส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ แต่จะไปจับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวเซลล์
“โรงงานแห่งนี้ จะมีกำลังการผลิต โดยเป็นยาเคมีบำบัด 30 ล้านยูนิตต่อปี และยาชีววัตถุ 31 ล้านยูนิตต่อปี โดยจะเน้นยาตัวที่สิทธิบัตรหมดก่อน ซึ่งอภ.มีการศึกษาวิจัยเตรียมพร้อมล่วงหน้าอยู่แล้ว สามารถครอบคลุมการเข้าถึงของคนไทยได้และเมื่อเพียงพอต่อการใช้ในประเทศแล้ว สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกต่อไปได้ ทั้งนี้ การที่จะสามารถผลิตยามะเร็งได้เองในประเทศ จะทำให้ยาราคาถูกลง โอกาสที่จะผลักดันยามะเร็งเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติก็จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยาบางชนิดที่ยังไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักฯเพราะยายังมีราคาแพง”นพ.วิฑูรย์กล่าว