พัฒนาครู สู่โค้ช เคารพความต่าง ลด Cyber bully
แม้โรงเรียน จะเป็นสังคมแรกที่เด็กได้สัมผัส นอกจากการอยู่กับครอบครัว แต่ปัจจุบันกลับพบว่า เด็กหลายคนโดยเฉพาะกลุ่ม LGBT ถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด เนื่องจากสังคมยังมองว่าความแตกต่าง คือ ความไม่ปกติ
จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2561” โดยความร่วมมือระหว่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค พบว่า ร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่าง เคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขี้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก โดยเรื่องรูปลักษณ์ เพศ และความคิด/ทัศนคติ เป็นเรื่องที่ถูกหยิบเอามาบูลลี่มากที่สุด ที่สำคัญกลุ่ม “LGBT” ยังตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ โดยกลุ่มนักเรียนที่เปิดเผยในงานวิจัยว่า เป็น LGBT เผยว่า มีประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งทางวาจา 47.67% แกล้งทางเพศ 8.46% แกล้งทางไซเบอร์ 5.16% และถูกกลั่นแกล้งทุกประเภท 87.42% ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับนักเรียนหญิงและชาย
นอกจากนี้ เด็กนักเรียนร้อยละ 33.8 ระบุว่า “ครู” คือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุด เมื่อนักเรียนเผชิญกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทั้งที่โรงเรียนและบนพื้นที่ออนไลน์ แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างรู้สึก “ไม่เชื่อถือ” ในความยุติธรรมของครู เพราะครูมักเลือกที่รักมักที่ชัง และครูอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเสี่ยงออนไลน์
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า จากงานวิจัยฯ แสดงให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขา”
ทั้งนี้ ดีแทค , เทเลนอร์ กรุ๊ป และ องค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และมูลนิธิกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ร่วมพัฒนาหลักสูตร ‘การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์’ ขึ้น ภายใต้โครงการ Safe Internet เป้าหมาย คือ ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กๆ สู่โลกยุคดิจิทัล โดยร่วมกันจัดอบรมครูในโรงเรียน 15 โรงเรียน นำร่องจำนวน 60 คน ที่ภาคเหนือ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทสังคมของประเทศไทย
มุ่งพัฒนาครูให้เป็นโค้ชเพื่อช่วยทำให้ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก เป็นพื้นที่ที่เอื้ออาทรปลอดภัย ทุกคนเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ ผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ให้เข้าใจถึงแนวคิด “ความแตกต่างหลากหลาย” ไม่ใช่ความผิดปกติ อันจะช่วยลดอคติและความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะกลั่นแกล้งรังแกเพื่อนและคนร่วมสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
จากนั้น จะทำการพัฒนาเนื้อหาดังกล่าวให้อยู่ในรูปของหลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ” ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนมกราคม ปี 2564 ครูที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร สามารถนำเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่ได้รับไปใช้จัดกิจกรรมต่อยอดภายในโรงเรียนของตนได้
- เข้าใจเรื่องเพศกับ SOGIES
กรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พันธมิตรของดีแทค Safe Internet ผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรอบรมครูออนไลน์บน ‘ห้องเรียนครูล้ำ’ อธิบายว่า ในหลักสูตรการเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้น เป็นการนำทฤษฎีที่มีนักสิทธิมนุษยชนได้พัฒนาไว้เป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือเรียกในชื่อย่อว่า SOGIESC ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
Sexual Orientation: SO หรือ รสนิยมทางเพศ หมายถึง อารมณ์ ความรู้สึกเชิงชู้สาว และความดึงดูดทางเพศ ทั้งในเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน เป็นสัญชาตญาณที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เป็นปกติของความเป็นมนุษย์
Gender Identity: GI หรือ อัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึง ความสำนึกรู้และการแสดงออกทางเพศภาวะเกี่ยวกับความเป็นเพศภาวะของตัวเองซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด
Gender Expression: GE หรือ การแสดงออกทางเพศภาวะ ซึ่งอาจมาจากการสั่งสอนของครอบครัว เช่น ผู้ชายต้องแต่งกายสีเข้ม มีความเข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงควรไว้ผมยาว แต่งหน้า ท่วงท่าการเดิน ความอ่อนโยน
Sex Characteristic: SC หรือ เพศสรีระ หมายถึง ลักษณะทางเพศของบุคคลที่ติดตัวมาแต่กําเนิดซึ่งถูกกําหนดให้เป็น 2 เพศ นั่นคือ เพศหญิง และเพศชาย
“เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์เกิดจากการที่เด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจถึง “ความแตกต่าง” คนที่มีความแตกต่างมักจะตกเป็น “เหยื่อ” ของการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งที่ในความเป็นจริง “ความแตกต่างหลากหลาย” ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาและธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มนุษย์เรามีความหลากหลายทั้ง ชาติพันธุ์ สีผิว ภาษา ศาสนา รสนิยมเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ”
“กรอบของ SOGIES บอกว่ามนุษย์ คือ ความหลากหลาย และความหลากหลาย คือ ความปกติ เป็นธรรมชาติ เราอยากให้ครูเข้าใจ และถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ได้รับรู้ว่า ว่าต่อไปนี้เราต้องไม่เรียกคนอื่นด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย อยากให้สังคมเข้าใจว่า อัตลักษณ์แต่ละคนที่แตกต่าง แต่ศักดิ์ศรีเท่ากัน อยากเห็นเด็กไทยเติบโตมาด้วยความเคารพตัวเองและเคารพสิทธิกันและกัน”กรองแก้ว กล่าว
นอกจากนี้ หลักสูตรฯ ยังมีการแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์การสอนให้ครูนำไปปรับใช้เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กนักเรียน และแนะนำบทสนทนาให้ครูสามารถพูดคุยกับเด็กนักเรียนด้วยความเข้าใจ เป็นมิตร ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะภูมิใจอัตลักษณ์ของตนเอง เคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นอีกด้วย
ด้าน ครูบอย - สิทธิชัย ดวงแสง ครูประจำวิชาเทคโนโลยี ร.ร.เชียงใหม่คริสเตียน หนึ่งในครูแกนนำ เล่าว่า ในโรงเรียนมีครูเข้าร่วมอบรมจำนวน 2 คน ซึ่งครูอีกคนสอนวิชาแนะแนว สำหรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือ การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ถือเป็นเรื่องใหม่ ไม่มีในหลักสูตรครูและหลักสูตรการสอน
ในปัจจุบันพบปัญหา คือ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่มีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายในโรงเรียนและใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ ครูยังใช้กรอบนิยามและความหวังเดิม คือ ผู้หญิงต้องเรียบร้อย และผู้ชายต้องเข้มแข็ง การเรียนการสอนเน้นแค่เพศสภาพและสรีระ ไม่เน้นความหลากหลายทางเพศ ทำให้ครูหลายท่าน ยังไม่ได้พูดถึงความหลากหลายเพื่อสร้างความเข้าใจของนักเรียน ไม่กล้าให้ความรู้ในการเลือกคู่ครองที่อาจจะเป็นเพศเดียวกัน เพราะสังคมยังมองว่าความแตกต่าง คือ ไม่ปกติ
ทั้งนี้ จากการที่ได้ไปอบรมมา ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยว SOGIES ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ ทำให้มีแนวทางในการแก้ปัญหการกลั่นแกล้งในโรงเรียน และสามารถสร้างสรรค์ กิจกรรมต่างๆ ให้เด็กเข้าใจ แยกแยะ และรู้ว่าการกลั่นแกล้งไม่ถูกต้อง เพราะในปัจจุบัน เด็กยังมองการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะการใช้เพศมาบูลลี่กันเอง
นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ ทั้งต่อครูและนักเรียน การที่เราเป็นครูเราไม่สามารถทิ้งอำนาจที่เรามีอยู่ได้ เพราะต้องควบคุมชั้นเรียน แต่เราใช้อำนาจที่มีอยู่เกินไปหรือไม่ ต้องเข้าใจขอบเขต และระหว่างเด็กนักเรียนด้วยกันเอง เขาใช้อำนาจด้วยกันอย่างเหมาะสมหรือไม่ ต้องให้ความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด ไม่เหมาะสม เกิดความรุนแรงในโรงเรียน
หลังจากผ่านการอบรม ได้นำเรื่องแจ้งให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนได้รับทราบ ซึ่งท่านก็ให้การสนับสนุน หลังจากนั้น จึงทำการถ่ายทอดให้กับครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนทั้งระดับอนุบาล – ม. 6 เพื่อให้ครูแต่ละสายชั้น นำแนวทางไปปรับใช้ ให้เหมาะกับเด็กในห้องเรียงตนเอง โดยออกแบบกิจกรรมเสริมเข้าไปในรายวิชาของหลักสูตรแกนกลาง ตามความเหมาะสมของบริบท
ครูบอย กล่าวเสริมว่า อยากให้ครูทุกท่านลองมองมุมกลับ ว่าเราจะพัฒนาเด็กหนึ่งคนได้อย่างไร โดยไม่ต้องสนใจเรื่องเพศ แต่ให้มองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความแตกต่างกัน เราจะส่งเสริมอย่างไรให้เขาประสบความสำเร็จในทางที่เขาเลือก นี่คือความสำเร็จในความเป็นครู