ยื่นฟ้อง "สารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์" เหตุปล่อยคนไม่มีตั๋วครูมาสอน
ประธานกมว.เผย“คุรุสภา” ยื่นฟ้อง “สารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์” เหตุให้ผู้ไม่มีตั๋วครูมาสอนเด็ก ชี้ผิดกฎหมาย แนะสช.กำหนดยูนิฟอร์มพี่เลี้ยงและครูผู้สอนให้ชัดเจน ฝากสถานศึกษามุ่งกำไรเก็บค่าเล่าเรียนสูง คำนึงคุณภาพที่ผู้ปกครองควรได้รับ
นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพครู (กมว.) คุรุสภา เปิดเผยถึงกรณีการตรวจสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ว่าตามที่ทางคุรุสภาได้มีการตรวจสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ของครูโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ จำนวนเกือบ 400 คน พบว่ามีครูที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ถูกต้องประมาณ 98 คน เท่านั้น ซึ่งในแง่กฎหมายทางคุรุสภาสามารถฟ้องดำเนินคดีกับทางสถานศึกษา และครูได้ เนื่องจากมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน ตามมาตรา43 กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาตแสดงว่า ถ้าสถานศึกษาใดนำคนที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาสอนในสถานศึกษา ถือว่าทั้งสถานศึกษาและครูมีความผิด
ดังนั้น ขณะนี้ทางคุรุสภากำลังดำเนินการตรวจสอบว่าจะฟ้องร้องใครบ้าง แต่ที่แน่นๆ ฟ้องสถานศึกษาอย่างแน่นอน เพราะมีหลักฐานชัดเจน ส่วนเรื่องการฟ้องร้องทำร้ายร่างกายเด็กนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองในการฟ้องร้องดำเนินคดี
“ครุสภาจะมองในส่วนของการตรวจสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งหากจะต้องเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ต้องนำเรื่องเข้าเสนอกมว.เป็นผู้พิจารณาเพิกถอน และถ้าครูทุกคน รวมถึงครูต่างชาติได้รับมอบหมายให้สอนหนังสือในโรงเรียนดังกล่าวแต่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ เราจะเล่นงานสถานศึกษาแน่นอน โดยการเล่นงานในที่นี่ จะต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายในขอบเขตอำนาจที่มีอยู่ และเรื่องนี้ ครุสภาคงไม่ได้ตรวจสอบเพียงโรงเรียนสารสาสน์แห่งเดียว แต่จะขยายผลไปยังโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ”นายเอกชัย กล่าว
นายเอกชัย กล่าวต่อว่าสำหรับปัญหาของผู้ปกครองที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคนไหนเป็นพี่เลี้ยง คนไหนเป็นครูผู้สอนนั้น ขณะนี้ได้หารือกับทางเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนให้มีการกำหนดยูนิฟอร์มของพี่เลี้ยงกับครูผู้สอนให้แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ปกครองได้รู้ว่าใครเป็นพี่เลี้ยง ใครเป็นครู และหากผู้ปกครองเห็นพี่เลี้ยงมาทำหน้าที่ครูผู้สอนสามารถแจ้งมายังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)ได้ เป็นวิธีการที่จะช่วยป้องกันไม่ให้โรงเรียนนำคนอื่นมาเป็นครู
นอกจากนั้น ในการรับพี่เลี้ยงนั้น ระเบียบของสช.มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ว่าห้องเรียนต้องมีพี่เลี้ยงสัดส่วนเท่าใด แต่ยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติชัดเจน ซึ่งกมว.จะเสนอแนะให้มีการอบรมพัฒนาพี่เลี้ยง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อจะได้พี่เลี้ยงที่มีคุณภาพ เข้าใจ ดูแลเด็กได้ และต้องมีการแสดงใบการอบรมพัฒนาต่างๆร่วมด้วย ขณะเดียวกันสถานศึกษาต้องมีหลักฐานว่าได้อบรมตามหลักสูตรที่มีอยู่
ประธานกมว. กล่าวว่ากรณีที่เกิดขึ้นจะทำให้การกำกับดูแลครูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และขอยืนยันว่าครูในประเทศมีเพียงพอ ไม่ได้ขาดแคลน แต่บางสถาบันการศึกษาที่ไปจ้างคนที่ไม่ตรงวุฒิครูมาสอน หรือให้พี่เลี้ยงมาสอน เพราะต้นทุนไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกมว. ได้ลงมติเราจะพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย ซึ่งเดิมมีมาตรฐานเรื่องนี้อยู่แล้วแต่จะมีการออกมาตรฐานเพิ่ม และมาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาพิเศษ
“การประกอบธุรกิจทางการศึกษา หลายคนอาจบอกว่าไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่ถ้าใครที่มุ่งหวังผลกำไรเพื่อความอยู่รอด แต่ก็ขอให้คำนึงถึงคุณภาพที่จะยื่นให้แก่ผู้ปกครองด้วย นั่นคือ ถ้าท่าน เก็บค่าเล่าเรียนสูง และสูงเกินกว่าปกติ ก็ควรจะมีจิตสำนึกความรับผิดชอบถึงคุณภาพที่ท่านจะให้กับผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนร่วมด้วย” นายเอกชัย กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จะมาเป็นครู แล้วไม่มีใบอนุยาตประกอบวิชาชีพครู ที่ออกโดยครุสภา มีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน3ปี ปรับไม่เกิน60,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ