สจล. เปิดโครงการ รพ.วิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ ลดการพึ่งพิงต่างชาติ
สจล. เปิดแผนการจัดตั้ง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร วิจัยเครื่องมือแพทย์ บูรณาการองค์ความรู้ เพิ่มโอกาสเข้าถึง ลดการพึ่งพิงต่างชาติ
วันนี้ (5 ตุลาคม) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แถลงข่าวเปิดแผนการจัดตั้ง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” ภายใต้แนวคิด “ให้เพื่อสร้าง” โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร เพื่อเป็นศูนย์วิจัยเครื่องมือทางการแพทย์ สร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ สร้างศูนย์รวมนวัตกรรม และสร้างองค์ความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์ ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้หลากสาขา เพื่อผู้สูงอายุ คนพิการ รองรับวิกฤตสุขภาพ โรคระบาด หลังพบข้อจำกัดด้านการขาดโอกาสเข้าถึง ขาดแคลนนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงการลดการพึ่งพิงต่างชาติ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะ ประธานมูลนิธิ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร เปิดเผยว่า จากวิกฤตด้านสุขภาพของไทย สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านสาธารณสุขในหลากมิติ ทั้งโอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การขาดแคลนนวัตกรรมทางการแพทย์ประสิทธิภาพสูงของคนไทย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา สจล. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือวิกฤตดังกล่าว ด้วยการพัฒนานวัตกรรม ภายใต้โครงการ “KMITL 60 FIGHT COVID-19” อาทิ ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) แบบความดันบวก (Positive Pressure) และ ต้นแบบเครื่องช่วยหายใจ (KMITL Mini Emergency Ventilator) ส่งมอบให้กับหน่วยงานรัฐและโรงพยาบาลทั่วประเทศ
ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงสนับสนุนรัฐบาลลดการนำเข้าเทคโนโลยีมูลค่าสูง สจล. จึงเดินหน้าดำเนินโครงการจัดตั้ง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” (KMC Hospital : King Mongkut Chaokhun Thahan Hospital) โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรครั้งแรกของประเทศไทย และอาเซียน
การดำเนินการจัดสร้าง โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ภายใต้การกำกับดูแลของ สจล. จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดความช่วยเหลือและสนับสนุนจากคนไทยทุกคน ร่วมเป็นเจ้าของในโรงพยาบาลแห่งนี้ ผ่านการสนับสนุนต่าง ๆ สร้างอนาคตที่ดีเพื่อสุขภาพ ทั้งตัวเราเอง คนในครอบครัว คนที่เรารัก ญาติสนิทมิตรสหายรวมถึงเพื่อนมนุษย์ของเราทุกคน จึงขอเชิญชวนคนไทยได้ร่วมกัน “ให้เพื่อสร้าง” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” ด้วยการบริจาคผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร
พร้อมกันนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษเพื่อสนับสนุนงบประมาณจัดสร้าง อาทิ กิจกรรมประมูลภาพเขียน 46 ผลงานและงานสร้างสรรค์ จากศิลปินแห่งชาติและบุคคลที่มีชื่อเสียงกว่า 40 ศิลปิน อาทิ ศ.เกียรติคุณ อิทธิพล ตั้งโฉลก อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ศ.เกียรติคุณ วิโชค มุกดามณี ศ.เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ศ.เดชา วราชุน คุณชาติชาย ปุยเปีย คุณธงชัย ศรีสุขประเสริฐ และศิลปินกิตติมศักดิ์ คุณชัย ราชวัตร รวมถึงกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม วิทยาลัยวิจัยนวัตกรรมทางการศึกษา สจล. มอบเงิน 1 ล้านบาทสมทบทุน ทั้งยังมีการนำรายได้จากการจัดจำหน่ายหนังสือ “คิดต่าง สร้างการเปลี่ยนแปลง” ที่ทั้งผู้อ่านจะได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง ขยายผลไปสู่การพัฒนาคุณภาพสังคม ยังมีส่วนร่วมในการสร้างโรงพยาบาลนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน...เพราะคนไทย ถ้าจะทำก็ทำได้” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดี ฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” จะเป็นพื้นที่ที่มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัย โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาล เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดการนำเข้าเทคโนโลยี/เครื่องมือแพทย์มูลค่ามหาศาล สร้างศูนย์รวมนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส และสร้างองค์ความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน โรคระบาดด้วยการบูรณาการองค์ความรู้หลากหลายศาสตร์ ทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง และ วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยจากคณะต่าง ๆ เพื่อยกระดับสุขภาพคนไทยและมวลมนุษยชาติในอนาคต นอกจากนี้ การออกแบบจะช่วยสร้างความผ่อนคลายแก่ผู้เข้ารับการรักษาในทุกมิติ ด้วยการผสมผสานพื้นที่สีเขียว และเลือกใช้พลังงานสีเขียว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา โรงพยาบาลภาครัฐ ได้นำเข้านวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ จากต่างประเทศจำนวนมาก โดยคิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาทต่อปี ด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. เทคโนโลยี/นวัตกรรมจากต่างประเทศ ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์แบบสากล และ 2. ขาดแคลนหน่วยงานเฉพาะทาง ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมมาตรฐาน การผลิตเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นโรงพยาบาลดังกล่าวจะสามารถผสานองค์ความรู้ สู่การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้นักวิจัยทุกหน่วยงาน ที่มีแนวคิดหรือต้นแบบนวัตกรรมทางการแพทย์ต้นแบบ มาร่วมทดสอบประสิทธิภาพและขอรับคำปรึกษา เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเสริมว่า ในระยะแรกของโรงพยาบาลนวัตกรรมทางการแพทย์ สจล. เตรียมพัฒนา “นวัตกรรมทางการแพทย์รับยุคดิจิทัล” (Digital Health Care) นวัตกรรมทางการแพทย์ความเสี่ยงต่ำ หนุนผู้ป่วยใช้งานจากที่บ้าน ได้รับการรักษาแพทย์ทางไกล (Telehealth) ในยุคดิจิทัล ภายใต้การขมวดรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และอื่น ๆ ร่วมกับเทคโนโลยีเอไอ (AI) ไอโอที (IoT) ไอโอเอ็มที (IoMT: Internet of Medical Things) และระบบคลาวด์ (Cloud) ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์/นวัตกรรมทางการแพทย์ พร้อมแสดงผลแบบเรียลไทม์ ผ่านแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมประสิทธิภาพสูงจากที่บ้านได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่เสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำและใช้ภายนอกร่างกาย ลดการสูญเสียเวลา/ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยและครอบครัว อันนำไปสู่การลดความแออัดของผู้คนบริเวณโรงพยาบาล
"โดยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เตรียมพัฒนาในอนาคต ภายใต้แนวคิด Telehealth ประกอบด้วย เอไอวินิจฉัยโรคปอด โปรแกรมวินิจฉัยโรคปอดจากภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ (X-Ray) ได้แก่ ภาวะปอดรั่ว และภาวะปอดบวม พร้อมแสดงความเสี่ยงของการเกิดโรคในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ และ เครื่องฟอกอากาศในห้องทันตกรรม นวัตกรรมฟอกเชื้อโรคในอากาศจากละอองน้ำลายผู้ป่วย ที่อาจจะฟุ้งกระจายขณะกรอฟัน ลดโอกาสติดเชื้อสู่ทันตแพทย์ผู้รักษา และคืนอากาศบริสุทธิ์ภายในห้องทันตกรรม" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สจล. กล่าว