เสรี ศุภราทิตย์ เตือน : ‘น้ำท่วมใหญ่’กำลังมา
ทุกรอบ 10 ปี"น้ำท่วมใหญ่"จะเวียนกลับมาอีกครั้ง นอกจากพายุลูกที่ 1 ยังมีพายุลูกที่ 2 'นังกา' และจะตามด้วยพายุลูกที่ 3 'โซเดล' แต่ระบบการเตือนภัยน้ำท่วมแบบเจาะจงพื้นที่ยังมีน้อยมาก
หลังจากพายุลูกที่ 1 ระดับ 2 (ดีเปรสชัน) “หลิ่นฟา” จากทะเลจีนตอนกลาง เคลื่อนผ่านเวียดนามเข้าไทย ทางตะวันออกและอีสานตอนล่าง และลดระดับอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 1 เข้ามาไทยในวันที่ 12-14 ตุลาคม 2563
จากนั้น ‘นังกา’ พายุลูกที่ 2 ที่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ตอนบน จะเคลื่อนตัวผ่านประเทศเวียดนาม มาสู่อีสานตอนบน ในวันที่ 14-15 ตุลาคม 2563
ตามด้วยพายุลูกที่ 3 โซเดล (Saudel ) คาดว่าจะแรงที่สุด เคลื่อนตัวมาทางตะวันตก ผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม เคลื่อนมาทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตั้งแต่ 16-19 ตุลาคม2563 จะเข้ามาถล่มทั้งอีสาน ภาคตะวันออก อ่าวไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน
พายุทั้ง 3 ลูก จะทำให้หลายพื้นที่น้ำท่วมมากน้อยตามเหตุปัจจัย โดยพายุลูกที่ 3 อาจทำให้น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคาดว่า จะทำให้หลายพื้นที่น้ำท่วมมากกว่าที่ผ่านมาในช่วงหลายปี และไม่ได้จบแค่นั้น หลังจากวันที่ 20 ตุลาคม ยังต้องเฝ้าระวังไปถึงกลางเดือนพฤศจิกายน จะมีพายุและฝนตกหนักในภาคใต้
ปีเปียก น้ำจะท่วมเยอะ
“ปีนี้เป็นปีเปียก น้ำจะท่วมเยอะ คล้ายๆ น้ำท่วมใหญ่ปีพ.ศ. 2553-54 ต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ ปี 2554 ตอนนั้นเจอปรากฎการณ์ลานีญา แม้จะลดแรงลง แต่เด้งกลับมาอีก เราไม่รู้ว่าปีนี้จะเป็นแบบนั้นไหม และในอนาคต ช่วง 2-3 ปีจะเกิดปรากฎการณ์ภัยแล้ง และทุก 10 ปีจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ และนี่ก็ครบรอบ 10 ปีถ้านับจากปี 2553” รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าว และย้ำว่า
“ปีนี้น้ำท่วมใหญ่ภาคกลางคงไม่เกิด ค่อนปีที่ผ่านมาฝนที่ตกลงมาจนถึงเดือนกรกฎาคมมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณไม่เยอะ แม้ฝนจะตกหนักมีน้ำท่วมขัง แต่ท่วมแบบน้ำไม่เยอะ ส่วนภาคตะวันออก ภาคใต้และอีสาน ประมาทไม่ได้เลย มีความเสี่ยงในหลายพื้นที่ มาเร็วไปเร็วไม่เหมือนภาคกลาง ”
สิ่งสำคัญที่อาจารย์เสรี พยายามเตือนตลอด คือ การพยากรณ์แบบเจาะจงพื้นที่ ไม่ใช่แค่รายงานว่า น้ำจะท่วมภาคอีสานหรือภาคตะวันออก
“ถ้าจะทำให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าจริงๆ ต้องประเมินล่วงหน้า 3 วัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและทำได้ ถ้าประเมินล่วงหน้าหนึ่งสัปดาห์หรือ 10 วัน ประชาชนจะไม่ค่อยระวัง เวลาเกิดน้ำป่าไหลหลาก ควรบอกระยะใกล้ๆ ล่วงหน้า 3 วัน(ย้ำ) เพื่อประชาชนจะได้เตรียมตัว
ถ้าบอกรวมๆ ว่า จังหวัดเพชรบุรีต้องระวังน้ำท่วม ประชาชนจะไม่ค่อยตระหนักรู้ ไม่เตรียมตัว อย่างน้ำท่วมที่จังหวัดเลย เจอฝนหนักๆ สองตำบล เราต้องเจาะจงพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ต่างประเทศก็ทำแบบนี้ หรือกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า จะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่นั้นพื้นที่นี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำจะท่วม ถ้าฝนตกหนักในพื้นที่ดอน น้ำก็ไม่ท่วม
เรื่องพยากรณ์แบบเจาะจงพื้นที่ ควรเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานในจังหวัดต่างๆ แต่องค์ความรู้ของคนในหน่วยงานเหล่านั้นยังไปไม่ถึง ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมน้ำ จริงๆ แล้วชลประทานจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ทำได้ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดส่วนใหญ่จบมาทางด้านรัฐศาสตร์ แนวคิดนี้จึงไม่เกิดขึ้น"
ต้องรีบแก้ปัญหาในอนาคต
การประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ มีความแตกต่างกัน บางพื้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ บางพื้นที่เป็นแหล่งโบราณสถาน และหลายพื้นที่เป็นแหล่งชุมชน
“ยกตัวอย่างพื้นที่แถว อ.ปากช่อง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นเมืองเศรษฐกิจ และชุมชน ตัวเมืองเพชรบุรีในพื้นที่ ที่มีคนอาศัยหนาแน่นก็ต้องระวัง ต้องมีมาตรการป้องกัน เมื่อน้ำท่วมแล้วจะใช้มาตรการเบี่ยงน้ำ หรือ ทำแก้มลิงก่อนน้ำไหลเข้า หรือจะสร้างกำแพง ก็ต้องตัดสินใจให้ดี ”
ที่ผ่านมา การบริหารจัดการน้ำ พยายามบูรณาการหน่วยงาน แต่เป็นลักษณะเอาโครงการแต่ละหน่วยงานมารวมกัน ทำให้แต่ละหน่วยไม่ได้วิเคราะห์ว่า ถ้าหน่วยงานนี้ทำเรื่องนี้ แล้วมีผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ อย่างไร
เรื่องนี้ อาจารย์เสรี ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการแบบแข็ง อย่างการสร้างกำแพง ถ้าเกิดปัญหาก็ต้องทุบอย่างเดียว ดังนั้นควรใช้มาตรการอ่อน เช่น ถ้าน้ำท่วมเยอะ ต้องพยายามหาพื้นที่รับน้ำให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
"รัฐบาลที่เข้ามาบริหารทุกยุค ก็ต้องการบริหารแบบเห็นผลทันที บริหารแบบนั้นใช้งบประมาณเยอะ อย่างการยกถนนเป็นบล็อคๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ น้ำไม่ท่วมพื้นที่นี้ ก็ไปท่วมอีกพื้นที่ อย่างโครงการคลองระบายน้ำหลาก'บางบาล-บางไทร' ไม่มีหน่วยงานไหนประเมินว่า เมื่อทำไปแล้ว แม้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาน้ำจะท่วมน้อยลง ก็ไม่ได้คิดว่า พื้นที่จังหวัดไหนจะรับน้ำไป...ปทุมธานี หรือกรุงเทพฯ น้ำก็จะกลับอยู่ตรงนี้เยอะ
อีกเรื่องที่อยากให้รัฐบาลพยายามทำคือ มองไปข้างหน้ามากขึ้น ในอนาคตกรุงเทพฯจะจมน้ำ รัฐได้หามาตรการไว้หรือยัง ...เหตุการณ์น้ำท่วมในวันนี้ มาจากสิ่งที่ทำไว้เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว จึงกลับมาที่จุดเดิม คือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า "
(เตรียมตัวไว้ น้ำกำลังจะมา)
-วันที่ 15 -20 ตุลาคม 2563 ภาคตะวันออก พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง คือจังหวัดตราด จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดจันทบุรี ฯลฯ
-วันที่ 18-19 ตุลาคม 2563 จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง คือ อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง บริเวณจุดตัดถนนเพชรเกษม ใกล้ๆ บิ๊กซี ฯลฯ
-วันที่ 16-20 ตุลาคม 2563 จังหวัดประจวบฯ ,ระนอง, พังงา, อ.ปากช่อง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ฝนจะตกเยอะ ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง ไม่ว่าฝนจะตกเหนือเขื่อนหรือใต้เขื่อน ก็มีความเสี่ยง (พายุลูกใหม่เข้าเวียดนามวันที่ 17 ตุลาคม จะมีความแรงมากในวันที่ 18-19 ตุลาคม )
-ปลายเดือนตุลาคม-กลางเดือนพฤศจิกายน จะมีพายุและฝนตกหนักทางภาคใต้
"""""""""""""""
ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ค : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์